กว่าจะถึงวันอังคาร ที่ 8 พฤศจิกายน 2559 โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

AFP / DSK

 

ตําแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคือตำแหน่งผู้นำของประเทศอภิมหาอำนาจประเทศเดียวในโลกจึงเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก ทำให้มีผู้คนที่กระสันอยากจะเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก และวิธีการที่จะขึ้นไปดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนี้ก็ต้องได้รับเลือกตั้งจากชาวอเมริกันในทุกๆ 4 ปี โดยที่ใครก็ตามที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป เป็นคนอเมริกันโดยกำเนิดและไม่เป็นคนวิกลจริตย่อมมีสิทธิในการเสนอตัวเข้าสมัครได้ทุกคน ดังนั้น จึงย่อมมีคนที่ไม่ประมาณตัวเองจำนวนมากนับร้อยนับพันคนเสนอตัว เพื่อขึ้นไปดำรงตำแหน่งอันทรงอำนาจนี้อย่างเป็นงานมหกรรมเลยทีเดียว ทำให้ประชาชนอเมริกันต้องมึนตึ๊บไปเลยเพราะไม่รู้จะเลือกใครดี

us

โดนัล ทรัมป์       มิตต์ รอมนีย์      ฮิลลารี คลินตัน

Advertisement

เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐรวม (Composite state) ประกอบด้วยมลรัฐ 50 มลรัฐ ซึ่งเปรียบเสมือน 50 ประเทศนั่นเอง ซึ่งแต่ละมลรัฐมีอำนาจในการจัดการกิจการภายในมลรัฐของตนเองอย่างเต็มที่ ไม่จำเป็นต้องใช้กฎเกณฑ์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยว (Single State) เหมือนประเทศไทย

ดังนั้น แต่ละมลรัฐของสหรัฐอเมริกาจึงจัดให้มีการแนะนำผู้ที่จะสมัครเข้าชิงชัยเป็นประธานาธิบดีทั้งหลายมาหาเสียง แสดงวิสัยทัศน์ให้ประชาชนของแต่ละมลรัฐตัดสินใจเลือกเอาว่าอยากได้ใครเป็นเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองระดับชาติ ซึ่งมีอยู่ 2 พรรคคือ พรรคเดโมแครตกับพรรครีพับลิกัน ซึ่งก็เรียกการเลือกตั้งแบบการ

กรองผู้สมัครเป็นขั้นแรกให้กับพรรคการเมืองระดับชาติทั้ง 2 พรรคนั่นเอง โดยเรียกการเลือกตั้งแบบนี้ว่า ไพรมารี (Primary) และคอคัส (Caucus) ขึ้นมาก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งจริงๆ เพื่อคัดคนที่เสนอตัวมาให้เลือกที่มากมายเหลือเกินออกให้เหลือเพียง 2 คน เพื่อที่ประชาชนจะได้ไม่งงแบบว่าเป็นการกรองก่อนที่การเลือกตั้งจริงๆ นั่นเอง

สำหรับคนที่สงสัยว่าไพรมารีและคอคัสนั้นต่างกันอย่างไร ? ตอบง่ายๆ ก็คือ ไพรมารีนั้น คนก็มาเลือกในคูหาเลย ส่วนคอคัสนั้นมีพิธีรีตองมากหน่อยคือต้องมาร่วมประชุมปรึกษาหารือโน้มน้าวกันก่อนแล้วถึงไปเลือกตั้ง

 

แต่เดิมมาจนถึงสมัยที่ผู้เขียนยังเรียนหนังสืออยู่ที่สหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2511) ทั้งไพรมารีและทั้งคอคัสนี่ไม่มีความหมายอะไรหรอกครับ เพราะทั้ง 2 พรรคการเมืองหลักของสหรัฐอเมริกาคือ พรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันนั้นต่างก็มีขาใหญ่ประจำอยู่ทุกมลรัฐแล้ว พอจะคัดใครไปเป็นตัวแทนของพรรคในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่แล้ว ซึ่งมักจะเป็นการประชุมลับในห้องที่เรียกว่า Smoke filled room คือเชิญบรรดาขาใหญ่ของพรรคจากมลรัฐต่างๆ มาตกลงกันว่าจะให้ใครเป็นตัวแทนพรรค

ซึ่งตัวอย่างที่ชัดแจ้งที่สุดคือ นายฮิวเบิร์ต ฮัมฟรีย์ ผู้ไม่เคยลงสมัครในไพรมารีหรือคอคัสในมลรัฐใดเลยก็ได้เป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตเข้าชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งปรากฏว่านายฮัมฟรีย์แพ้การเลือกตั้ง ในขณะที่นายริชาร์ด นิกสัน แห่งพรรครีพับลิกัน ซึ่งเข้าแข่งในไพรมารีมาโดยตลอด ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีใน พ.ศ.2512

ครับ ! ตั้งแต่นั้นมาใครที่ต้องการจะเป็นตัวแทนของ 2 พรรคหลักนี้เพื่อชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีก็ต้องผ่านด่านของไพรมารีและคอคัส ซึ่งโหดและหนักหนาสาหัสและยาวนานมาก (6 เดือน) ดังนั้น การที่ใครสักคนที่ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาได้ซึ่งหมายถึงบุคคลที่เป็นประมุขของประเทศ หัวหน้าฝ่ายบริหารและผู้บัญชาการทหารสูงสุดผู้มีอำนาจเต็มนั้น ต้องผ่านบททดสอบที่สุดโหดที่ยาวนานที่ต้องใช้ความอดทนสูงสุด ต้องมีเสน่ห์แบบที่เรียกว่า Charisma มาก ต้องมีคนศรัทธามากและที่สำคัญต้องหาเงินเก่งมากเพื่อใช้ในการหาเสียงได้ จึงจะเป็นผู้มีโอกาสได้เป็นผู้เข้าสมัครเป็นประธานาธิบดี

อีทีนี้กระบวนการคัดเลือกตัวแทนเพื่อชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีของของแต่ละพรรคการเมืองในปีนี้เริ่มต้นด้วยพรรคเดโมแครตที่มีผู้เสนอตัวผู้โดดเด่นที่สุดคือ นางฮิลลารี คลินตัน วัย 68 ปี ภรรยาของอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ซึ่งเคยขับเคี่ยวกับประธานาธิบดีโอบามามาอย่างสูสีในศึกไพรมารีและคอคัสเมื่อ พ.ศ.2551 และได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในรัฐบาลโอบามาสมัยแรกและได้เตรียมการที่จะเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีตลอด 3 ปีเศษที่ผ่านมา ซึ่งเธอน่าจะได้เป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตค่อนข้างจะแน่นอนแล้ว โดยดูจากผลการหยั่งเสียงไพรมารีและคอคัสที่ผ่านมาร่วมครึ่งทางแล้ว โดยที่คู่แข่งของเธอมีเพียงคนเดียวคือ นายเบอร์นี แซนเดอร์ ผู้มีอายุ 75 ปีแล้ว ถือเป็นผู้สมัครที่มีอายุมากที่สุดในศึกชิงทำเนียบขาวในช่วงศตวรรษที่ 21

 

นายแซนเดอร์เป็นนักสังคมประชาธิปไตยตามแบบประเทศสวีเดนที่อยู่ในยุโรปเพียงคนเดียวที่มีนโยบายเก็บภาษีคนรวยและบรรษัทในตลาดหุ้นให้สูงลิบเพื่อนำเงินมาจ่ายเป็นสวัสดิการให้กับประชาชนและให้นักศึกษาเรียนมหาวิทยาลัยฟรีด้วย นายแซนเดอร์สเป็น ส.ส.นานถึง 16 ปี แล้วจึงได้รับเลือกตั้งมาเป็น ส.ว. อีก 2 สมัย (12 ปี)

ปรากฏว่านายแซนเดอร์แกสู้ได้สมศักดิ์ศรีมากทีเดียว แบบว่าเป็นขวัญใจของคนรุ่นใหม่และรูปแบบการหาเสียงเป็นสุภาพบุรุษ แต่ก็อย่างว่าละครับโดยการประมาณการแล้วนางฮิลลารี คลินตัน คงได้เป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตในการชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนปีนี้แน่นอน

ส่วนพรรครีพับลิกันนั้นว่างเว้นจากการมีประธานาธิบดีมาแล้วถึง 8 ปี จึงมีคนอาสาสมัครมาเป็นตัวแทนของพรรคมากมาย และคนที่เป็นตัวเก็งที่มีชื่อมานานคือ นายเจบ บุช อดีตผู้ว่าการรัฐฟลอริดา วัย 61 ปี เขาเป็นลูกชายของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ เอช. บุช และเป็นน้องชายแท้ ๆ ของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แบบว่าสายเลือดไม่มีใครทาบเขาได้ นายเจบ บุช สามารถหาเงินทุนตุนเอาไว้ในการหาเสียงมากกว่าใครทุกคนเลยครับ แต่พอต้องลงรณรงค์ในไพรมารีและคอคัสแล้ว นายเจบ บุช กลับกลายเป็นตัวเกร็งไปแบบว่าต้องเป็นคนแรกๆ ที่ต้องถอนตัวออกจากการแข่งขันไปเลย เพราะไม่เคยชนะในการเลือกตั้งหยั่งเสียงไพรมารีและคอคัสแม้แต่มลรัฐเดียว

คนที่นำโด่งในการหยั่งเสียงไพรมารีและคอคัสของพรรครีพับลิกันกลับเป็นนายโดนัล ทรัมป์ มหาเศรษฐีทางด้านอสังหาริมทรัพย์ วัย 69 ปี ผู้ไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองแบบที่ต้องเสนอตัวเข้ารับเลือกตั้งเลย นายโดนัล ทรัมป์ เป็นประเภทปากไม่มีหูรูดแกพูดอะไรออกมาตามใจแกและไม่เกรงใจใครตามประสาคนรวยนั่นแหละครับ ซึ่งดูออกจะเป็นที่ชื่นชอบของคนอเมริกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากปัจจุบันนี้มีการระมัดระวังคำพูดประเภท political correctness มากจนเกินไปจนคนคับข้องใจเพราะฟังนักการเมืองพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง (politically incorrect คือการพูดเชิงดูหมิ่นหรือการสร้างความรู้สึกขุ่นเคืองแก่เพศ, ผิว, วัฒนธรรม, เพศภาพ, ผู้พิการ และสิ่งที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เช่นพูดถึงคนอเมริกันผิวดำจะเรียกว่านิโกรไม่ได้ต้องเรียกว่าคนอัฟริกันอเมริกัน หรือไม่ควรพูดถึงคนอ้วน ผู้หญิงขี้ริ้ว กะเทย คนต่างด้าว คนบ้านนอก ฯลฯ)

สำหรับตัวนายทรัมป์แกไม่แคร์กับเรื่อง politically incorrect อยู่แล้ว และแกก็เป็นคนอนุรักษนิยมสุดโต่งต่อต้านผู้อพยพชาวเม็กซิกันถึงขนาดสัญญาว่าจะสร้างกำแพงกั้นพรมแดนระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศเม็กซิโกหากเขาได้เป็นประธานาธิบดี

นอกจากนี้ เขายังต่อต้านพวกมุสลิมอย่างหนักอีกด้วย ถึงขนาดจะห้ามชาวมุสลิมเข้าสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว ซึ่งก็น่าแปลกใจนะครับที่นายโดนัล ทรัมป์น่าจะชนะการลงคะแนนหยั่งเสียงไพรมารีและคอคัสค่อนข้างจะแน่นอน ซึ่งมีกระแสข่าวจากบรรดาขาใหญ่ผู้มีอิทธิพลของพรรครีพับลิกันเปิดเผยว่า มีความพยายามที่จะเอานายมิตต์ รอมนีย์ อดีตผู้ชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อ 4 ปีที่แล้วเอามาสู้นายทรัมป์ซึ่งก็คงเป็นไปไม่ได้หรอกครับ เพราะมันพ้นสมัยที่บรรดาขาใหญ่ของพรรครีพับลิกันจะเลือกสรรเอาผู้แทนพรรคไปสมัครชิงชัยเป็นประธานาธิบดี โดยไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งของประชาชนจากไพรมารีและคอคัสได้หรอกเพราะมันพ้นสมัยไปแล้ว (ประเทศไทยก็เหมือนกันแหละครับที่พ้นสมัยการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนนอกและการมี ส.ว.สรรหาหมดทั้งวุฒิสภาไปแล้ว)

สรุปแล้วคงจะเป็นนางฮิลลารี คลินตัน แข่งกับนายโดนัล ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายนปีนี้ ส่วนที่ว่าสหรัฐอเมริกาจะมีสตรีเป็นประธานาธิบดีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หรือไม่ก็ต้องคอยดูกันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image