เมื่อประเทศไทยเป็นผู้นำ จัดการสิ่งแวดล้อม ในภูมิภาคอาเซียน

เมื่อประเทศไทยเป็นผู้นำ จัดการสิ่งแวดล้อม ในภูมิภาคอาเซียน

ภูมิภาคอาเซียน ถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางระบบนิเวศและมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ปัจจุบัน อาเซียน เรากำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงอย่างเห็นได้ชัด ปัญหาและสาเหตุหลัก คือ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประชากรในกลุ่มประเทศอาเซียนที่เกินศักยภาพของระบบนิเวศที่จะรองรับได้

ไม่ว่าจะเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อเกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรมก็ตาม จนสร้างปัญหาใหญ่ๆ ที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก มลพิษทางอากาศ ปัญหาน้ำเสีย ปริมาณขยะล้น จนส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชากรของประเทศนั้นๆ และในที่สุดปัญหาต่างๆ ก็เกิดภาวะข้ามแดนจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง เช่น ปัญหาหมอกควันพิษ ปัญหาขยะทะเล ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่า เป็นต้น

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลเสียอย่างร้ายแรง ต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชากรในภูมิภาคนี้อย่างน่าวิตก

Advertisement

        

วิจารย์ สิมาฉายา                                                             โสภณ ทองดี

นายโสภณ ทองดี ผู้ตรวจราชการกระทรวง ในฐานะโฆษกประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากสภาพปัญหาดังกล่าว ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มประเทศอาเซียน รู้สึกวิตกกังวลอย่างยิ่ง ซึ่ง ทส.ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่บริหารจัดการความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและความยั่งยืนของระบบนิเวศของประเทศ พยายามที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยให้เป็นการแก้ปัญหาที่มีความยั่งยืน และไม่ได้ทำเพียงแค่ภายในประเทศเท่านั้น อะไรที่สามารถช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านได้ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ทั้งนี้การเข้าไปช่วยเหลือจัดการแก้และบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็เท่ากับการช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุกล้ำเข้ามาในประเทศไทยเองด้วย

Advertisement

แฟ้มภาพ

“เราจึงได้ริเริ่มในการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน โดยการเป็นเจ้าภาพในการจัดทำ ASEAN Haze-Free Roadmap และผลักดันให้มีการรับรอง โรดแมป ดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Water Demand Management among Competing Sector ระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศสมาชิก เพื่อหารือแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับภูมิภาค รวมทั้งยังได้เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดการอบรมอนุกรมวิธาน ในการสำรวจชนิดพันธุ์ในพื้นที่ และการจัดการอุทยาน พื้นที่คุ้มครองให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน และในปี 2562 ได้ดำเนินการจัดประชุมครั้งสำคัญระดับอาเซียนไปแล้ว 2 ครั้ง ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้แก่ การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล (Special ASEAN Ministerial Meeting on Marine Debris) และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษ เรื่องการป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมาย (Special ASEAN Ministerial Meeting on Illegal Wildlife Trade) โดยมีรัฐมนตรีกลุ่มประเทศอาเซียน และผู้นำองค์กรระดับนานาชาติเข้าร่วมประชุมหารือ โดยประเทศไทยได้แสดงท่าทีและจุดยืนในการเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ และสร้างความร่วมมือในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนในระดับภูมิภาคนี้Ž” นายโสภณกล่าว

 

นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัด ทส. กล่าวว่า ประเทศไทยพยายามริเริ่มและผลักดันแนวทางและมาตรการต่างๆ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับอาเซียน โดยพัฒนาโครงการต้นแบบ และเสนอแนวคิดใหม่ เพื่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยรับเป็นประเทศผู้นำ ในแผนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอาเซียนสาขาต่างๆ

“ในปี 2562 นับเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยได้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนและเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 และ 35 รวมทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 30 ด้วย”Ž ปลัด ทส.กล่าว

นายวิจารย์ กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายนนี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพมหานคร สำหรับสาระการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมในเวทีการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น ทส.ได้จัดเตรียมเอกสารผลลัพธ์จากการประชุม 2 ครั้งที่ผ่านมา เสนอให้มีการรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 จำนวน 1 ฉบับ ได้แก่ ร่างปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน และเสนอเพื่อทราบ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ แถลงการณ์เชียงใหม่ของรัฐมนตรีอาเซียนที่รับผิดชอบการดำเนินการตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ และการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่าว่าด้วยการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมาย และกรอบปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล

“เราพยายามริเริ่มและผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยได้เป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมแห่งภูมิภาคอาเซียนทั้งในด้านศูนย์ข้อมูลข่าวสาร การบริหารจัดการในการอนุรักษ์ ส่งเสริม ฟื้นฟู และแก้ไขปัญหาในภาพรวมของภูมิภาคแล้ว จึงเป็นการจุดประกายความหวังที่เราจะได้เห็นกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความร่วมมือร่วมใจในการต่อสู้กับสภาวะวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคแห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผลลัพธ์จากการประชุมที่จะทราบได้ในไม่ช้า เราในฐานะประชากรของกลุ่มประเทศอาเซียนก็จะได้เห็นทิศทางด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียนต่อไปในอนาคต ประเทศไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนทั้งในด้านวิชาการ ความช่วยเหลืออื่นๆ รวมถึงสนับสนุนงบประมาณในการเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุม การรับเป็นประเทศผู้นำในแผนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอาเซียนสาขาต่างๆ ซึ่งหากมีการดำเนินงานที่เห็นผลเป็นรูปธรรมจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียนไปโดยปริยาย ซึ่งจะทำให้ทุกประเทศก้าวไปด้วยกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน”Ž ปลัด ทส.กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image