หอการค้าเชียงใหม่หนุนไฮสปีดเทรน ระบุยิ่งล่าช้า ต้นทุนยิ่งสูง แต่ทำแล้วคุ้มค่า

วันที่ 3 มิถุนายน 2559 นายเฉลิมชาติ นครังกุล ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวกรณีกระทรวงคมนาคม เผยผลการศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือระบบรางไทย-ญี่ปุ่น ที่มีมูลค่าโครงการ 5.3 แสนล้านบาท จากเดิมที่ไทยเคยศึกษาไว้ 4.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 9 หมื่นล้านบาท โดยระบุว่า ไม่คุ้มค่าการลงทุน หรือด้านการเงิน ว่า เห็นด้วยและสนับสนุนโครงการดังกล่าว แม้ว่าการลงทุนจะเพิ่มขึ้นเกือบแสนล้านบาท แต่คุ้มค่าลงทุน ถ้าปล่อยเวลาผ่านไป มูลค่าลงทุนสูงขึ้น ยิ่งทำให้โครงการดังกล่าวล่าช้าไปอีก
“ไม่อยากให้รัฐบาลล้มเลิกโครงการ เพราะต้นทุนสูง อยากให้ปรับโครงการเป็นรถไฟความเร็วสูงปานกลาง 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทาง 3-4 ชั่วโมงไม่จำเป็นต้องเป็นรถไฟความเร็วสูง 300-400 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อลดต้นทุนและเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ หรือฐานะการเงินประเทศ อาจลงทุน 200,000 ถึง 300,000 ล้านบาท ก็น่าเพียงพอแล้ว หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น เชื่อว่าภาคเหนือตอนบน  มีการค้า ลงทุน ท่องเที่ยว ขยายตัว 2-3 เท่าตัว โดยเฉพาะเชียงใหม่ ที่มีนักท่องเที่ยวปีละ 8 ล้านคน รายได้ 90,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว” นายเฉลิมชาติกล่าว
นายเฉลิมชาติกล่าวอีกว่า ขณะนี้มีนักลงทุนทั่วโลก อาทิ อเมริกา ยุโรป จีน แห่มาลงทุนในภาคเหนือตอนบน เพราะเปิดประชาคมอาเซียน หรือเออีซีแล้ว โดยเฉพาะญี่ปุ่น วางแผนเปิดโรงเรียนระดับประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย ที่เชียงใหม่ เพื่อรองรับชาวญี่ปุ่นที่มาอาศัยอยู่ในภาคเหนือตอนบนมากขึ้น ล่าสุดมีชาวญี่ปุ่นที่มาอาศัยกว่า 10,000 คนแล้ว ดังนั้นโครงการรถไฟความเร็วสูง จึงเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนญี่ปุ่น เพื่อเปิดตลาดสู่เออีซี และแข่งขันกับจีน ที่ไม่ประสบผลสำเร็จโครงการรถไฟความเร็วสูง จากจีน ผ่านลาว สู่ไทย ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)
“การเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง จึงเป็นทางเลือกหนึ่ง เพื่อลดการเดินทางโดยเครื่องบิน หรือโลว์คอสต์ ซึ่งมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีผู้โดยสารปีละ 7-8 ล้านคน แต่รองรับได้ถึง 15 ล้านคน ภายใน 10 ปีเท่านั้น หากไม่ลงทุนรถไฟความเร็วสูง จำเป็นต้องสร้างสนามบินแห่งที่ 2 รองรับแทน ซึ่งมูลค่าลงทุนใกล้เคียงกับรถไฟความเร็วปานกลาง จึงเป็นโจทย์ให้รัฐบาลคิดวางแผนและตัดสินใจ เพื่อรองรับการเติบโตเชียงใหม่ และภาคเหนือตอนบน อีก 20 ปีข้างหน้า” นายเฉลิมชาติกล่าว
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image