วิกฤตภัยแล้งหนักสุดรอบ 20 ปี ชาวนารายได้หาย-เสี่ยงเกิดหนี้นอกระบบ จับตามาตรการรัฐปฏิรูปภาคเกษตร

วิกฤตภัยแล้งหนักสุดรอบ 20 ปี รุมเร้า! ชาวนารายได้หาย-เสี่ยงเกิดหนี้นอกระบบ จับตามาตรการรัฐปฏิรูปภาคเกษตร หมู่หรือจ่า?

หากจำกันได้ในปีที่ผ่านมา ไทยต้องเจอกับสถานการณ์ภัยแล้งที่หนักหนาสาหัสในรอบหลายปี หลังเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ หรือฝนแล้ง ทำให้ไม่มีปริมาณน้ำเติมเขื่อน เสี่ยงต่อการขาดน้ำอุปโภคบริโภค ขณะเดียวกัน เกษตรกรไทยที่เริ่มการเพาะปลูกข้าวแล้วต้องขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูก

ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้สังคมไทยจดจำภาพได้มากมาย

นับตั้งแต่ การแย่งสูบน้ำของเกษตรกรในหลายพื้นที่จนน้ำประปาไม่ไหล

การนับถอยหลังปริมาณน้ำในเขื่อนแบบวันต่อวัน

Advertisement

รวมทั้งการประชาสัมพันธ์รณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด

แต่ทั้งหมดนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งมากที่สุดคือ ภาคเกษตรกรรม เพราะภาคอื่นๆ ได้รับการจัดสรรน้ำที่เพียงพอ คือน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค

ขณะที่ภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นภาคที่ใช้น้ำมากที่สุดในประเทศ กลับไม่ได้รับการสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูก

ผลที่ตามมาคือ ข้าวที่เกษตรกรลงทุนปลูกไปแล้วนั้น เสียหายเพราะไม่มีน้ำเลี้ยงต้นข้าว และตามมาด้วย ไม่มีรายได้จากการขายข้าว

ล่าสุด นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2558 และภาพรวมทั้งปี ว่าจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปี 2558 ได้ส่งผลกระทบให้การจ้างงานในภาคเกษตรกรรมต้องลดลงมากกว่า 460,000 คน เหลือเพียง 12.27 ล้านคน เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มี 12.73 ล้านคน

และยังส่งผลลามไปถึงรายได้ต้องปรับลดลงตามไปด้วย

นอกจากนี้ ในส่วนรายได้ลดลงนั้น อาจทำให้เกษตรกรก่อหนี้เพิ่มขึ้น โดยในปี 2558 เกษตรกรที่เป็นหนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 8.28 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 67.6% ของเกษตรกรทั้งหมด โดยเฉลี่ยมีหนี้สินคนละ 193,872 บาท

ดังนั้น รัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือดูแลไม่ให้กลุ่มเกษตรกรที่ยังยากจนนี้ไม่ไปกู้หนี้นอกระบบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบตามมาในภายหลัง

ขณะเดียวกันในปี 2559/2560 หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า สถานการณ์ภัยแล้งอาจจะทวีความรุนแรงขึ้น ถึงขั้นไม่มีน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคกันเลยทีเดียว หลังกรมชลประทานออกมาระบุตัวเลขปริมาณน้ำในเขื่อนก่อนถึงฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปี โดยมีปริมาณน้ำที่ลดลงเกือบสองเท่าตัวหากเทียบกับปีที่แล้ว และยังมีปริมาณน้ำในเขื่อนที่เรียกว่า แล้งหนักที่สุดในรอบ 22 ปี หรือประมาณปี 2536/2537

รวมไปถึงสถานการณ์เอลนิโญ โดยกรมชลประทานระบุว่า สำนักงานพยากรณ์ด้านอากาศของญี่ปุ่น ได้คาดการณ์ว่าปรากฏการณ์เอลนิโญจะพ้นไทยในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้

ขณะที่สหรัฐอเมริกาและยุโรปได้คาดการณ์ว่า เอลนิโญจะพ้นไทยในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

ดังนั้น อย่างช้าสุดไทยน่าจะพ้นปรากฏการณ์เอลนิโญได้ในเดือนกรกฎาคมนี้

แต่ถ้าจะให้แม่นยำสุดว่าจะมีฝนตกหรือไม่ มาช่วงเดือนใด กรมชลประทานได้ทำงานร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า จะรู้แน่ๆ ช่วง 30 วันก่อนถึงเดือนพฤษภาคม

อย่างไรก็ตาม นายทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ระบุอย่างมั่นใจว่าน้ำในเขื่อนจะเพียงพอแน่นอน

แม้คาดการณ์ว่าเมื่อเข้าสู่เดือนพฤษภาคม หรือเป็นช่วงที่ตามปกติฝนตกนั้น จะมีปริมาณน้ำเหลืออยู่ใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่ 1,600 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่าเหลือน้อยมากหากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งมีน้ำอยู่ 3,819 ล้าน ลบ.ม. ก็ตาม

เพราะมีวิธีการระบายน้ำออกจากเขื่อนที่แตกต่างกับปีที่ผ่านมา

เน้นระบายน้ำในปริมาณ 18 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน

แบ่งเป็น

1.น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เช่น น้ำประปา ประมาณ 14 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน

2.น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ หรือน้ำผลักดันน้ำเค็ม ประมาณ 3 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน

และ 3.น้ำเพื่อภาคการเกษตร 1 ล้าน ลบ.ม ต่อวัน

ดังนั้น หากไม่มีฝนเข้ามาเติมเลย ก็จะยังมีน้ำกินน้ำใช้และน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ที่คาดว่าฝนจะเริ่มตกตามปกติ

กระนั้นหากเจาะลึกลงไปถึงเนื้อในการระบายน้ำในเขื่อน จะพบว่าปีนี้กรมชลฯ วางแผนจะระบายน้ำเพื่อภาคการเกษตรเพียง 1 ล้าน ลบ.ม.ต่อวันเท่านั้น ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับปีปกติ ที่มีอัตราการระบายน้ำในเขื่อนเพื่อภาคการเกษตร 5-10 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่รัฐบาลได้ออกมาตั้งเป้าหมายแล้วว่า ในปีนี้ปริมาณผลผลิตข้าวจะลดลงแน่นอน คาดว่าจะเหลืออยู่ที่ 25-27 ล้านตัน จากปีที่แล้วที่มีปริมาณการเพาะปลูกข้าว 32 ล้านตัน

ดังนั้น เมื่อรัฐไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรได้ ประกอบกับภาวะสินค้าเกษตรตกต่ำเช่นกัน ทำให้ภาครัฐต้องออกนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตรใหม่คือ การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต โดยเน้นให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกพืชอื่นๆ เช่น พืชที่ใช้น้ำน้อย หรือตระกูลถั่ว และพืชที่มีความต้องการทางตลาดมากกว่า เช่น อ้อย ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นมาตรการจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกพืชมากมาย เช่น 8 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรภัยแล้งของกระทรวงเกษตรฯ โดยการแจกปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว การจ้างงานเกษตรกรขุดลอกคลองกว่า 7 หมื่นคน

รวมถึงโครงการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงภัยแล้งของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำเสนอ รวม 3 โครงการ วงเงิน 9.3 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย

1.โครงการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับชุมชน วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤตภัยแล้งและช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ภัยแล้ง 26 จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำแม่กลอง

2.โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร วงเงิน 7.2 หมื่นล้านบาท เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเกษตร มีความเข้มแข็ง สนับสนุนให้เกษตรกรปรับตัวเป็นผู้ประกอบการ เปลี่ยนจากการปลูกพืชเป็นการตั้งโรงงานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

และ 3.โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินของเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งในปี 2558/2559 วงเงินรวม 6,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ให้มีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ และมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในครัวเรือน โดยโครงการนี้มีระยะคืนเงินกู้ 1 ปี กำหนดวงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 1.2 หมื่นบาท

อีกทั้งกระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอ ครม. ขอใช้เงินจากงบกลางปี 2559 อีกจำนวน 3,319 ล้านบาท ประกอบไปด้วย 4 มาตรการ คือ

1.โครงการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดี

มาตรการที่ 2 สนับสนุนสินเชื่อให้กับชาวนาที่หันไปปลูกข้าวนาแปลงใหญ่ โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดสินเชื่อดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี

3.มาตรการจูงใจในการปรับเปลี่ยนให้มีการปลูกพืชที่หลากหลายทั้งแบบถาวรและระยะสั้น กำหนดไว้ใน 300,000 ไร่ พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด

4.มาตรการในการจูงใจปลูกพืชเพื่อพักดินในการเพาะปลูกในพื้นที่ 500,000 ไร่

จากมาตรการทั้งหมดนั้น แม้จะเป็นมาตรการที่ดี โดยการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและส่งเสริมเกษตรกร ให้ปรับเปลี่ยนเพาะปลูกพืชเพื่อตรงกับความต้องการตลาดและเปลี่ยนให้สร้างมูลค่าเพิ่มกับสินค้า

เพียงแต่ภายใต้สถานการณ์ภัยแล้งและรายได้เกษตรกรที่หดตัวต่อเนื่องมา 2-3 ปีมานี้ กับมาตรการดังกล่าวล่าสุดของรัฐอาจจะต้องใช้เวลายาวพอสมควรกว่าจะเกิดผล และต้องอาศัยความรู้ในการช่วยพัฒนาเกษตรกรจากหน่วยงานรัฐ

ถึงตอนนี้ หวังเพียงว่ามาตรการปฏิรูปภาคเกษตรรัฐจะออกผลเร็วกว่าที่คาด

ไม่งั้นสุดท้ายรัฐอาจหนีไม่พ้นการออกมาตรการประชานิยม ที่ง่ายและเร็วกว่า แต่จะเข้าข่าย กลายเป็นขว้างงูไม่พ้นคอเช่นกันก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image