การเมืองหลัง ‘คำถามพ่วง’ นัยยะ’เขาอยากอยู่ยาว’?

หมายเหตุ – นักวิชาการให้ความเห็นกรณีคำถามพ่วงประชามติที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง กกต.ให้ทำประชามติพร้อมร่างรัฐธรรมนูญ จะมีผลต่อการเมืองประเทศอย่างไร…

ยอดพล เทพสิทธา

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

กรณีคำถามพ่วงประชามติที่ผ่านจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น คิดว่าถ้าสมมุติร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติจะนำไปสู่การรับรองความชอบธรรมของนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอกที่มาจากการแต่งตั้งของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไปโดยปริยาย หรือจะพูดง่ายๆ ถือเป็นการรับรองนายกฯคนนอกจากองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้ส่วนตัวคิดว่าโอกาสที่จะรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติมีค่อนข้างน้อย เพราะประชาชนไม่อยากให้ประเทศเดินย้อนหลังเข้าคลองไปเหมือนก่อนปี 2540 อีกแล้ว ที่ให้นายกฯเป็นคนสรรหา ส.ว. และให้ ส.ว.เป็นผู้โหวตเลือกนายกฯอีกที คิดว่าถ้าอยากให้เป็นเช่นนี้ประชาชนคงไม่เอาอีกแล้ว

Advertisement

สำหรับคำถามพ่วงประชามติดังกล่าวนั้น คือเป็นความต้องการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่แล้ว ประกอบกับความต้องการดังกล่าวไม่สามารถเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญได้โดยตรง ต้องหาฉันทามติจากแนวทาง

ดังกล่าว เนื่องด้วยแนวทางที่ผู้มีอำนาจกำลังทำอยู่นี้ค่อนข้างจะเป็นไปได้ที่สุดแล้ว เพื่อให้ได้ฉันทามติอย่างที่ง่ายที่สุด

ขณะเดียวกันถ้าเขียนถ้อยคำแบบคำถามพ่วงประชามติแล้วไปใส่ในรัฐธรรมนูญก็น่าจะไม่ผ่านประชามติ เพราะฉะนั้นทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จึงจัดทำคำถามแบบแยกชุดเช่นนี้ออกมา ถ้าสมมุติผ่านประชามติแสดงว่าประชาชนเห็นด้วย จากนั้นค่อยไปบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญอีกที

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ถ้ายังคงเป็นไปในแนวทางนี้สถานการณ์ต่อไปหลังการจัดทำประชามติประเทศก็ยังสงบสุขอยู่เพราะรัฐบาล และ คสช.ยังคงกุมมาตรการทางด้านกฎหมาย และคำสั่ง รวมทั้งประกาศอะไรต่างๆ ไว้อยู่ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรหรอก

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์

มีแน่นอน เพราะตัวคำถามพ่วงประชามติขัดกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องด้วยการเลือกนายกฯต้องมีความเชื่อมโยงกับสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าจะเป็นนายกฯคนนอกแต่มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แต่การให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นคนเลือกนายกฯได้จะก่อให้เกิดปัญหา 3 ประการ กล่าวคือ 1.ประชาชนไม่มีทางรู้ว่า ส.ว. 250 คนจะเลือกใครเป็นนายกฯ 2.ประชาชนไม่มีทางรู้ล่วงหน้าว่านายกฯคนนอกรวมทั้งคณะรัฐมนตรีมีนโยบายอย่างไร บริหารประเทศแบบใด และ 3.แนวทางนี้จะเปิดทางให้อำนาจนอกระบบกระบวนการเลือกตั้งได้โดยตรง ทั้งนี้การเลือกตั้งแทบจะหมดความหมายไปสิ้นเชิง เพราะต่อให้ประชาชนเลือกนายกฯจากที่พรรคการเมืองเสนอ อาจจะไม่ได้เป็นนายกฯก็ได้ หากไปเจอเสียงของ ส.ว.ลากตั้ง 250 คน ที่เสนอชื่อนายกฯเอง ถือเป็นเสียงที่มหาศาลมาก ทั้งยังทำให้เกิดพรรคราชการที่ส่งผลให้กระบวนการเลือกตั้งถูกลดบทบาทไปทันที

สำหรับแนวโน้มในช่วงประชามตินั้น คิดว่าประเด็นหลักคงไม่ใช่คำถามพ่วงประชามติ แต่ปัจจัยที่ประชาชนจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ นั่นเป็นเพราะ 1.ความไม่พอใจเนื้อหาสาระ นายกฯคนนอก และ ส.ว.สรรหา 2.ความไม่พอใจบรรยากาศการจัดทำรัฐธรรมนูญ และ 3.ความไม่พอใจบรรยากาศในช่วงการจัดทำประชามติที่มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก พร้อมทั้งมีมาตรการให้ข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียว ซึ่งคิดว่า 3 เรื่องนี้แหละจะเป็นเหตุให้ประชาชนอาจตัดสินใจไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นคำถามพ่วงประชามติอาจจะไม่มีความรุนแรงเท่าเหตุผลที่อธิบายไป แต่หลังจากนี้ต่อไปจะเป็นอย่างไร ผมไม่ทราบเพราะยังเป็นประเด็นใหม่ที่เพิ่งเสนอขึ้นมา

สำหรับการเสนอคำถามพ่วงออกมาคือความต้องการอยู่ในอำนาจของ คสช.หรือไม่นั้น ผมคิดว่าใช่ อีกทั้งเป็นการอยู่ในอำนาจที่ยืดเยื้ออีกด้วย เพราะ ส.ว.จะอยู่ในตำแหน่ง 5 ปี แปลว่าสามารถเลือกนายกฯได้ 2 คนเลย อย่างไรก็ตามคิดว่าประชาชนไม่น่าจะยอมรับได้ในเมื่อทิศทางของประเทศเราผ่านเรื่องนายกฯคนนอกมาแล้ว จนเกิดธรรมเนียมนายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง และต้องเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง แต่การจะไปเปลี่ยนธรรมเนียมนี้ให้ ส.ว.เป็นผู้เลือกนายกฯ ถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเลย ทั้งยังเป็นการประเมินพลังประวัติศาสตร์ของประชาชนต่ำไป และผิดพลาดอย่างรุนแรง

ส่วนการที่ชนชั้นนำประเมินบริบททางประวัติศาสตร์การเมืองผิดเช่นนี้ อาจจะเป็นความเสี่ยงทางการเมืองหรือไม่นั้น ตอนนี้ยังมองไม่ออกว่าเป็นไง แต่ว่าเงื่อนไขที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยง และความตึงเครียดทางการเมืองมีชัดเจนแล้ว ส่วนรูปแบบจะออกมาอย่างไรเราต้องประเมินกันต่อไป

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คงมีปัญหาในแง่เทคนิคกฎหมายที่ตกลงแล้วจะเอาอย่างไรกันแน่ เพราะเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญกับคำถามพ่วงประชามติไม่สอดคล้องกันเลย แล้วในที่นี้จะยึดถืออะไรเป็นหลัก เพราะฉะนั้นต้องอธิบายให้ชัดเจน อาทิ ถ้าประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ และเห็นด้วยกับคำถามดังกล่าว แล้วจะมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามคำถามหรือไม่ ในทางตรงกันข้ามถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่เอาตัวคำถามพ่วง ตกลงแล้วจะเอาอย่างไง ดังนั้นคิดว่าตัวคำถามพ่วงมีปัญหาในตัวสถานะของมันเอง

นอกจากนี้ยังมีปัญหาทางการเมืองเกิดขึ้นตามมาอีก เพราะว่าตอนนี้เห็นชัดเจนว่ากลุ่มผู้มีอำนาจ และเครือข่ายผู้มีอำนาจมีความต้องการอยู่ในอำนาจต่อไป โดยนัยยะของคำว่าสืบทอดอำนาจอย่าไปมองแค่ตัวบุคคลเพียงคนเดียว หากแต่นัยยะของผมคิดว่าเป็นการสืบทอดอำนาจผ่านเครือข่าย และสถาบัน ฉะนั้นถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านแปลว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. อาจจะไม่อยู่ในอำนาจก็ได้ แต่อาจจะเห็นคนเครือข่ายอำนาจอยู่ต่อ ไม่ว่าจะ ส.ว.ลากตั้ง ตลอดจนกองเชียร์ฝ่ายรัฐประหาร เป็นต้น

ส่วนที่อาจมีการมองว่าหากยังคงยึดคำถามดังกล่าวจะกลายเป็นแรงกดดันทางการเมืองหรือไม่นั้น ในเมื่อเครือข่ายผู้มีอำนาจเข้ามามีอำนาจอยู่ต่อ แต่ก็เป็นคนหน้าเดิมๆ แต่พรรคการเมืองทั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คงไม่ยอมรับในแนวทางนี้ เพราะจะทำให้นักการเมืองทำอะไรได้ยาก ถ้าดูตัวร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงประชามติคิดว่าน่าจะมีเจตนาชัดเจนที่ผู้มีอำนาจตอนนี้ไม่ต้องการให้ระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าไปได้ เพียงแต่ต้องการให้มีอำนาจแฝงที่กำกับการเมืองได้อย่างกว้างขวาง

ส่วนจะเป็นเหตุผลให้ไม่ผ่านประชามติหรือไม่นั้น คิดว่าน่าจะเป็นเหตุสำคัญ เพราะจะทำให้พรรคการเมืองอย่างพรรค ปชป.อาจจะไตร่ตรองมากขึ้นว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ ขณะเดียวกันถ้าคิดว่าผู้มีอำนาจไม่สนใจกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา เพียงแค่มองมิติว่าบ้านเมืองกำลังสงบสุข พร้อมทั้งควบคุมความคิดเห็นได้นั้น ถือเป็นความคิดที่อันตราย เพราะฉะนั้นชนชั้นนำคงต้องประเมินประเด็นนี้ให้ลึกซึ้งกว่านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image