นับถอยหลัง วันประชามติ ร่าง รธน. ชี้ชะตาคืนสุขคนไทย

การที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ยกมือกันพร้อมเพรียงในการตั้งคำถามพ่วงประชามติเป็นเรื่องน่าสนใจ

จำนวนคะแนนเสียงเอกฉันท์ 152 ต่อ 0 แสดงถึงปึกแผ่นของฝั่งแม่น้ำ 4 สายที่ประกอบด้วย คสช. ครม. สปท. และ สนช. เป็นอย่างดี

คำถามที่ว่า ส.ว.ควรจะร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ นั้น ย่อมมีนัยยะ

เพราะจำนวน ส.ว. 250 คนตามบทเฉพาะกาล คือคนที่ คสช. คัดเลือกในรอบสุดท้าย

Advertisement

และจำนวน ส.ว. 250 คน เมื่อประกบกับ ส.ส. จำนวน 500 คนก็ถือว่ามีสัดส่วนหนักแน่นพอควร

ยิ่งในช่วงที่ยังไม่มี ส.ว. รัฐธรรมนูญระบุให้ สนช. ทำหน้าที่แทนไปพลางก่อน

ยิ่งการเสนอให้ตั้งคำถามพ่วงประชามติครั้งนี้ สนช.ลงคะแนนพรึบ..เอกฉันท์

Advertisement

ยิ่งตอกย้ำอำนาจของ คสช. ที่เปล่งประกายแจ่มชัด

ฉายจับไปที่การคัดเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น กระบวนการทั้งหมดต้องผ่านการ รับรอง จากประชาชนเสียก่อน และวิธีที่จะ รับรอง อย่างแจ่มแจ้งก็คือการทำประชามติ

ทั้งนี้หากประชาชนเสียงส่วนใหญ่รับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ย่อมทำให้ประเทศไทยในสายตาต่างชาติแลดูมีราศีขึ้น

และยิ่งการประชามติระบุว่า สมควรให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย … การเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ ส.ว.ก็จะดูมีความศักดิ์สิทธิ์

ดังนั้นกระบวนการส่งเสริมให้ประชามติ รับรอง จึงเริ่มขึ้นอย่างเข้มข้น

สัมผัสได้จากการสั่งให้ฝ่ายทหารเข้ามาช่วยทำความเข้าใจกับประชาชน

ให้เข้าใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ

และต่อไปอาจจะรวมถึงการทำให้เข้าใจคำถามของ สนช. เรื่อง ส.ว.โหวตเลือกนายกฯด้วย

ขณะเดียวกัน การออก พ.ร.บ.ประชามติ โดยมีบทบัญญัติเอื้อต่อการสกัดกลุ่มต้าน

บทบัญญัติที่ระบุว่าการรณรงค์ให้รับรองหรือไม่รับรองร่างรัฐธรรมนูญสุ่มเสี่ยงมีความผิด

ทั้งบุคคล และกลุ่มคน อาจมีโทษถึงจำคุก

ส่งผลให้การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญจำกัดจำนวนครั้งและเวลาโดยมี กกต. เป็นเจ้าภาพ

ดังนั้น เมื่อรัฐเป็นผู้ ให้ความรู้ ประชาชน แต่กลุ่มเห็นต่างไม่สามารถรณรงค์ได้

จึงคิดกันว่า…โอกาสที่ประชามติจะผ่านน่าจะมีสูง

อย่างไรก็ตาม แม้วิธีการดังกล่าวชวนให้คิดว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีโอกาสผ่านประชามติมาก

แต่ก็ใช่ว่าโอกาสไม่ผ่านจะไม่มีเสียเลย

ทั้งนี้เพราะเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญบางส่วนกระทบต่อสิทธิเดิมของบุคคลบางกลุ่ม ยกตัวอย่างเช่น การจำกัดการเรียนฟรี ย่อมทำให้ผู้เสียสิทธิไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ

หรือข้อความในร่างรัฐธรรมนูญที่ระบุอุปถัมภ์พุทธ ?เถรวาท? ก็เกิดข้อสงสัยว่าพุทธนอกจากเถรวาทจะได้รับผลกระทบอะไร

หรือการสกัดกั้นกลุ่มการเมืองเดิมไม่ให้เข้าสู่เส้นทางสายนี้ ก็อาจทำให้กลุ่มการเมืองค้าน

นี่ยังไม่รวมถึงกลุ่มมวลชน กลุ่มประชาชน ที่มีจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญชัดแจ้ง

กลุ่มเหล่านี้อาจจะ รับรอง หรือ ไม่รับรอง ก็ได้

ผลประชามติจะออกมาเช่นไรจึงยังต้องลุ้น

ทุกอย่างยังต้องรอวันที่ 7 สิงหาคม

โอกาสที่ประชามติจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้น รัฐบาลเองก็ยอมรับว่ามี

ยิ่งเมื่อ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่แย้มว่า มีแผน 2 หากแผนแรกสะดุด

ตอกย้ำว่า คสช. ได้เตรียมการไว้แล้ว

แผน 2 ดังว่าคือการนำรัฐธรรมนูญ และร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา รวม 4 ฉบับส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเลือก

เลือกแล้วปรับเปลี่ยนเนื้อความเพื่อนำไปใช้

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่สำรองนี้ ถูกเรียกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช.

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช.ที่ร่ำลือกันว่า เข้มข้นยิ่งกว่าฉบับนายมีชัย

ขั้นตอนตามแผน 2 นี้กำหนดขึ้นก็เพื่อให้ทุกอย่างเดินตามโรดแมปเดิม

เลือกตั้งภายในปี 2560

จวบจนถึงบัดนี้สิ่งที่แน่ชัดที่สุดคือการยืนยันโรดแมป พล.อ.ประยุทธ์

ต้องมีเลือกตั้งในปี 2560

ส่วนเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะกติกาการเลือกตั้ง ยังไม่มีอะไรแน่นอน

แม้ขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยจะอวดโฉมสู่สาธารณะแล้ว

เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่มี 279 มาตรา มีบทเฉพาะกาล ซึ่ง กรธ.แก้ไขตามใจ คสช.ไปแล้ว

แต่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญก็ยังไม่แน่นอนอยู่ดี จนกว่าการประชามติจะผ่านพ้น

ทั้งนี้เพราะ สนช. ได้ตั้งคำถามพ่วงเพื่อขอประชามติเพิ่มอำนาจให้ ส.ว.

จากเดิมที่ไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี กลายเป็นให้อำนาจโหวตเลือกนายกฯด้วย

ถ้าประชาชนลงประชามติเห็นด้วยก็ต้องนำเนื้อหาไปแก้ไขในร่างรัฐธรรมนูญ

ยิ่งถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยไม่ผ่านประชามติ เนื้อหากติกา คืนความสุข ก็ยิ่งต้องเปลี่ยน

เปลี่ยนด้วยฝีมือ พล.อ.ประยุทธ์และ คสช.

อย่าลืมว่าเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้มีความสำคัญ เพราะเป็นกติกาที่ต่างประเทศเฝ้ามองอยู่

เนื้อหาภายในร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นสิ่งบ่งบอกสิทธิเสรีภาพของประชาชน

สิทธิเสรีภาพประชาชนจะบ่งบอกระดับความเข้มข้นของประชาธิปไตย

ระดับความเข้มข้นประชาธิปไตยจะย้อนกลับไปสู่การประเมินผลของสังคมโลก

นำไปสู่การทำการค้า การทำธุรกิจระหว่างไทยกับต่างชาติ

นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น

และนำไปสู่ความสุขของประชาชนในที่สุด

ดังนั้น เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ จึงมีนัยยะสำคัญต่อภารกิจ คืนความสุข ของ คสช.

แต่วันนี้้เนื้อหายังไม่นิ่ง ความสุขของคนไทยจึงยังไม่แน่…

ทุกอย่างยังต้องรอ

รอให้ถึงวันที่ผลการลงประชามติออกมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image