จับกระแสคลื่น ‘คอมเมนต์’ กรณีรวบ “จ่านิว” กลางดึก นักวิชาการ-เน็ตไอดอล ร่วมออกโรง

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง หลังเกิดเหตุ ‘อุ้ม’ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ ‘จ่านิว’ นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ และสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โดยกลุ่มชายลึกลับ 8 นาย ที่ขับรถกระบะปิดบังป้ายทะเบียน บุกรวบตัวจ่านิวไปจากบริเวณใกล้ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิตในเวลากลางดึกของคืนวันที่ 20 มกราคม ก่อนที่คสช.จะออกมายอมรับว่าเป็นผู้ดำเนินการดังกล่าวเอง เนื่องจากจ่านิวมีพฤติกรรมยั่วยุ แต่ยืนยันว่าเป็นไปด้วยความ ‘ละมุนละม่อม’

ด้านนายกตู่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า ปฏิบัติการอุ้ม เกิดจากจ่านิวทำผิดกฎหมายหลายคดี

หลังถูกนำตัวไปยัง สน.นิมิตรใหม่และสน.รถไฟธนบุรี เจ้าของหมายจับที่ออกโดยศาลทหารกรุงเทพฯ ในข้อหามั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.กรณีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ เมื่อ 7 ธันวาคม 2558

แม้ต่อมาศาลทหารจะไม่รับฝากขังจ่านิว (และเพื่อน) ที่ถูกจับในภายหลัง แต่เรื่องราวของการ ‘อุ้ม’ จ่านิว ก็เป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างล้นหลาม โดยบุคคลในหลากหลายแวดวง ไม่ว่าจะเป็นนักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ นักวิชาการด้านศาสนา แพทย์ นักเขียน หรือแม้แต่เน็ตไอดอล ก็ออกมาร่วมวง ‘คอมเมนต์’ อย่างมากมาย กลายเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์สังคมที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

Advertisement

 

คนทำผิดกม. จะทำอย่างไรก็ได้ ?

เริ่มที่รุ่นใหญ่อย่าง เกษียร เตชะพีระ ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นถึงกรณีดังกล่าวว่า กฎหมายที่นายก ฯ กล่าวหาว่าจ่านิวและพวกละเมิดนั้น คือ ‘พรบ.ชุมนุมฯ’ ซึ่งออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และไม่ได้รับมอบหมายสิทธิอำนาจจากฉันทานุมัติของประชาชนให้เป็นตัวแทนบัญญัติกฎหมายตามปกติ ส่วนวิธีการจับกุมนั้น เกษียรระบุว่า “วิธีการจับกุมที่ว่าจะทำอย่างไรก็ได้ในเมื่อทำผิดกฎหมายนั้น เท่าที่สอนหนังสือมา ผมไม่เคยเห็นในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฉบับใดที่ให้อำนาจเช่นนั้น”

คอมเมนต์เกษียร เตชะพีระ
มาดูมุมมองด้านกฎหมาย ซึ่ง สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ รั้วแม่โดม ระบุว่า ‘ไม่มีอะไรเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย’ โดยร่ายรายละเอียดของ ‘มาตรา 83’ อย่างจัดเต็มผ่านเฟซบุ๊ก ว่าที่ถูก ต้องมีขั้นตอนอย่างไร แถมยังทิ้งท้ายด้วยการเรียกร้องให้นักวิชาการด้านกฎหมาย โดยเฉพาะที่สนใจคดีการ ‘อุ้มหาย’ ของบิลลี่ และทนายสมชาย นีละไพจิตร ออกมาแสดงความเห็นในประเด็นนี้ด้วย

Advertisement

คอมเมนต์สาวิตรี สุขศรี

ด้าน อังคณา นีละไพจิตร กสม. ด้านสิทธิสตรีและสิทธิพลเมือง กล่าวถึงกรณีการจับกุมนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ตอนหนึ่งว่า “ต้องอย่าลืมว่าประเทศไทยได้ไปลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับของสหประชาชาติถึงแม้จะยังไม่ได้กล่าวสัตยาบัน แต่การที่ประเทศประเทศไทยไปลงนามย่อมหมายถึงการแสดงความร่วมมือ การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐต้องแสดงเจตจำนงตามอนุสัญญาดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะกับผู้ต้องหาที่ไม่ได้มีพฤติกรรมหลบหนีการจับกุม ดังนั้น จึงต้องมีความระมัดระวังในข้อกฎหมาย รวมทั้งสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา เช่นในเรื่องการประกันตัวหรือการพบทนาย”
ส่วน จอน อึ๊งภากรณ์ ผอ.ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ หรือ iLaw ระบุว่า การลักพาบุคคลไปในลักษณะเช่นนี้ ทางสากลถือเป็น ‘อาชญากรรมร้ายแรง’ และเมื่อเป็นการกระทำโดยหน่วยงานของรัฐ ก็ต้องถือเป็น ‘อาชญากรรมของรัฐ’ เช่นเดียวกับเฟสบุ๊กของ iLaw เองก็มีการโพสต์ภาพและข้อความว่า ‘ถ้ายอมรับการจับจ่านิว กลางดึก เท่ากับยอมให้ทุกคนเสี่ยงถูกอุ้มหาย’

 

คอมเมนต์ จอน อึ๊งภากรณ์

 

iLaw
ไม่เพียงคณาจารย์และนักวิชาการด้านกฎหมายเท่านั้น ที่พากันออกมาให้ความเห็นในประเด็นนี้ แต่บุคลากรในสาขาวิชาอื่นๆ ก็ร่วมแสดงความเห็นด้วย อาทิ นักวิชาการด้านศาสนา อย่าง สุรพศ ทวีศักดิ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาหัวหิน ก็ออกมาวิเคราะห์การกระทำของจ่านิวผ่านความคิดทางศีลธรรม-สิทธิแบบค้านท์ (Immanuel Kant) ได้คำอธิบายที่สรุปสั้นๆว่า ‘การต่อสู้ของจ่านิวมีเนื้อหาสำคัญเป็นการปกป้องสิทธิความเท่าเทียม เป็นการปกป้องความเป็นมนุษย์ที่มีเหตุมีผล เสรีภาพ และศักดิ์ศรีของตนและประชาชนทุกคน’

 

สร้างปัญหาเพิ่ม-นานาชาติจับตา

ด้าน ฮารา ชินทาโร่ นักวิชาการชาวญี่ปุ่น อดีตอาจารย์สอนภาษามลายู คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ระบุในเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่าการควบคุมตัวจำเป็นต้องตามกระบวนการที่กำหนดโดยกฎหมาย มิฉะนั้น การปฏิบัติที่ไม่เลือกวิธี จะทำให้เจ้าหน้าที่ต้องผิดกฎหมายรวมถึงขึ้นละเมิดสิทธิ ทั้งๆที่กฎหมายปกป้องสิทธิดังกล่าว การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการสร้างปัญหาใหม่ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาของรัฐที่ยึดมั่นในหลักการนิติรัฐก็ต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย ไม่ใช่การปฏิบัติไม่เลือกวิธีหรือเลือกปฏิบัติ
ส่วน นพ. อิราวัต อารีกิจ หรือหมออั้ม เจ้าของคลีนิคด้านความงามและอดีตนักร้องค่ายดัง ก็โพสต์เฟซบุ๊กว่าใจสั่น นอนไม่หลับ ไม่สบายใจที่จ่านิวโดนรวบตัวในแบบที่ไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งสะท้อนถึงสวัสดิภาพประชาชนและลูกหลาน อีกทั้งนานาชาติก็ยัง ‘จับตา’ ประเด็นดังกล่าวด้วย

 

คอมเม้นต์ ฮาราชินทาโร่

 

กลุ่มนักเขียนจี้ สมาคมฯ แสดงจุดยืนป้องเสรีภาพ

ด้านแวดวงน้ำหมึกอย่างกลุ่ม ‘นอนนาคาเฟ่’ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มนักเขียนที่นำโดย บินหลา สันกาลาคีรี, มาโนช พรหมสิงห์, ภู กระดาษ, ธีร์ อันมัย, ศุภชัย เกศการุณกุล, เสนาะ เจริญพร, วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ฯลฯ ก็ออกแถลงการณ์ ถึง ‘สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย’ เพื่อเรียกร้องให้แสดงจุดยืนปกป้องเสรีภาพของประชาชน เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า การอุ้มจ่านิวเป็นการกระทำที่เข้าข่ายลักพาตัว อุกอาจในที่สาธารณะและ “ในฐานะที่นักเขียนเป็นบุคคลที่ต้องเชื่อมั่นในเสรีภาพในการคิด การอ่าน และการแสดงออกของผู้คน และเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยไม่อาจนิ่งเฉย และทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นต่อสถานการณ์นี้ได้ เราจึงใคร่เรียนถามจุดยืนของสมาคมนักเขียนฯ ….หากเห็นด้วยกับการปกป้องเสรีภาพของประชาชนดังที่องค์กรอื่นๆได้แสดงตนแล้ว สมควรที่สมาคม ฯ จะแสดงออกต่อเหตุการณ์นี้ให้ประชาชนรับทราบอย่างทันท่วงที”

 

นอนนาคาเฟ่

 

ชาญวิทย์ชี้ ‘คนดีจริง พระคุ้มครอง’

ต่อมา เมื่อจ่านิวได้รับการปล่อยตัว โดยศาลทหาร นักประวัติศาสตร์ชื่อดังอย่างศาสตราจารย์ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ก็โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า
“Sergent-Major New: & Brave Young Thai Democrats…จ่านายสิบนิว และสหาย หนุ่ม/สาวน้อยๆ ประชาธิปไตยไทย คนดีจริง พระคุ้มครอง Gods Bless Him/Them”
ในขณะที่ สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล และนักเศรษฐศาสตร์ แชร์ข่าวศาลทหารยกคำร้องฝากขังจ่านิวและเพื่อน แล้วแสดงความเห็นว่า ศาลทหารเองเป็นผู้ออกหมายจับ แต่เมื่อทหารไปอุ้มจ่านิว เนื่องจากไม่ยอมรับคำสั่งคสช. ศาลทหารกลับยกคำร้องฝากขัง ซึ่งสฤนีมองว่า อาจเป็นเพราะกลัว ‘งานเข้า’ หากขังจริง นอกจากนี้ ยังทิ้งท้ายว่า หากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ทำให้คนเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมของศาลทหารเป็น ‘การเมือง’ ขนาดไหน ก็ยากที่จะหาตัวอย่างที่ดีกว่านี้แล้ว

 

ชาญวิทย์มอบหนังสือจ่านิว

 

มันแกว-ปวิน เม้นต์ด้วย

เรียกได้ว่าการอุ้มครั้งนี้ มีความเห็นจากสหวิทยาการจริงๆ เพราะมากันหลากหลายสาขาอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่เน็ตไอดอล เจ้าของคำกล่าว ‘นมคุณธรรม’ อย่าง มันแกว-รุ่งตะวัน ชัยหา ที่แชร์ข่าวดังกล่าวแล้วแสดงความเห็นว่า เดิมตนไม่กล้าแชร์ เพราะเกรงจะเป็นการสร้างสถานการณ์ใส่ร้าย คสช. แต่มาถึงวันนี้ ไม่มีอะไรจะพูด โดยทิ้งท้ายด้วยคำถามที่ว่า ‘เดี๋ยวนี้ใครจะอุ้มใครก็ได้แล้วหรือ’ พร้อมติดแฮชแทกจบสเตตัสว่า #วันนี้คุณอาจเฉย เพราะคนถูกอุ้มไม่ใช่คุณ

 

มันแกว+ปวิน
ปิดท้ายด้วยคอมเม้นต์แนวสีสันของ รศ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อาจารย์ ม.เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่โพสต์ข้อความสั้นๆ พาดพิงถึงนักแสดงหุ่นล่ำสัญชาติอังกฤษว่า “ถ้าผมกลับไทยแล้วถูกอุ้ม ขอแบบ Tom Hardy มาอุ้มนะครับ อร้ายยยย”
ทั้งหมดนี้ คือความคิดเห็นจากหลากหลายวงการ ส่วนเรื่องราวของจ่านิวและเพื่อนกับคดีความดังกล่าว จะดำเนินต่อไปอย่างไร ต้องติดตาม !

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image