นักวิชาการระบุ’ศาล-องค์กรอิสระ’คือระบบคู่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 9 มีนาคม ที่ห้องสัมมนา ชั้น 11 อาคารสำนักงานศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ มีการอภิปรายวิชาการ หัวข้อ “บทบาทองค์กรตุลาการ และองค์กรอิสระในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ”

โดยนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ยังเห็นว่าประชาธิปไตยทางตรง มีอยู่ในทุกที่ในชีวิตประจำวัน และยังเชื่อว่าประชาธิปไตยทางตรงยังทำงานได้ดีในโลกสมัยใหม่ด้วยแม้จะในบางประเทศก็ตาม ส่วนประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ใกล้ตัวก็เหมือนในนิติบุคคลอาคารชุด ที่มีการเลือกตัวแทนเข้ามาดูแล ประชาธิปไตยจึงอยู่ที่ประชาชนเลือกเอง ซึ่งความคิดจะสะท้อนออกมาทางระบบเลือกตั้ง ส่วนระบบเลือกตั้งจะสะท้อนวิธีคิดการเลือกตัวแทน โดยระบบตัวแทน ถือเป็นระบบเปราะบางมากในตัวเองเพราะขึ้นอยู่กับวิธีคิดในการเลือกตัวแทน ซึ่งคิดดีๆ ไม่มีใครมาเป็นตัวแทนเราได้จริงๆ การที่เราเลือกผู้แทนเป็นเพียงการเลือกคนที่มั่นใจเข้าไป ขณะที่ต้องระวังเรื่องอุดมการณ์และความสุดขั้ว ความสุดโต่ง โดยการเมืองระบบประชาธิปไตย ก็ไม่อาจอนุญาตให้พรรคการเมืองที่ไม่มีอุดมการณ์เรื่องประชาธิปไตยเข้ามาแข่งขันได้ ซึ่งระบบประชาธิปไตยตัวแทนนับวันประชาชนจะไม่มีความไว้วางใจ ดังนั้น ประชาธิปไตยแบบตัวแทนก็ต้องอาศัยการตรวจสอบ ขณะที่ในสภาวะแบบนี้ทิศทางการตรวจสอบใช้อำนาจรัฐมีทั้งศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และยังมีสื่อมวลชน สมาคมวิชาชีพ องค์กรภาคประชาชน ขณะที่ศาลก็ต้องทำให้พอควรไม่มากไป น้อยไป

นายอุดม รัฐอมฤต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อบ้านเมืองยังมีนักการเมือง ก็จะต้องมีการตรวจสอบ อย่างศาลก็ยังมีการสร้างระบบศาลคู่ คือ ศาลยุติธรรมกับศาลปกครอง มาตรวจสอบ โดยศาลปกครองเข้าไปตรวจสอบการออกคำสั่งที่ผู้บังคับบัญชามีต่อผู้น้อย ซึ่งสังคมไทยมีค่านิยมที่เรียกว่า ผู้น้อยจะมาตรวจสอบผู้ใหญ่ได้อย่างไร ให้รู้บ้างใครหมู่ใครจ่าแต่การมีศาลปกครอง ทำให้คุ้มครองสิทธิผู้น้อยด้วยว่าการจะสั่งการใดๆ ต้องมีเหตุมีผล ไม่ใช่เพียงอ้างความเหมาะสม แต่นอกเหนือจากศาลแล้วก็ยังต้องมีองค์กรอิสระ เพราะระหว่างอำนาจตุลาการกับองค์กรอิสระก็มีเส้นแบ่ง ขณะที่องค์กรอิสระ ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่มีความยืดหยุ่นช่วยเรื่องการตรวจสอบได้ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกต่อสิทธิเสรีภาพต่อประชาชน

นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่น กล่าวว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นหลักในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ตรวจสอบรายรับรายจ่าย ตัวอย่างโครงการรับจำนำข้าว สตง.เคยทำหนังสือไม่น้อยกว่า 4 ฉบับ ส่งให้รัฐบาลว่าโครงการนี้ไม่ควรมีต่อไป จะเป็นการทำลายระบบ, ชาวนาไม่ได้พัฒนา และการระบายข้าวจะเกิดความล่าช้า และการทุจริต แต่สุดท้ายก็ไม่มีการยับยั้ง กระทั่งกลายเป็นคดีที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานอกจากนี้ ยังมีคดีในอดีต เช่น โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่ตั้งใจจะทำบำบัดน้ำเสียเจ้าพระยาตอนล่าง 2 ฝ่าย คือตะวันออก ที่พระสมุทรเจดีย์ และตะวันตกที่บางปู ซึ่งเริ่มในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลงูเห่า ก็มีการย้ายที่ทำโครงการฝั่งตะวันตกจากบางปู ไปที่คลองด่าน อ.บางบ่อ รวมทั้งเพิ่มงบประมาณจากเดิม 13,612 ล้านบาท เป็น 22,955 บาท ซึ่งการตรวจสอบพบซื้อที่ดินที่กลุ่มรัฐมนตรีมีผลประโยชน์ด้วย ดังนั้น ในความจำเป็นต้องมีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ นอกเหนือจากศาลปกครองที่มีอำนาจชี้ขาดการออกคำสั่งที่ไม่ชอบ หรือขัดกฎหมาย

Advertisement

นายฤทัย หงส์สิริ อธิบดีศาลปกครองเชียงใหม่ กล่าวว่า ที่คิดว่าศาลปกครองมีอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเต็มที่นั้น จริงๆ แล้วศาลไม่มีอำนาจขนาดนั้น ส่วนหนึ่งจากธรรมชาติศาลเอง เพราะเราเป็นศาลจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเท่านั้น ก็คือมีขอบเขตอำนาจการตรวจสอบฝ่ายปกครองในการออกคำสั่งโดยใช้อำนาจตุลาการ แต่ศาลไม่ใช่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจบริหารตรวจสอบฝ่ายปกครอง ตัวอย่าง ป.ป.ช. เดิมคือ ป.ป.ป. ที่มีอำนาจตรวจสอบฝ่ายปกครองได้ สามารถจับข้าราชการซี 5, ซี 8 จนถึงผู้บริหารอธิบดี รัฐมนตรีได้ โดยเมื่อมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ได้กำหนดให้องค์กรเหล่านี้มีความเป็นอิสระในการตรวจสอบ โดยใช้อำนาจบริหารตรวจสอบฝ่ายปกครองได้ แต่ก็ไม่ใช่อำนาจตุลาการเหมือนศาล ซึ่งศาลจะมีอำนาจตรวจสอบฝ่ายปกครองได้ ต่อเมื่อคดีเข้าสู่ศาล ไม่ใช่ว่าศาลอ่านหนังสือพิมพ์เจอเรื่องทุจริตแล้วลงไปตรวจสอบได้เลย ดังนั้น ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐจึงต้องมีระบบคู่กันทั้งการใช้อำนาจตุลาการตรวจสอบความชอบทางกฎหมาย และองค์กรอิสระตรวจสอบการบริหารงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image