สุจิตต์ วงษ์เทศ : ชุดไทยลายดอกเล่นสงกรานต์ ประเพณีใหม่เพื่อการท่องเที่ยว

ชุดไทยหรือเสื้อคอกลมลายดอก แบบแผนนี้ไม่เคยพบอยู่ในสังคมชาวไทยสยามยุคก่อนๆ เช่น ยุคอยุธยา

ชุดไทยหรือเสื้อคอกลมลายดอกที่ทางการกำหนดให้ต้องแต่งในสงกรานต์ แบบแผนนี้ไม่เคยพบอยู่ในสังคมชาวไทยสยามยุคก่อนๆ เช่น ยุคอยุธยา

จึงเป็นแบบแผนใหม่ล่าสุดของทางการที่ต้องการแสดงตนเป็นไทยแท้, ไทยทั้งแท่ง, ไทยทั้งดุ้น, ไทยเดิมตั้งโด่ ฯลฯ เพื่อการตลาดของการท่องเที่ยว

สงกรานต์สมัยก่อนพวกไพร่แต่งตัวตามมีตามเกิด หรือที่คิดว่างามของยุคนั้นๆ มีร่องรอยอยู่ในนิราศเดือน ของเสมียนมี (กวีสมัย ร.3) สะท้อนรสนิยมเล่นสงกรานต์ของคนในยุคต้นกรุงเทพฯ ว่าแต่งตัวตามสะดวกสบาย และตามลักษณะชนชั้น เช่น

“ล้วนแต่งตัวทั่วกันวันสงกรานต์ ดูสะคราญเพริศพริ้งทั้งหญิงชาย”, “ล้วนแต่งตัวเต็มงามทรามสวาท ใส่สีฉาดฟุ้งเฟื่องด้วยเครื่องหอม”, “มีเท่าไรใส่เท่านั้นฉันผู้หญิง ดูเพริศพริ้งเพราเอกเหมือนเมขลา”, “ประดับพร้อมแหวนเพชรเม็ดมุกดา” ฯลฯ

Advertisement

ไม่มีตรงไหนเลยที่จะกำหนดให้แต่งชุดไทยเสื้อคอกลมลายดอกเหมือนทางการยุคนี้มีระเบียบออกมา

เสื้อ หมายถึง เครื่องสวมใส่กายท่อนบนของคนพื้นเมืองอุษาคเนย์ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน

ถ้าจะมีก็เริ่มหลังรับอารยธรรมอินเดียและจีน พบร่องรอยในนิทานกำเนิดรัฐฟูนัน เมื่อพราหมณ์จากอินเดียทำพิธีนุ่งผ้าให้นางใบมะพร้าวหัวหน้าเผ่าพื้นเมืองเป็นหญิง ซึ่งนุ่งเตี่ยวหุ้มอวัยวะเพศเท่านั้น (เหมือนจีสตริงทุกวันนี้)

เสื้อคอกลม ไม่ใช่ประเพณีพื้นเมืองอุษาคเนย์ และไม่ใช่ไทย แต่รับจากที่อื่น เช่น อินเดีย, จีน

ลายดอก ที่แพร่หลายทุกวันนี้ มีต้นแบบจากประเพณีตะวันตกเมื่อไม่นานมานี้ เช่น เสื้อฮาวายจากสหรัฐ ฯลฯ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image