‘เคลท์-4เอบี’ โลกที่มี 3 ดวงอาทิตย์

ภาพ-NASA-JPL-Caltech

ทีมวิจัยจากศูนย์ศึกษาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ฮาวาร์ด-สมิธโซเนียน ในสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลงานการค้นพบทางดาราศาสตร์ใหม่ในวารสารวิชาการด้านดาราศาสตร์ “ดิ แอสโตรโนมิคอล เจอร์นัล” ฉบับล่าสุด ระบุว่า ระบบดาวเคลท์ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเชื่อกันว่าเป็นระบบดาวคู่ หรือไบนารี สตาร์ นั้น แท้จริงแล้วมีดาวฤกษ์อยู่ในระบบถึง 3 ดวง ส่งผลให้ดาวเคราะห์ “เคลท์-4เอบี” ซึ่งทีมวิจัยกำลังศึกษาอยู่นั้นกลายเป็นดาวเคราะห์ในระบบดาวพหุ หรือระบบดาวหลายดวงไปในที่สุด

ระบบดาวที่มีดาวฤกษ์อยู่ภายใน 3 ดวง โดยมีวงโคจรที่เสถียรอยู่ในระบบนั้นตรวจสอบพบได้ค่อนข้างยาก ก่อนหน้านี้เคยมีการค้นพบมาแล้วเพียง 3 ระบบ ทำให้ระบบดาวใหม่นี้เป็นเพียงระบบดาว 3 ดวงที่เป็นที่รู้จักกันเป็นระบบที่ 4 เท่านั้น

ระบบดาวที่ค้นพบใหม่ ซึ่งเดิมเชื่อกันว่าเป็นระบบดาวคู่ เคลท์-เอบี นั้น มีดาวฤกษ์ “เคลท์-เอ” อยู่บริเวณใจกลางทำหน้าที่เหมือนเป็นดวงอาทิตย์ของระบบ ในเวลาเดียวกันก็มี “เคลท์-บี” และ “เคลท์-ซี” เป็นดาวฤกษ์อีก 2 ดวง ซึ่งต่างโคจรอยู่โดยรอบซึ่งกันและกัน โดยใช้เวลาราว 30 ปี จึงโคจรครบ 1 รอบ แต่ขณะเดียวกันดาวฤกษ์ทั้ง 2 ก็เคลื่อนตัวไปตามวงโคจรที่ชัดเจนรอบ “เคลท์-เอ” พร้อมกันไปด้วย โดยประเมินว่าดาวฤกษ์ทั้งสองใช้เวลาประมาณ 4,000 ปี จึงสามารถโคจรรอบ “เคลท์-เอ” ได้หนึ่งรอบ

ระบบดาวเคลท์นั้นนักดาราศาสตร์รู้จักกันมานานหลายปีแล้ว เดิมทีนักดาราศาสตร์ระบุว่า เคลท์-บี และเคลท์-ซี นั้นเป็นดาวฤกษ์ดวงเดียว แต่ทีมวิจัยฮาวาร์ด-สมิธโซเนียน ซึ่งกำลังศึกษาดาวเคราะห์ “เคลท์-4เอบี” ดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ในระบบดาวนี้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ซึ่งมีระบบทำงานอัตโนมัติแบบเดียวกับหุ่นยนต์ ใน 2 ทวีปตรวจสอบพบว่าเป็นดาวฤกษ์สองดวงถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกจากกล้องในแอริโซนา อีกครั้งจากกล้องในแอฟริกาใต้

Advertisement

ทีมวิจัยค้นพบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ระหว่างพยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับดาวเคราะห์ เคลท์-4เอบี ดาวเคราะห์ที่เต็มไปด้วยก๊าซขนาดใกล้เคียงกันกับดาวพฤหัสบดี ซึ่งนับว่ามีขนาดใหญ่มาก แต่กลับโคจรอยู่ในระยะใกล้กับดาวฤกษ์ของระบบมาก โดยใช้เวลาราว 3 วันก็สามารถโคจรรอบดาวฤกษ์ของระบบได้ครบ 1 รอบ ทั้งๆ ที่โดยทฤษฎีแล้ว “เคลท์-4เอบี” ควรจะอยู่ห่างออกมามากกว่านั้น การค้นพบระบบดาวคู่ (เคลท์-บี กับเคลท์-ซี) อยู่ภายในระบบดาวเคลท์ครั้งนี้ทำให้ทีมวิจัยสันนิษฐานว่า ระบบดาวคู่นี้เองที่ส่งอิทธิพลต่อ “เคลท์-4เอบี” ทำให้เข้าไปอยู่ใกล้กับดาวฤกษ์เคลท์-เอ ที่เป็นดวงอาทิตย์ของระบบมากถึงขนาดนั้น

ทีมวิจัยยังระบุด้วยว่า ถ้าหากเราขึ้นไปยืนอยู่บนพื้นผิวของดาวเคราะห์ เคลท์-4เอบี เราจะเห็นดวงอาทิตย์ของระบบ คือ เคลท์-เอ มีขนาดใหญ่มหึมา ใหญ่กว่าที่เราเห็นดวงอาทิตย์จากพื้นผิวโลกถึง 40 เท่า ในเวลาเดียวกันผู้ที่อยู่บนเคลท์-4เอบี ก็จะมองเห็นดาวฤกษ์อีก 2 ดวงพร้อมกันไปด้วย แต่ในขนาดที่เล็กกว่าและแสงจ้าน้อยกว่า โดยคาดว่าจะไม่สว่างกว่าเราเห็นดวงจันทร์จากพื้นโลกแน่นอน

การค้นพบครั้งนี้สร้างความตื่นเต้นให้กับแวดวงดาราศาสตร์ตรงที่ระบบดาวเคลท์จะกลายเป็นระบบดาวหลายดวงที่อยู่ใกล้โลกเรามากที่สุด มากกว่าระบบดาว 3 ดวงอาทิตย์ระบบอื่นๆ

Advertisement

ส่งผลให้ง่ายต่อการศึกษาทั้งดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ในระบบมากกว่าระบบอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image