สมเด็จพระเทพฯ ทรงนำกล้องส่วนพระองค์บันทึกภาพ “สุริยุปราคาเต็มดวง”

วันที่ 9 มีนาคม 2559 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ณ วังสุลต่านเตอร์นาเต เมืองเตอร์นาเต สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) ศ.กิตติชัย วัฒนานิกร ประธานคณะกรรมการบริหาร สดร. รศ. บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสดร. และ นายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร. นำทีม สดร. ตั้งกล้องโทรทรรศน์และอุปกรณ์ทั้งการสังเกตการณ์ทางตรงและการสังเกตการณ์ทางอ้อมถวายทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้นำกล้องถ่ายภาพส่วนพระองค์มาใช้บันทึกภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้ด้วย

08

รศ.บุญรักษา กล่าวว่า สุริยุปราคาเต็มดวง ในวันที่ 9 มีนาคม 2559 เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 52/73 ในชุดซารอสที่ 130 แม้ว่าแนวคราสเต็มดวงส่วนใหญ่จะพาดผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ในช่วงต้นของคราส เงามืดของดวงจันทร์จะเคลื่อนที่ผ่านแผ่นดินที่เป็นเกาะใหญ่ๆ ของประเทศอินโดนีเซียหลายเกาะด้วยกัน อาทิ เกาะสุมาตรา กาลิมันตัน สุลาเวสี และหมู่เกาะโมลุกกะ การเกิดคราสครั้งนี้ ดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังนานที่สุดถึงกว่า 4 นาที แม้ว่าจุดที่เกิดคราสเต็มดวงนานที่สุดนี้จะอยู่ในมหาสมุทร แต่ในช่วงต้นของปรากฏการณ์การเกิดคราสที่พาดผ่านแผ่นดินบริเวณหมู่เกาะโมลุกกะและสุลาเวสี จะนานถึงกว่า 3 นาที เงามืดของดวงจันทร์จะข้ามผ่านเส้นศูนย์สูตรในบริเวณทะเลโมลุกกะ (Molucca Sea) และผ่านเกาะ น้อยใหญ่หลายเกาะในเมืองใหญ่สุดในบริเวณนี้ได้แก่ เตอร์นาเต (Ternate) แม้เมืองเตอร์นาเตจะอยู่ห่างจากแนวกึ่งกลางคราสไปทางเหนือประมาณ 44 กิโลเมตร แต่เวลาที่คราสเต็มดวงยังกินเวลานานถึง 2 นาที 41 วินาที รวมถึงบริเวณดังกล่าว ดวงอาทิตย์อยู่สูงจากขอบฟ้าประมาณ 40-50 องศา

รศ.บุญรักษา กล่าวว่า ลำดับการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ในวันที่ 9 มีนาคม 2559 ตามเวลาท้องถิ่น ณ เมืองเตอร์นาเต สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เริ่มต้นคราสบางส่วน เมื่อขอบดวงจันทร์แตะขอบดวงอาทิตย์ในเวลาประมาณ 08:36 น. เข้าสู่ช่วงคราสเต็มดวง เมื่อดวงจันทร์เริ่มบดบังดวงอาทิตย์ทั้งดวง ในเวลาประมาณ 09:51 น. และเข้าสู่ช่วงกลางคราส ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์มากที่สุดเวลาประมาณ 09:53 น. จากนั้นสิ้นสุดช่วงคราสเต็มดวง ดวงจันทร์เริ่มเคลื่อนออกจากดวงอาทิตย์ เมื่อเวลาประมาณ 09.54 น. และสิ้นสุดคราสบางส่วน เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนออกจากดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง ในเวลาประมาณ 11.20 น. เป็นสัมผัสสุดท้ายและสิ้นสุดปรากฏการณ์สุริยุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์ สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 21 สิงหาคม 2560 แนวคราสเต็มดวงพาดผ่านประเทศสหรัฐอเมริกา

Advertisement

สำหรับบรรยากาศการชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาในประเทศไทยนั้น เวลา 05.30 น.วันที่ 9 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการรอชม ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในประเทศไทย ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 6.20 น. และสิ้นสุดประมาณ 8.20 น. พบว่า ประชนทั่วประเทศให้ความสนใจกันมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบเฉลิมพระชนม พรรษาฉะเชิงเทรา ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา นักเรียนกว่า 500 คน ได้พากันมา กางเต็นท์รอ และตั้งกล้องโทรทรรศน์กว่า 10 ตัวตั้งแต่คืนวันที่ 8 มีนาคม โดยในช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 05.00 น.นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิตย์ ปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และนายชูชาติ แพน้อย รักษาการผู้อำนวยการ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบเฉลิมพระชนม พรรษา ฉะเชิงเทรา และเจ้าหน้าที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ คอยเป็นวิทยากร เริ่มสังเกตดาวเคราะห์ เช่น ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัส รวมทั้งสังเกตการณ์วงแหวนของดาวเสาร์ ผ่านกล้องโทรทรรศ และอุปกรณ์ดูดาว เช่น กล้องรูเข็ม ก่อนชมปรากฏการณ์สุริยุปราคา ซึ่งพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทราจะเริ่มเวลาประมาณ 6.37 น. ทั้งนี้มีนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) มาร่วม ลงทะเบียน เพื่อรอชมปรากฏการณ์นี้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 06.28 น. ดวงอาทิตย์เริ่มขึ้น แต่พบอุปสรรมีเมฆหมอกและขอบฟ้าหลัว แต่ยังสามารถเห็นดวงอาทิตย์ได้ ท่ามกลางเสียงฮือฮา และเฝ้าชมของประชาชน จนกระทั่ง เวลา06.30 พบดวงอาทิตย์เริ่มถูกบังสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า พบผู้ชมส่งเสียงฮือฮาการเริ่มเข้าคราส หลายๆคนได้บันทึภาพผ่ากล้องมือถือที่ติดตัวเป็นที่ระลึกอย่างคึกคัก จนเวลาล่วงเลยไปประมาณ 07.00 น. นายวรวิทย์ได้เตือนให้ประชาชนห้ามมองด้วยตาเปล่าเนื่องจากแสงแดดเริ่มแรง ให้ชมผ่านกล้องโทรทรรศน์ ที่เตรียมไว้ หรือชมผ่านอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด อาทิกล้องรู้เข็ม เท่านั้น จนกระทั่งถึงเวลา 07.30 พบดวงอาทิตย์ถูกบังเว้าแหว่งไปมากกว่า 42 % พบว่า นักเรียนและประชาชนยังเฝ้าติดตามไม่ถอย

Advertisement

นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า ดีใจมากที่ ประชาชนตื่นตัวในการชมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติครั้งนี้สูง เพราะ เป็นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จะนำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชนมีเหตุผล อนาคตเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

8
นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาร่วมชม

 

IMG_2674
บรรยากาศที่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ7รอบเฉลิมพระชนม พรรษาฉะเชิงเทรา

สำหรับที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ จ.นครราชสีมานั้น มีนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป มาเฝ้ารอดูปรากฏการณ์ประมาณ 1,000 คน โดยเริ่มทะยอยกันมา ตั้งแต่เช้ามืด 05.30 น.เช่นเดียวกัน โดยบริเวณนี้ ปรากฏการณ์จะเริ่มในเวลา 06.41 น. ช่วงที่ดวงอาทิตย์เกิดเงามืดมากที่สุดเวลา 07.35 น.

โคราช

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ จ.นครราชสีมานั้น

ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ นั้น เจ้าหน้าที่ของสถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) เริ่มเข้ามาเตรียมความพร้อม บริเวณดาดฟ้าศูนย์การค้าเซนทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 04.00 น. โดย นส.ศิรามาศ โกมลจินดา อ.ประจำภาควิขาฟิสิกส์ และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ท้องฟ้าใส แต่มีหมอกควันเล็กน้อย ช่วงแรกอาจมองไม่เห็นประมาณ 15 นาที ก่อนที่จะเห็นชัดเจน ซึ่งเชียงใหม่จะเห็นประมาณ 27%

ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ในช่วงแรกที่เด็กเยาวชนและผู้ปกครองเห็นดวงจันทร์เริ่มเข้าบดบังดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ต่างรีบใช้แว่นตาดูดวงอาทิตย์ ซึ่งปลอดภัยจากรังสียูวีและรังสีอินฟราเรด ด้วยความตื่นเต้น ในขณะที่ผู้ใหญ่ซึ่งตั้งกล้องไว้ต่างพากันกดรัวชัตเตอร์เพื่อบันทึกภาพผ่านแผ่นกรองแสงที่ทำจากฟิมเอกซเรย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ สดร.เชียงใหม่ นำมาเตรียมไว้ให้เพื่อการดูปรากฎการณ์บนท้องฟ้าด้วยความปลอดภัย

น่องภูและน้องไนซ์ น้องเยาวชนเชียงใหม่ กล่าวว่า ดีใจมากที่ได้ชมความสวยงามแปลกตาของท้องฟ้ายามเช้า และโดยเฉพาะปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่ไม่ได้เกิดบ่อยๆ แม้ว่าจะต้องตื่นเช้ามาก เพราะการจะเกิดในครั้งหน้ายังไม่รู้ว่าจะได้ชมหรือเปล่า เนื่องจากอีกตั้ง 54 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศของการชมปรากฎการณ์สุริยุปราคา บนลานจอดรถดาดฟ้าศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟติวัล เชียงใหม่ ค่อนข้างคึกคัก โดยเฉพาะ มีเด็กเยาวชน สนใจเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง ซึ่งทีม สดร.เชียงใหม่ จัดแสดงภาพถ่ายปรากฎการณ์บนท้องฟ้าให้ได้ชม กิจกรรมเล่นเกมตอบคำถามชิงเสื้อ หมวก และของที่ระลึกเกี่ยวกับดาราศาสตร์ ระหว่างรอดวงจันทร์เข้าบดบังดวงอาทิตย์ด้วย

เชียงใหม่

บริเวณดาดฟ้าศูนย์การค้าเซนทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่


ที่ จ.สงขลานั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มี ตัวแทนนักเรียนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมถึงนักเรียนและประชาชนทั่วไป ให้ความสนใจเดินทางมายังลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา อ.เมือง จ.สงขลา เพื่อติดตามชมปรากฏการณ์สุริยุปราคา ที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าวันนี้ตั้งแต่เวลา 06.28 น.ไปจนถึง 08.30 น.โดยประมาณ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ สดร.ได้ตั้งโต๊ะลงทะเบียนเพื่อรับเอกสารให้ความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์สุริยุปราคา พร้อมแว่นตาดูดวงอาทิตย์ สำหรับใช้ชมปรากฏการณ์สุริยุปราคา มีผู้สนใจเข้าร่วมชม ตั้งแต่เช้ามืด เจ้าหน้าที่ได้ติดตั้งกล้องดูดาวจำนวน 20 ตัว ทั้ง ของ สดร. มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และหน่วยงานอื่น ๆ พร้อมมีการติดตั้งจอคอมพิวเตอร์ที่ถ่ายทอดปรากฏการณ์ให้ชมผ่านหน้าจอ อย่างชัดเจนและเป็นการพักสายตา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพื้นที่ จ.สงขลานั้น ดวงอาทิตย์ได้โผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำในทะเล ณ.หาดสมิหลา เวลา 06.27 น. และในเวลา 06.28 น.ก็เริ่มเข้าคราส ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาจากผู้ร่วมชมอย่างมาก โดยส่วนใหญ่จะมีการถ่ายภาพเป็นที่ระลึก และไปนั่งชมปรากฏการณ์ริมชายหาดผ่านแว่นตาดูดวงอาทิตย์ โดยนายเฉลิมชนม์ วรรณทอง อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา อธิบายว่า ปรากฏการณ์สุริยุปราคาในครั้งนี้นั้นเป็นการมองเห็น สุริยคราสบางส่วน โดยบริเวณหาดสมิหลา ถือเป็นจุดแรกของประเทศที่ได้มองเห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอันดับแรกของประเทศและมองเห็นคราสมากที่สุดร้อยละ 64 ในเวลา 07.26 น.เป็นช่วงที่สามารถชมปรากฏการณ์นี้ ที่เข้าคราสมาที่สุด ร้อยละ 64 โดยมีอุปสรรคเป็นเมฆที่มาบดบังปรากฏการณ์เป็นระยะ

สงขลา333

บริเวณ ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา อ.เมือง จ.สงขลา

ส่วนที่บริเวณ สวนเบญจกิติ ถนนรัชดาภิเษก ติดกับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ กรุงเทพมหานคร นั้น สดร.ได้เตรียมความพร้อมติดตั้งกล้องตั้งเมื่อคืนวันที่ 8 มีนาคม โดยมีการนำกล้องโทรทรรศน์และอุปกรณ์สังเกตการณ์คุณภาพสูง พร้อมผู้เชี่ยวชาญจาก สดร.คอยให้ความรู้เกี่ยวกับสุริยุปราคา ทั้งนี้กิจกรรมเริ่มตั้งแต่เวลา 06.00-10.00 น. ให้ประชาชนเข้าร่วมฟรี บรรยากาศเป็นไปด่วยความคึกคัก มีประชาชนที่เข้ามาออกกำลังกายภายในสวนเบญจกิติให้ความสนใจกับการร่วมเฝ้ารอปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ โดยเวลาประมาณ 06.49 น. พระอาทิตย์เริ่มขึ้นขอบฟ้า ประชาชนต่างนำแว่นตาที่ได้รับแจกจากเจ้าหน้าที่ สดร. และส่องกล้องโทรทรรศน์เพื่อดูปรากฎการณ์ แต่ปรากฎว่ามีเมฆบางส่วนบดบังเป็นเวลา 20 นาที จนกระทั่งเวลา 07.20 น. เมฆเริ่มเคลื่อนตัวออกไป ให้ทุกคนสามารถมองเห็นปรากฏการณ์นี้ได้

นายรัฐภูมิ ปาการเสรี ประชาชนในย่านสีลม ที่มาพร้อมบุตรชายคือน้องซีด้า กล่าวว่า ลูกชายตื่นเต้นกับการเกิดสุริยุปราคาในครั้งนี้มาก เนื่องจากเคยเรียนแต่ในชั้นเรียน ยังไม่เคยเจอของจริงมาก่อน ในตอนแรกจะรอดูที่บ้าน แต่ลูกชายตื่นเต้นมาก จึงตั้งใจจะพามาร่วมกิจกรรมและรอชมที่นี่ ซึ่งมีอุปกรณ์ครบถ้วน

นายอุเทน แสวงวิทย์ นักวิจัยสดร. กล่าวว่า ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเหนือฟ้าเมืองไทยวันที่ 9 มีนาคม 2559 นี้ เป็นการเกิดแบบบางส่วน โดยแต่ละพื้นที่จะมองเห็นคราสการบังไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับระยะทางที่อยู่ห่างจากแนวคราสเต็มดวง โดยประเทศไทยจะเห็นได้ตั้งแต่เวลา 06.51-08.31 น. ซึ่งพื้นที่ที่ดวงอาทิตย์ถูกบังมากที่สุดอยู่บริเวณภาคใต้ที่อำเภอเบตง จ.ยะลา ประมาณร้อยละ 69 ส่วนทางภาคเหนือที่จังหวัดเชียงราย ดวงอาทิตย์ถูกบังเพียงร้อยละ 23 ขณะที่ในกรุงเทพฯ ดวงอาทิตย์ถูกบังร้อยละ 41 โดยช่วงเช้าที่กรุงเทพฯมีเมฆเป็นบางส่วน แต่ยังสามารถมองเห็นได้ ซึ่งในภาพรวมทุกจุดในประเทศเกิดการคราสค่อนข้างแม่นยำตามที่คาดการณ์ไว้

IMG_1652

บริเวณ สวนเบญจกิติ ถนนรัชดาภิเษก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image