นักวิทยาศาสตร์แจง เหตุโลกร้อน’เร็วขึ้น’ทุกเดือน

Weatherbell Analytics-Slate

โลกเราร้อนขึ้นแบบผิดปกติมาอย่างต่อเนื่อง ความผิดปกติที่ว่านี้ก็คือ การที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็คือ เมื่อเร็วๆ นี้เองที่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะสรุปกันว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำสถิติสูงที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่มีการบันทึกอุณหภูมิกันมา

แต่พอสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ไปไม่นาน ขณะที่ตัวเลขอย่างเป็นทางการยังไม่มีการประกาศออกมา บรรดานักอุตุนิยมวิทยาสร้างความแปลกใจให้เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อระบุอย่างไม่เป็นทางการว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของเดือนที่ผ่านมาไปเรียบร้อยแล้ว โดยเฉลี่ยแล้วอุณหภูมิเมื่อเดือนกุมภาพันธ์สูงขึ้นกว่าเมื่อเดือนมกราคมอีก 0.2-0.3 องศาเซลเซียส โดยระดับอุณหภูมิของเดือนกุมภาพันธ์จะสูงกว่าระดับอุณหภูมิเฉลี่ยระยะยาวของโลก อยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งระหว่าง 1.15-1.4 องศาเซลเซียส แต่ถ้าหากตรวจสอบเฉพาะซีกโลกทางตอนเหนือ จะพบว่าอุณหภูมิของเดือนกุมภาพันธ์สูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยระยะยาวของโลกมากถึง 1.46 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า อุณหภูมิของโลกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเร็วมาก แม้ว่าเราจะรู้กันว่า เรื่องนี้เกี่ยวเนื่องกับภาวะโลกร้อน และโลกกำลังอยู่ในห้วงเวลาของการเกิดภาวะเอลนิโญครั้งรุนแรงมากครั้งหนึ่งซึ่งอาจรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ก็เป็นได้ แต่นักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศของโลกชี้ว่า สาเหตุของการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของอุณหภูมิโลกนั้นสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากวัฏจักรการหมุนเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทร

เกรกอรี จอห์นสัน นักวิชาการด้านภูมิอากาศวิทยา ประจำสำนักงานสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ (โนอา) ของสหรัฐอเมริกา อธิบายไว้ว่า มหาสมุทรนั้นมีการหมุนเวียนของกระแสน้ำอยู่ตลอดเวลา และทำหน้าที่ดูดซับความร้อนจากบรรยากาศของโลกแล้วนำพาไปกับกระแสน้ำเพื่อกระจายออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก แต่ในช่วงราว 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การดูดซับความร้อนดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผล 2 ประการนั่นคือในช่วงดังกล่าว ลมสินค้า (ลมที่พัดจากเขตอบอุ่นมายังบริเวณเส้นศูนย์สูตร) มีกำลังแรงมากกว่าปกติ และอีกประการคือในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีปรากฏการณ์เอลนิโญขนาดใหญ่และรุนแรงเกิดขึ้นเลย

Advertisement

ผลก็คือในช่วงระหว่างปี 1998 เรื่อยมาจนถึงปี 2014 ผืนน้ำของมหาสมุทรดูดซับความร้อนไว้สูงมากก่อนที่การไหลเวียนของกระแสน้ำจะนำความร้อนดังกล่าวลงไปยังส่วนลึกของมหาสมุทร ทำให้อุณหภูมิบริเวณพื้นผิวของโลกไม่ร้อนขึ้นเลย

แต่น้ำที่นำพาอุณหภูมิของโลกลงไปยังส่วนลึกของมหาสมุทรไม่ได้หยุดนิ่งอยู่ที่นั่น แต่จะไหลวนกลับขึ้นมาสู่พื้นผิวอีกครั้ง เมื่อผสมผสานกับการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ เช่น การเกิดเอลนิโญระดับรุนแรง ลมสินค้าอ่อนแรง รูปแบบของเมฆและการหมุนเวียนของกระแสน้ำเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องตลอดปี 2015 ที่ผ่านมา

คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือภาวะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของอุณหภูมิโลกนี้จะเกิดขึ้นอีกนานเท่าใด? ปีเตอร์ เกลคเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศวิทยากับทีมงานที่ร่วมกันทำวิจัยเพื่อเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำในมหาสมุทรตลอดช่วง 150 ปีที่ผ่านมาในทุกระดับความลึก ยอมรับว่าช่วงเวลาดังกล่าวยากที่จะคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีการเปลี่ยนแปลงเป็นวัฏจักรของที่เกิดอากาศอุ่นขึ้น 2 รอบ รอบละประมาณ 25 ปี ทำให้พอที่จะประเมินระยะเวลาใกล้เคียงดังกล่าวได้

Advertisement

และยิ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้นานาประเทศทั่วโลกเพิ่มความพยายามลดภาวะโลกร้อนให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image