ยานอวกาศจูโน (1)

ยานอวกาศจูโน (Juno spacecraft) ถูกส่งออกจากโลกไปเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2011 และกำลังจะเดินทางไปถึงดาวพฤหัสฯกลางปีนี้ ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2016 โดยใช้เวลาเดินทางนานเกือบ 5 ปี

ยานอวกาศจูโน เป็นยานแบบ orbiter ซึ่งจะโคจรไปรอบๆ ดาวพฤหัสฯ 33 รอบภายในระยะเวลาประมาณ 1 ปี เพื่อศึกษาดาวพฤหัส มันเป็นยานอวกาศลำที่สองที่มนุษย์ส่งไปโคจรรอบดาวพฤหัสฯ ก่อนหน้านี้ยานกาลิเลโอได้โคจรรอบดาวพฤหัสฯอยู่นานถึง 8 ปี ตั้งแต่ปี 1995-2003 ส่วนยานลำอื่นๆ เพียงแค่บินเฉียดเข้าใกล้แล้วผ่านเลยไป

ดังนั้นก่อนที่ยานจูโนจะเดินทางไปถึงดาวพฤหัสและเริ่มต้นภารกิจ เรามาทำความรู้จักกับมันสักหน่อยดีกว่า

fun08100459p2

Advertisement

เป้าหมายหลักๆ ของยานลำนี้คือ ศึกษาดาวพฤหัสฯ เพื่อทำความเข้าใจการเกิดและวิวัฒนาการของดาวเคราะห์ดวงนี้, ศึกษาใต้ชั้นเมฆที่ปกคลุมดาวพฤหัสฯ ซึ่งนักดาราศาสตร์เชื่อว่ามีข้อมูลที่เชื่อมโยงถึงการเกิดระบบสุริยะได้ นอกจากนี้ความเข้าใจถึงดาวพฤหัสฯอย่างละเอียดจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเข้าใจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีลักษณะคล้ายดาวพฤหัสฯ ซึ่งนักดาราศาสตร์ค้นพบไปแล้วมากมายได้ด้วย

ยานลำนี้มีอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมกับภารกิจ ซึ่งจะศึกษาแก่นดาวเคราะห์ที่เป็นของแข็ง, ทำแผนที่สนามแม่เหล็กของดาวพฤหัสฯ, วัดองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศ รวมทั้งสังเกตแสงออโรราบนดาวเคราะห์ดวงนี้

ชื่อ จูโน ของยานลำนี้มาจากชื่อเทพเจ้าสตรีในตำนานกรีกโรมัน เมื่อเทพจูปิเตอร์ดึงผ้าคลุมซึ่งเป็นเมฆมาปกปิดบางสิ่ง แต่เทพจูโนผู้เป็นภรรยากระชากผ้านั้นออกและเปิดเผยความจริงของเทพจูปิเตอร์ได้

Advertisement

ยานอวกาศที่สำรวจระบบสุริยะชั้นนอกอย่างดาวพฤหัสฯปกติแล้วจะใช้แหล่งพลังงานเป็นกัมมันตรังสีที่นำไปกับยาน เนื่องจากที่ระยะทางไกลมากๆ แสงอาทิตย์จะอ่อนลงมากจนโซลาร์เซลล์ไม่สามารถใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยานอวกาศจูโนใช้โซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่สามแผงซึ่งใหญ่ที่สุดสำหรับภารกิจสำรวจดาวเคราะห์ ในปัจจุบันนี้ยานอวกาศจูโนทำสถิติเป็นยานที่ใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ที่เดินทางออกจากโลกไปได้ไกลที่สุดแล้ว

โซลาร์เซลล์นั้นมีข้อดีหลายอย่าง อย่างที่ชัดเจนคือ กัมมันตรังสีนั้นเป็นธาตุหายากราคาแพง และหากจรวดที่ส่งยานอวกาศไปกับกัมมันตรังสีเกิดอุบัติเหตุระเบิดขึ้นมาอาจเกิดการปนเปื้อนในชั้นบรรยากาศโลกเราได้

ถ้าภารกิจยานอวกาศจูโนสำเร็จราบรื่นก็จะเป็นการกรุยทางให้กับยานอวกาศสำรวจดวงจันทร์ไอโอของดาวพฤหัสฯในอนาคต

อาทิตย์หน้าจะนำเรื่องอุปกรณ์ที่น่าสนใจบนยานอวกาศลำนี้มาเล่าให้ฟังนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image