รพ.รามาฯ เผย ไทยพบป่วย “อิวารี่” จากบุหรี่ไฟฟ้า เจอไขมันในปอดที่ไม่เคยเกิดขึ้นในโรคอื่น

รพ.รามาฯ เผย ไทยพบป่วย “อิวารี่” จากบุหรี่ไฟฟ้า เจอไขมันในปอดที่ไม่เคยเกิดขึ้นในโรคอื่น

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวเรื่อง “ไทยพบป่วยปอดอักเสบรุนแรง (EVALI) อีก จากบุหรี่ไฟฟ้า หวั่นคนไม่รู้อันตราย” ว่า ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะวัยรุ่นมีความเข้าใจผิดร้ายแรงว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย โดยคิดว่าควัน ไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้า เป็นเพียงละอองน้ำ ที่มีสารปรุงแต่งกลิ่นหอม อ้างว่าสูบชนิดที่ไม่มีนิโคติน ซึ่งจริงๆ แล้วควันไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้ามีฝุ่นขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 มีสารเคมีที่เป็นอันตรายจากน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ที่ใช้สูบ เช่น ฟอร์มาร์ลดีไฮด์ ไดอะซิทิล และอโครลิน รวมทั้งโลหะหนักที่เป็นพิษ เช่น นิกเกิล ดีบุก และตะกั่ว ขณะที่ สารแต่งกลิ่นรสที่ถูกความร้อนจนเกิดเป็นไอระเหย ทำให้มีภาวะปอดอักเสบเฉียบพลัน และโรคอื่นได้

ที่สำคัญมากอีกประเด็นคือ บุคคลที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงที่จะพัฒนาต่อไปเป็นสูบบุหรี่ธรรมดาถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับคนไม่สูบบุหรี่ อย่างไรก็ตาม เมื่อปี พ.ศ.2562 แพทยสมาคมแห่งสหรัฐอเมริกา เรียกร้องประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นวิกฤตทางด้านสาธารณสุข มีผู้ป่วยรายงานปอดอักเสบที่มีโอกาสสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือ E-cigarette or Vaping product use Associated Lung Injury (EVALI) สูงถึง 450 ราย อาการรุนแรงจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจจำนวนมาก และเสียชีวิต 7 รายในระยะเวลาเพียงแค่ 2 เดือน ซึ่งตอนนี้ ยอดผู้ป่วยจนถึงวันที่ 18 ก.พ.64 เข้านอนรพ.แล้ว 2,807 ราย ผู้เสียชีวิต 68 ราย

ด้าน พญ.นภารัตน์ อมรพุฒิสถาพร หัวหน้าสาขาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤตระบบหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมา บริษัทบุหรี่จะโฆษณาว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีสารอันตรายต่อร่างกาย เช่น ทาร์ และ คาร์บอนมอนอกไซด์ ต่างจากบุหรี่มวน แต่บุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคติน, สารปรุงแต่งกลิ่น, Propylene glycol, vegetable glycerin และสารในกัญชา เช่น THC, CBD และ BHO แต่การศึกษาพบว่า บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด/หลอดลมอักเสบ มีสารก่อมะเร็งหลายชนิด มีโลหะหนักปนเปื้อน และโรคปอดอิวารี่ ทั้งนี้ รายงานเรื่อง Pulmonary illness related to e-cigarette use in Illinois and Wisconsin preliminary report ในผู้ป่วย 53 ราย อายุเฉลี่ยเพียง 19 ปี และมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่มีสาร THC ประมาณ 80% แต่มี 20% ที่ไม่ได้ใช้ THC ก็สามารถเกิดอิวารี่ได้ ซึ่ง 95% ของผู้ป่วยมีอาการ ไข้หนาวสั่น ไอ หายใจลำบาก ปวดเมื่อยตามตัว คล้ายการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย แต่พบว่า 77% ของผู้ป่วยมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ซึ่งทุกคนมีภาพ x-ray และ CT scan ปอดที่ผิดปกติ และถ้าเอาน้ำล้างปอดไปตรวจจะพบ น้ำล้างปอดพบเซลล์เม็ดเลือดขาวกินอนุภาคไขมัน โดยตรวจไม่พบหลักฐานการติดเชื้อ และไม่พบในการสูบบุหรี่ทั่วไปหรือโรคอื่นๆ

Advertisement

พญ.นภารัตน์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอิวารี่ในตอนแรก สมมติฐานว่าเกิดจากสารปรุงแต่งกลิ่นและรสในบุหรี่ไฟฟ้า เช่น vitamin E acetate ซึ่งสารเหล่านี้หลายชนิดไม่มีในบุหรี่มวน โดยสาร vegeteble glycerine เป็นสารที่มีรสหวาน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น สกัดจากน้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะพร้าว เมื่อโดนความร้อนจากอุปกรณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะระเหยเป็นไอน้ำ และถูกสูบเข้าปอด

“การเกิดอิวารี่จะเกิดในการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เป็นการสูบสิ่งแปลกปลอมเข้าในร่างกาย กระตุ้นให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง รวมถึงเกิดไขมันในปอด ซึ่งไม่พบในบุหรี่ทั่วไป จึงทำให้เกิดภาวะอิวารี่มากในกลุ่มวัยรุ่น และเกิดเร็วกว่าผู้ที่ใช้บุหรี่ทั่วไป” พญ.นภารัตน์ กล่าว

ขณะที่ นพ.ธนัญชัย เพชรนาค อาจารย์สาขาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤตระบบหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยอิวารี่ในไทย ว่า ผู้ป่วยอายุระหว่าง 20-30 ปี เดิมมีโรคประจำตัวเป็นกล้ามเนื้ออักเสบ ซึ่งรักษาและควบคุมอาการได้ดี สามารถทำงาน ทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการ เหนื่อย ไอ และมีไข้ โดยเริ่มมีอาการไอ และรู้สึกเหนื่อยง่ายมาประมาณ 1 เดือน อาการเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำงานได้ลดลง ต้องนั่งพักบ่อยขึ้น จึงมาตรวจที่ รพ. โดยอาการแรกรับที่ฉุกเฉิน พบออกซิเจนในเลือดต่ำมาก ต้องได้รับการรักษาเบื้องต้นด้วยออกซิเจนชนิดไฮโฟล์ว เอกซเรย์ปอดพบว่าผู้ป่วยมีภาวะปอดอักเสบรุนแรง จากนั้น แพทย์ซักประวัติเรื่องสูบบุหรี่ไฟฟ้า ตอนแรกผู้ป่วยให้การปฏิเสธ แต่แพทย์พบว่าผู้ป่วยเคยทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดเมื่อ 5 ปีก่อน พบลักษณะความผิดปกติของปอดที่พบในผู้ป่วยสูบบุหรี่ (respiratory bronchiolitis interstitial lung disease) จึงกลับไปซักประวัติเรื่องการสูบบุหรี่ใหม่ ผู้ป่วยจึงให้ประวัติว่าใช้บุหรี่ไฟฟ้าชนิดพอตแบบใช้แล้วทิ้งมาประมาณ 6 เดือน โดยใช้ทุกวัน ซื้อทางกลุ่มไลน์ ใช้ประมาณ 2 หลอดต่อสัปดาห์ ไม่ได้สูบบุหรี่ปกติ ไม่ได้ใช้กัญชา หรือสารเสพติดชนิดอื่นร่วมด้วย

Advertisement

“แพทย์สงสัยเป็นอิวารี่ จึงได้ทำการส่องกล้องหลอดลมและตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันการวินิจฉัย พบว่าผลตรวจเข้าได้กับภาวะอิวารี่ จึงเป็นรายแรกๆ ที่มีการพิสูจน์ชัดเจนซึ่งที่ผ่านมาก็เคยพบในไทย แต่ยังไม่มีการยืนยันโรค จากนั้นได้ให้ยาสเตียรอยด์กับผู้ป่วย 4 วัน และให้กลับไปรักษาตัวที่บ้านอีก 1 เดือนจากนั้นผู้ป่วยก็อาการดีขึ้น” นพ.ธนัญชัย กล่าว

นพ.ธนัญชัย กล่าวย้ำว่า สำหรับการรักษาจะขึ้นกับอาการของโรค ซึ่งถ้าอาการเกิดเร็วจะยิ่งทำให้โรคมีความรุนแรง ส่วนระยะการรักษาจะขึ้นอยู่กับสภาพของปอดในบางรายอาจจะเกิดพังผืด นั่นก็จะส่งผลกับระยะเวลาการรักษาและประสิทธิภาพของปอดหลังรักษา อย่างไรก็ตาม การเอกซเรย์ปอดทั่วไปจะไม่สามารถเห็นภาวะของอิวารี่ได้ จึงแนะนำให้สังเกตอาการร่วมด้วย ส่วนแพทย์ที่พบผู้ป่วยปอดอักเสบก็ขอให้ซักถามประวัติการใช้บุหรี่ไฟฟ้าให้ชัดเจน เพราะพบว่าผู้ป่วยบางรายยังปกปิดข้อมูล

“ความเชื่อในการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกสูบบุหรี่ทั่วไป CDC ก็ระบุชัดเจนว่าไม่สามารถใช้ได้ จึงแนะนำให้ใช้ยาหยดบุหรี่มากกว่า ส่วนผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าอยู่แล้วก็ขอให้เลิกใช้บุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ทั่วไป” นพ.ธนัญชัย กล่าว

อ่านข่าวอื่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image