สุจิตต์ วงษ์เทศ : ชุดประจำชาติที่เพิ่งสร้างใหม่

ขบวนเสียมกุก( เสียมก๊ก หรือก๊กสยาม) เจ้านายและไพร่พลนุ่งถุงเหมือนโสร่ง ใส่เสื้อแนบเนื้อ บนหัวมีเครื่องประดับเป็นดอกไม้ใบไม้ มีขนาดและลักษณะต่างกันตามฐานะทางสังคม อยู่ในขบวนเกียรติยศจากบ้านเมืองเครือญาติใกล้ชิดของกษัตริย์กัมพูชา ภาพสลักราว พ.ศ. 1650 บนระเบียงปราสาทนครวัด

ไทยเป็นอาณานิคมทางอ้อม ความทันสมัยของไทยจึงเป็นไปตามแบบของประเทศในอาณานิคม
ชุดไทยดั้งเดิมไม่เคยมี เพิ่งมีสมัยหลังๆ เมื่อปลุกสำนึกชาตินิยมหลังเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยาม เป็นไทย สมัยรัฐบาล ป. พิบูลสงคราม ราว พ.ศ. 2482
มีผู้รู้ตั้งข้อสังเกตว่าชุดไทยมีขึ้นเลียนแบบชุดประจำชาติของประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้น เมื่อประกาศอิสรภาพแล้วต่างแสวงหาอัตลักษณ์เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวร่วมกัน ซึ่งง่ายที่สุดและเร็วที่สุดคือสร้างชุดประจำชาติ

ไทยอวดอ้างว่าไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นชาติตะวันตก แต่มีปมอย่างเดียวกับพวกตกเป็นเมืองขึ้น เลยต้องสร้างชุดไทยไว้ยึดเหนี่ยวด้วย
ขณะเดียวกันก็ขายได้ในตลาดการท่องเที่ยว ซึ่งเท่ากับเล่นละครย้อนยุคเพื่อการตลาด

ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย เน้นว่า สยาม คือ ไทย
ถ้าจริงตามนี้ เครื่องแต่งกายเก่าสุดของไทยก็นุ่งถุงหรือโสร่งทั้งหญิงและชาย โดยมีดอกไม้และใบไม้เป็นอุบะประดับบนหัว พบในภาพสลักเสียมกุกที่ปราสาทนครวัด ราว พ.ศ. 1650 (ก่อนมีรัฐสุโขทัยเกือบร้อยปี)

แต่หลักฐานวิชาการรอบด้าน ยืนยันสอดคล้องกันว่าชาวสยามประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ร้อยพ่อพันแม่ ไม่ใช่ไทยพวกเดียว แต่มีภาษากลางใช้สื่อสารกันด้วยภาษาไทย (หรือไท-กะได, ไทย-ลาว)
เครื่องแต่งตัวของคนทุกชาติพันธุ์ เป็นไปตามความเชื่อของแต่ละกลุ่มที่มีต่างกัน ตั้งแต่ต่างกันเล็กน้อย จนถึงต่างกันมาก

Advertisement

ทั้งหมดไม่ใช่ชุดประจำชาติ เพราะยุคนั้นไม่มีสำนึกรัฐชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image