‘บ่อน็อกดาวน์’ นวัตกรรมใช้น้ำยามแล้ง ในแปลงมันสำปะหลัง

“น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญในการทำอาชีพเกษตรให้ประสบความสำเร็จ มีผลผลิตที่ดี คุ้มค่ากับเงินทุน แรงงานและเวลาที่เสียไป แต่เห็นทีว่าปีนี้ “ความแห้งแล้ง” จะรุนแรงกว่าทุกครั้ง หลายพื้นที่แม้อยู่ในเขตชลประทาน ก็ทำการเกษตรไม่ได้ โดยเฉพาะนาปรังที่ต้องใช้น้ำปริมาณมาก รวมถึงการเพราะปลูกต่างๆ ก็เสี่ยงกับความเสียหายจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น

ด้วยเหตุนี้ จังหวัดกาญจนบุรีจึงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พัฒนาระบบกักเก็บน้ำพร้อมวิธีการนำไปใช้ ที่เรียกว่า “บ่อน็อกดาวน์” และ “ระบบน้ำหยด” นำร่อง ใช้ในแปลงมันสำปะหลังแปลงใหญ่ ของเกษตรกรในพื้นที่ตำบลหนองไผ่ อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งนอกจากช่วยลดความเสียหายจากภัยแล้งแล้ว ระบบการให้น้ำที่พัฒนาขึ้นมานี้ ยังช่วยเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังได้มากขึ้นจากเดิมกว่า 3 เท่าเลยทีเดียว

12837272_1512607545423161_1994897460_o

นายศักดิ์ สมบุญโต ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ให้ข้อมูลว่า โดยปกติแล้วมันสำปะหลังใช้เวลาปลูกประมาณ 12 เดือน ถึงจะทำให้ได้มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูงและหัวมันมีขนาดใหญ่พอที่จำหน่ายได้ กล่าวคือ ปลูกได้ปีละครั้ง เกษตรกรจึงต้องวางแผนการปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงที่ราคาดีที่สุด นั่นก็คือประมาณเดือนธันวาคม-มกราคม ซึ่งราคามันสำปะหลังอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.8-2 บาท ขณะที่ช่วงอื่นราคาอยู่ที่ 1.2-1.3 บาทเท่านั้น

Advertisement

“เกษตรกรเริ่มปลูกมันสำปะหลังตั้งแต่ธันวาคม-มกราคม เพื่อจะได้ทันขายในช่วงเดียวกันของปีถัดไป แต่การปลูกช่วงนี้ ต้องข้ามฤดูแล้ง ทำให้ที่ผ่านผลผลิตต่อไรไม่มากนัก เฉลี่ยเพียง 3-4 ตัน/ไร่ และปีนี้แล้งเร็วกว่าทุกปี ยิ่งเสี่ยงที่ผลผลิตจะเสียหายและไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร”

จึงได้ร่วมกับหน่วยงานเกษตรในพื้นที่พัฒนาวิธีการกักเก็บน้ำ พร้อมระบบการให้น้ำในแปลงปลูกและรูปแบบการบริหารจัดการทั้งกระบวนการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงในปีนี้ ไปให้ได้ โดยชุดอุปกรณ์ดังกล่าวประกอบด้วย บ่อกักเก็บน้ำที่เคลื่อนย้ายไปในแปลงปลูกของเกษตรกรได้ ซึ่งทำให้เกษตรกรใช้น้ำได้อย่างทั่วถึง รถบรรทุกน้ำ และชุดระบบน้ำหยดที่ออกแบบเพื่อมาใช้ในไร่มันสำปะหลังโดยเฉพาะ

บ่อกักเก็บน้ำได้ออกแบบให้สามารถถอดประกอบได้โดยง่าย เพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายและใช้งาน ซึ่งใช้เป็นโครงเหล็ก ประกอบแล้วมีความสูง 1.2 เมตร กว้างด้านละ 6 เมตร เป็นลักษณะคอกสี่เหลี่ยม ด้านในขึงด้วยผ้าใบ (ชนิดเดียวกับผ้าใบคลุมรถสิบล้อ) ผูกมัดชายผ้าใบติดกับขอบด้านบนโครงให้แน่น ทำให้กักเก็บน้ำได้ โดยบ่อขนาดดังกล่าว จุน้ำได้ประมาณ 40,000 ลิตร ซึ่งเพียงพอใช้รดน้ำในแปลงมันสำปะหลัง ด้วยระบบน้ำหยุดประมาณ 15 ไร่ แต่ถ้าเป็นแปลงปลูกมีขนาดใหญ่กว่านี้ เกษตรกรสามารถขนน้ำมาเดิมในบ่อได้เรื่อยๆ

Advertisement

12788365_1512607492089833_578080226_o

“การใช้งานจะเป็นลักษณะ เกษตรกรนำบ่อไปติดตั้งในแปลงปลูก จากนั้นก็ใช้รถบรรทุกน้ำ ที่ตัดตั้งปั๊มน้ำไว้แล้ว สูบน้ำจากแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียงมาเติมในบ่อ โดยรถสามารถบรรทุกน้ำได้ครั้งละ 10,000 ลิตร ดังนั้นเพียง 4 รอบ ก็เต็มบ่อพอดี เกษตรกรก็สามารถนำนำไปใช้ได้ พร้อมกับเกษตรกรสามารถใส่ปุ๋ยหรือน้ำหมักจุลินทรีย์ต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตลงไปในระบบน้ำได้เลย”

น้ำจากในบ่อ ก็ถูกสูบมาใช้ในระบบน้ำหยด ซึ่งเป็นรูปแบบการให้น้ำที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในไร่มันสำปะหลัง เพราะน้ำจะหยดลงที่บริเวณต้นมันพอดี ต้นมันได้รับน้ำอย่างเพียงพอ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาวัชพืชขึ้นปกคลุมในแปลงด้วย ซึ่งเกษตรกรทราบดีว่า ระบบดังกล่าวช่วยเพิ่มผลผลิตได้ แต่ทว่าที่ผ่านมา ด้วยรูปแบบของการปลูกมันสำปะหลัง ที่ต้องมีการรื้อแปลงและปลูกใหม่ทุกรอบ ทำให้อุปกรณ์น้ำหยดที่ติดตั้งไว้ ไม่ว่าเป็นท่อน้ำ สายยาง ข้อต่อต่างๆ เกิดชำรุดเสียหายได้ง่าย และการติดตั้งแต่ละครั้งใช้เวลานาน ระบบน้ำหยดในแปลงมันจึงไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

“พอรู้ปัญหาก็มาออกแบบกันใหม่ จากเดิมท่อหลักที่ส่งน้ำไปยังแปลงปลูก เป็นท่อพีวีซี ซึ่งมีราคาแพง และเสี่ยงต่อการแตกเสียหาย จึงได้เปลี่ยนมาใช้เป็นท่อผ้า คล้ายท่อดับเพลิง ไม่เสียหายเมื่อถูกทับหรือดัดให้ผิดรูป ที่สำคัญม้วนเก็บได้ง่าย สวมข้อต่อที่ส่งไปยังต้นมันแต่ละแถว ใช้ท่อพลาสติกเหมือนกับระบบน้ำหยดทั่วไป ซึ่งรูปแบบดังกล่าว สามารถนำออกมาใช้และม้วนเก็บได้ตลอด โดยที่ไม่สร้างความเสียหายให้อุปกรณ์ต่างๆ มากนัก”

11535319_1512607498756499_1750779225_o

ผู้ว่าฯ บอกว่า บ่อกักเก็บน้ำแบบน็อกดาวน์และอุปกรณ์ทั้งหมด ได้นำมาใช้ในโครงการ “มันสำปะหลังแปลงใหญ่” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีเกษตรกรในโครงการจำนวน 50 ราย รวมพื้นที่ปลูกกว่า 1,101 ไร่ 11 งาน โดยจะถูกหมุนเวียนนำไปใช้ในแปลงมันสำปะหลังของเกษตรกรตลอดฤดูแล้งนี้ ซึ่งก็ค่อนข้างโชคดีที่มันสำปะหลังไม่ต้องให้น้ำบ่อยเหมือนพืชชนิดอื่น ให้แค่ 15 วันต่อครั้ง ก็เพียงพอที่ทำให้มันสำปะหลังเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่ดีได้

“นอกจากระบบการให้น้ำแล้ว ยังได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมันอย่างถูกวิธี ตั้งแต่การเตรียมดิน ยกร่องปลูก ระยะห่างระหว่างต้น และระหว่างแถวต้องเหมาะสม ไม่ชิดกันจนเกินไป เพราะโดยธรรมชาติหัวมันสำปะหลังมีขนาดใหญ่ไม่ต่ากว่า 60-70 เซนติเมตร หากใกล้กันเกินไปจะทำให้หัวมันมีขนาดเล็ก หากมีวิธีการปลูกที่เหมาะสม และได้รับน้ำอย่างเพียงพอ ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตต่อไร่ไม่ต่ำกว่า 10 ตันแน่นอน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 2-3 เท่าตัวเลยทีเดียว”

ผู้ว่าฯ ทิ้งท้ายว่า ระบบที่พัฒนาขึ้นมานี้ หากเกษตรกรดำเนินการตาม ก็ช่วยลดต้นทุน พร้อมทั้งเพิ่มผลผลิต ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ก็เท่ากับเป็นการพัฒนาตัวเกษตรกรเองด้วย ที่ผ่านมาเกษตรกรไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร เนื่องจากมีรายได้น้อย จึงดำเนินการเพาะปลูกตามปัจจัยที่มีเท่านั้น ไม่ใช่ว่าเกษตรกรไม่มีความรู้ แต่การลงทุนเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเกษตรกรมีรายได้มากขึ้น มีชีวิตการเป็นอยู่ที่ดี ก็จะหันกลับมาให้ความสำคัญกับที่ดิน เช่น มีการพักดิน ปลูกพืชบำรุงดิน พัฒนาแหล่งน้ำ และให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ก็ทำให้การเกษตรของไทยมีความยั่งยืน…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image