บิ๊กฉัตรเผยเตรียมเอ็มโอยูพลังประชารัฐเดือนนี้-สั่งรองปลัดเกษตรทำแผนปรับเปลี่ยนปลูกพืช

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯว่า ได้หารือเรื่องการจัดสรรที่ทำกินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก.) ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ที่ให้บูรณาการทำงานตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางให้มีประสิทธิภาพ ขยายผลได้ดี เพื่อให้ผลงานของกระทรวงเกษตรฯ เด่นชัดยิ่งขึ้น โดยภายในเดือนนี้จะทำพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล ตัวแทนภาคเอกชน เพื่อจัดทำแผนดำเนินงานเร่งด่วนและระยะยาว อาทิ การพัฒนาสหกรณ์ต้นแบบให้เป็นสมาร์ทเอสเอ็มอีด้านการเกษตร ทำเกษตรแปลงใหญ่ การพัฒนาแอพลิเคชั่นเกี่ยวกับการเกษตร

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า จากการตรวจสอบพื้นที่ทำเกษตรทั่วประเทศพบว่า มีพื้นที่เพาะปลูก 130 ล้านไร่ มีความเหมาะสมในการทำการเกษตรคิดเป็น 67.3% หรือ 88 ล้านไร่ และมีพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการทำการเกษตร คิดเป็น 32.7% หรือ 42 ล้านไร่ โดยในส่วนนี้พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมมากที่สุดถึง 27 ล้านไร่ ขณะที่ภาคใต้มีการปลูกยางพาราและปาล์มในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมถึง 5.8 และ 1.8 ล้านไร่ตามลำดับ ส่วนภาคกลางพบว่ามีการปลูกอ้อยในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม 3.7 ล้านไร่ ส่วนภาคเหนือมีการปลูกมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมถึง 2.22 และ 1.4 ล้านไร่ตามลำดับ

“ได้สั่งการให้ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงฯ เป็นประธานดำเนินการทำแผนที่เกษตรระดับจังหวัด มีเป้าหมายที่จะดำเนินการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกให้เหมาะสมตามพื้นที่ โดยให้ดำเนินการให้เสร็จในเดือนเมษายนนี้ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นำไปใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนภาคเกษตรในระดับจังหวัดสู่ภาคเกษตรของประเทศ”พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์การเก็บเกี่ยวข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาปัจจุบันส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว มีบางพื้นที่ที่ยังรอเก็บเกี่ยวอีกเพียง 0.61 ล้านไร่ ส่วนข้าวนาปรังที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน 2559 บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีจำนวน 3.05 ล้านไร่ แบ่งเป็นเพาะปลูกในเขตชลประทาน จำนวน 1.98 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน จำนวน 1.07 ล้านไร่ มีการเก็บเกี่ยวแล้ว 0.94 ล้านไร่ เหลืออีก 2.11 ล้านไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 1.16 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.95 ล้านไร่ พื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดคาดว่าจะ ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์แล้งประเมินเบื้องต้นประมาณ 4 แสนไร่ ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ จะดูแลและระมัดระวังพื้นที่เสี่ยงเป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้กระทบกับระบบการบริหารจัดการน้ำในส่วนอื่นๆ

Advertisement

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า จากการกำหนดนโยบายในปี 2559 ว่าเป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตภาคเกษตร เพิ่มโอกาสการแข่งขัน เรื่องปุ๋ยจึงเป็นเรื่องสำคัญ จึงกำชับให้กรมวิชาการเกษตรปราบปุ๋ยปลอมอย่างจริงจังให้เห็นผลภายในสามเดือน วางมาตรการครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พร้อมกับให้กรมวิชาการเกษตรเตรียมมาตรการรองรับไว้ 6 มาตรการ คือ 1.การนำเข้า ผลิตและจำหน่ายปุ๋ย ต้องมีใบอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตร (กรณีรถเร่ขายปุ๋ยถือว่าผิดกฎหมาย เพราะไม่มีใบอนุญาต) 2.ตรวจสอบการนำเข้าปัจจัยที่นำไปผลิตปุ๋ย ทั้งการตรวจใบอนุญาต และสุ่มเก็บตัวอย่าง 3.ควบคุมการผลิต และจำหน่ายให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ปุ๋ย โดยพิจารณาจากพื้นที่ชนิดพืชและฤดูกาล เพื่อลดความเสี่ยง 4.จัดโครงการร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิต ที่มีคุณภาพ Q-Shop ซึ่งในปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตรรับรองแล้ว 2,691 ร้าน 5.ควบคุมโฆษณาและฉลาก ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนแจ้งเบาะแส เพื่อตรวจการโฆษณาเกินจริง และ 6.จัดทำระบบค้นหา และ ตรวจสอบข้อมูลออนไลน์ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลแก่เกษตรกรอย่างทั่วถึง

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า การทำเกษตรแปลงใหญ่คือการปฏิรูปการเกษตร เป็นความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ ซึ่งเป็น 1 ใน 12 โครงการที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ในขณะนี้มีแปลงใหญ่ทั้งหมด 268 แปลง ในพื้นที่ 662?669 ไร่ มีเกษตรกรอยู่ในโครงการฯ 29?169 ครัวเรือน จากสินค้าที่เกี่ยวข้อง 31 ประเภท ทั้งนี้จะกำหนดให้มีแปลงตัวอย่างประจำจังหวัดรวม 76 แปลง

“ผลผลิตบางอย่างต้องใช้เวลา ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้อาจจะไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม แต่ที่สามารถรวมตัวกันได้เพื่อให้คำแนะนำเกษตรกรว่าพื้นที่นี้นั้นควรปลูกอะไร แบบไหนอย่างไร เชื่อมโยงกับพื้นที่เพาะปลูกที่ไม่เหมาะสม ปรับเปลี่ยนและรวมตัวเป็นแปลงใหญ่ อย่างศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอละ 1 จุด รวม 882 ศูนย์ก็เห็นผลได้แน่นอน หรือโมเดลระบำ ก็มีความสมบูรณ์แบบมาก ในวันที่ 18 มีนาคมนี้ ผมจะลงพื้นกับนายกรัฐมนตรีที่จังหวัดอุดรธานี ก็จะนำแผนที่การเกษตรจังหวัดไปโชว์ด้วย” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

Advertisement

“ในวันที่ 10-11 มีนาคม ผมจะเข้าร่วมประชุมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ที่มาเลเซีย ซึ่งจะพูดถึงการพัฒนาการเกษตรให้เกิดความความยั่งยืน โดยใช้ทฤษฎีเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จภูมิพลอดุลยเดช รวมถึงการขับเคลื่อนการเกษตร โดยใช้นวัตกรรมความรู้ใหม่ๆ ภายหลังการประชุมจะไปดูงานที่ศูนย์ยางพารา :ซึ่งเป็นต้นแบบการทำยางพาราที่ดีที่สุดในโลก เพื่อนำมาเป็นต้นแบบในพัฒนายางพาราไทย ” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image