Cloud Lovers : ‘พายุหมุนเขตร้อน’จะเคลื่อนไปไหน อะไรกำหนด? : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

เมื่อพูดถึงพายุหมุนเขตร้อน นอกจากความรุนแรงแล้ว เส้นทางพายุก็สำคัญมากเช่นกัน คำถามคือ ปัจจัยอะไรที่กำหนดการเคลื่อนที่ของพายุลูกหนึ่งๆ

คำตอบคือ มีหลายอย่างครับ ผมขอยกตัวอย่างที่สำคัญสัก 4 อย่าง ดังนี้

ปัจจัยแรกคือ กระแสลมโดยรอบพายุหมุน ภาษาวิชาการเรียกว่า สนามของลมแวดล้อมโดยรอบ (environmental wind field) ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ พายุหมุนที่อยู่ในเขตร้อนมักเคลื่อนที่จากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตกตามทิศทางของลมค้า (ภาพที่ 1) ทั้งนี้ เพราะลมค้าทั้งเหนือและใต้เส้น ITCZ (Inter-tropical Convergence Zone) เป็นลมที่พัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตามลำดับ

Advertisement

Pic-TC-Movement-Effect_of_Trade_Winds
ภาพที่ 1 : ลมค้าทำให้พายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนที่จากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก

ในกรณีที่พายุหมุนเคลื่อนที่เข้าในเขตละติจูดกลาง สนามของลมแวดล้อมโดยรอบมักจะเป็นลมที่พัดมาจากทิศตะวันตก (westerlies) หรือทิศตะวันตกเฉียงใต้ (southwesterlies) ซึ่งอาจทำให้พายุหมุนเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออกได้

Advertisement

ปัจจัยที่สองคือ ความกดอากาศ จำง่ายๆ ว่าความกดอากาศสูงจะผลักพายุหมุนเขตร้อนออกไป ส่วนความกดอากาศต่ำจะดูดพายุหมุนเขตร้อนเข้ามา

บริเวณความกดอากาศสูงทำตัวเสมือนเครื่องกีดขวางไม่ให้พายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้ามาใกล้ แถมกระแสลมที่ไหลเวียนรอบบริเวณความกดอากาศสูงอาจชักพาให้พายุหมุนเคลื่อนที่เป็นแนวโค้งไปรอบขอบความกดอากาศสูงอีกด้วย

ตัวอย่างเช่น ในมหาสมุทรแอตแลนติก หากบริเวณความกดอากาศสูงเบอร์มิวดา (Bermuda High) มีตำแหน่งค่อนไปทางตะวันตก ก็จะทำให้พายุเฮอริเคนเคลื่อนไปตามขอบความกดอากาศสูง แล้วพุ่งเข้าหารัฐฟลอริดาหรืออ่าวเม็กซิโก สังเกตว่ากระแสอากาศของความกดอากาศสูงไหลวนในทิศสวนทางกับพายุเฮอริเคน (ภาพที่ 2 บน)

แต่หากบริเวณความกดอากาศสูงเบอร์มิวดามีตำแหน่งค่อนไปทางตะวันออก ก็อาจทำให้พายุเฮอริเคนเลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ขึ้นฝั่งสหรัฐอเมริกา (ภาพที่ 2 ล่าง)

diagram-Bermuda High-vs-Hurricane Paths
ภาพที่ 2 : ความกดอากาศสูงมีผลต่อเส้นทางพายุหมุนเขตร้อน

ส่วนบริเวณความกดอากาศต่ำจะดึงดูดพายุหมุนเขตร้อนเข้าหา กรณีสุดโต่งคือ หากมีพายุหมุนเขตร้อนสองลูก อยู่ใกล้กัน (ห่างกันไม่เกิน 1,400 กิโลเมตร) พายุทั้งสองจะดึงดูดกันและจับคู่ “เต้นรำ” หมุนไปรอบๆ จุดร่วม เรียกว่า ปรากฏการณ์ฟูจิวารา (Fujiwhara effect) ดูภาพที่ 3 ครับ

ทั้งนี้ พายุทั้งคู่จะหมุนไปในทิศทางเดียวกับการหมุนของพายุแต่ละลูก นั่นคือ หมุนทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือ และหมุนตามเข็มนาฬิกาในซีกโลกใต้ โดยระหว่างการเต้นรำ พายุทั้งสองจะค่อยๆ เคลื่อนเข้าหากัน และอาจรวมกันกลายเป็นพายุหมุนลูกเดียวได้…น่าทึ่งไหมครับ!

Diamondra-Eunice-on-Earth
ภาพที่ 3 : พายุ Eunice (ซ้าย) จับคู่กับพายุ Diamondra (ขวา) ในแถบซีกโลกใต้
เมื่อวันที่ 28 มกราคม ค.ศ.2015

ปัจจัยที่สามเรียกว่า การเลื่อนบีตา (beta drift) เกิดจากการที่โลกหมุนรอบตัวเอง ทำให้เกิดแรงโคริโอลิส (Coriolis force) กระทำต่อวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ไปเหนือผิวโลก ความแตกต่างระหว่างตัวแปรในแรงโคริโอลิสในบริเวณทางตอนเหนือและตอนใต้ของพายุหมุนส่งผลให้พายุหมุนเคลื่อนที่ “เป๋” ไปจากเดิม โดยพายุหมุนที่อยู่ในซีกโลกเหนือจะเป๋ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ดังภาพที่ 4) ส่วนพายุที่อยู่ในซีกโลกใต้จะเป๋ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

Beta_Effect
ภาพที่ 4 : การเลื่อนบีตา

ปัจจัยที่สี่คือ ลมเฉือน (wind shear) เนื่องจากลมเฉือนทำให้อากาศที่ไหลเวียนอยู่บริเวณส่วนบนของพายุมีตำแหน่งเคลื่อนไปจากเดิม ผลก็คือเกิดแรงกระทำให้ให้พายุทั้งลูกเคลื่อนไปในอีกทิศทางหนึ่ง เช่น หากลมเฉือนมีทิศตะวันออก ก็จะเกิดแรงกระทำต่อพายุทั้งลูกไปทางทิศเหนือ เป็นต้น ดูภาพที่ 5 ครับ

Pic-TC-Movement-Effect_of_Windshear
ภาพที่ 5 : ผลของลมเฉือนทำให้พายุหมุนเปลี่ยนทิศทางได้

สำหรับคนทั่วไป สามารถติดตามเส้นทางพายุหมุนเขตร้อนได้จากเว็บที่เคยแนะนำในบทความ “เกาะติดพายุหมุนเขตร้อนด้วย Smartphone” ครับ www.matichon.co.th/columnists/news_672915

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ชมแอนิเมชั่นสรุปปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนที่ของพายุหมุนเขตร้อนได้ที่
http://www.geog.canterbury.ac.nz/cgta/resources/TC/hurricanebasics.swf (เลือก Hurricane Movement)

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image