ตู่-จตุพรสงสัย ทำไมรัฐไม่ปราบมาเฟียตั้งแต่ยึดอำนาจ มาปราบช่วงทำประชามติ

ประธาน นปช.ชื่นชมคำสั่งปราบผู้มีอิทธิพล ติงให้ทำจริง ดักทางอย่าใช้เป็นเครื่องมือต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง สงสัยทำไมไม่เริ่มปราบตั้งแต่ยึดอำนาจ แต่มาเอาจริงในช่วงทำประชามติร่าง รธน.

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการมองไกล เมื่อ 9 มี.ค. ว่าการปราบปรามผู้มีอิทธิพลเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการมาตั้งแต่การยึดอำนาจ เพราะเป็นสิ่งที่ดี แต่กลับนำมาใช้อย่างเข้มข้นช่วงที่ร่างรัฐธรรมนูญกำลังไปสู่การทำประชามติ จึงสงสัยว่าจะนำไปแลกเปลี่ยนหรือต่อรองทางอำนาจการเมืองหรือไม่

นายจตุพรกล่าวว่า การปราบปรามผู้มีอิทธิพลนั้น มีมาตั้งแต่สมัยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร แล้ว เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจมาเกือบ 2 ปี กลับมาเร่งการปราบปรามผู้มีอิทธิพลในช่วงรัฐธรรมนูญกำลังอยู่ในความสนใจของประชาชน

อย่างไรก็ตาม การปราบปรามผู้มีอิทธิพลตาม 5 ฐานความผิดนั้น นายจตุพรตั้งข้อสังเกตว่า ความจริงเป็นอำนาจของ คสช. ตั้งแต่วันแรกการยึดอำนาจอยู่แล้ว แต่อย่าให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นยุทธการตีเมืองขึ้น ส่วนการอ้างถึงนักการเมืองเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดนั้น คงไม่มีใครมีอิทธิพลทางความคิดเท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. อีกแล้ว เพราะได้รับการชื่นชอบจากทุกการสำรวจของโพล และยังมีอำนาจรัฎฐาธิปัตย์จึงมีอิทธิพลทางกำลังที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย

Advertisement

เมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศว่า ปราบมาเฟียไม่เลือกสี แต่สิ่งสำคัญต้องติดตามว่าถ้าไม่อยากถูกขึ้นบัญชีดำเป็นผู้มีอิทธิพล จะมีการแลกเปลี่ยนกันหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ตนยังไม่ได้ยินในเรื่องการแลกเปลี่ยนหรือต่อรอง จึงต้องเฝ้าติดตาม และอาจมีคนมานินทาข้อตกลงให้ฟังในอนาคต

“ท่านนายกรัฐมนตรีบอกตั้งใจปราบปรามมาเฟีย ปราบผู้มีอิทธิพล การทำให้แผ่นดินสูงขึ้น ท่านทำไป แต่ถ้าปลายทางโอละพ่อ ถ้าปราบเพื่อต่อรองให้ลงประชามติ ให้เลือกพรรคการเมือง หรือต่อรองในลักษณะผลประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าเรื่องทรัพย์ หรือเสียงก็ตาม แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อแลกเปลี่ยนเหล่านี้ ถ้ายังไม่มี และทำโดยสุจริต ไม่มีปัญหา ไม่มีใครไปคัดค้านว่าไม่เห็นด้วยกับการปราบผู้มีอิทธิพล ถ้าปราบโดยสุจริต เพราะเวลาร่วม 2 ปีที่นายกรัฐมนตรีประกาศไม่เลือกสีนั้น ถูกแล้ว แต่นับจากยึดอำนาจมาไม่มีสีใดใหญ่กว่าสีเขียวอีกแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่มีเรื่องที่ใครจะมานินทาให้ฟังกัน เหมือนกรณีของ รสช. ที่ส่งคนไปอยู่ในพรรคการเมืองเมื่อเลือกตั้ง 2535/1 แต่ผมยังไม่ได้ยินเรื่องการแลกเปลี่ยน เรื่องการต่อรองใดๆ และหวังว่าคงจะไม่ได้ยิน”

ส่วนกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่มีอำนาจนั้น นายจตุพรกล่าวว่า ปัญหานี้ได้สะท้อนในสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง กรณีการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ เพราะที่ผ่านมาทำให้เกิดวิกฤตบ้านเมืองนับครั้งไม่ถ้วนจากการใช้อำนาจแบบไร้อาณาเขตในการพิจารณาปัญหา

Advertisement

นายจตุพรยกกรณีการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญว่า วิกฤตบ้านเมืองที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเริ่มตั้งแต่การพิจารณาให้การเลือกตั้งปี 2549 เป็นโมฆะกรณีหันหลังออกนอกคูหาเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาทำกับข้าวในรายการชิมไปบ่นไปของนายสมัคร สุนทรเวช โดยใช้พจนานุกรมมาตีความจนเล่นงานพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ รวมทั้งการแต่งตั้งลูกตัวเองเป็นเลขาฯส่วนตัวแต่ไม่ผิด สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงอำนาจที่ไร้ขอบเขตจนเกิดปัญหาในบ้านเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image