‘มีชัย’โยนสนช.แจงคำถามพ่วงต่อปชช.เอง เผยหากผ่านประชามติต้องส่งศาลรธน.ดูเนื้อหาก่อนผนวกรวม

“มีชัย”โยน สนช.ชี้แจงคำถามพ่วงต่อ ปชช.เอง เผยหากผ่านประชามติต้องส่งศาล รธน.ดูเนื้อหาก่อนผนวกรวม มั่นใจมีกลไกสกัด ส.ว.ใช้อำนาจตามอำเภอใจแน่

เมื่อวันที่ 15 เมษายน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกระแสการวิจารณ์คำถามพ่วงการทำประชามติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า กรธ.มีหน้าที่จะต้องชี้แจงสาระของร่างรัฐธรรมนูญให้เกิดความชัดเจน ส่วนคำถามพ่วงเป็นหน้าที่ของ สนช.ที่จะไปชี้แจงถึงเหตุผล ดังนั้นเวลา กรธ.ไปชี้แจงประชาชนจะต้องบอกว่ามี 2 ส่วน คือ ส่วนหนึ่งที่อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ อีกส่วนหนึ่งคือคำถามพ่วงประชามติ ซึ่งหากประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง เนื้อหาของคำถามพ่วงก็จะผนวกเข้าไปในรัฐธรรมนูญในภายหลัง ทั้งนี้ การออกไปเผยแพร่ทางฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรธ.ต้องประสานกับ สนช.และอาจจะรวมถึงสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะที่เป็นเจ้าของคำถามเพื่อเปิดโอกาสให้ออกไปชี้แจงกับประชาชนพร้อมๆ กับ กรธ. เมื่อประชาชนสงสัยถามมาเขาก็จะได้ตอบได้ชัดเจน

“หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติและคำถามพ่วงผ่านประชามติด้วยเช่นกันนั้น รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ได้กำหนดกระบวนการแก้ไขเอาไว้รัดกุม กรธ.ไม่ได้มีอิสระในการนำคำถามพ่วงไปผนวกไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างที่ใจต้องการได้ เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามผลประชามติที่ออกมา แล้วศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้พิจารณาอีกครั้งว่าถูกต้องตรงตามประชามติหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องก็ต้องแก้ไขให้ตรง เมื่อถูกต้องแล้วถึงจะใช้ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่จะเอามาผนวก กรธ.จะทำตามประชามติโดยตรงไม่ไปคิดอะไรวอกแวกแล้ว ที่จะแก้ไขคือการแก้ให้สอดคล้องกับผลของประชามติเท่านั้น” ประธาน กรธ.กล่าว

เมื่อถามว่า หลายฝ่ายวิจารณ์ถึงผลของปัญหาคำถามพ่วงว่าอาจจะก่อให้เกิดความลักลั่นทางการเมือง เช่น การเลือกนายกฯหรือการใช้อำนาจต่างๆ นายมีชัยกล่าวว่า ถ้าคำถามพ่วงผ่านประชามติ เวลาปฏิบัติจริงวุฒิสภาก็ต้องใช้วิจารญาณในการออกเสียงให้การเมืองเดินไปได้โดยราบรื่น ไม่ใช่อาศัยแต่เสียงวุฒิสภาแต่เพียงสภาเดียว แล้วไปผนวกสภาผู้แทนราษฎรอีกเล็กน้อย แบบนั้นมันจะทำการบริหารงานของรัฐบาลเป็นไปไม่ได้ จะเกิดปัญหา เพราะฉะนั้น เราก็ต้องวางใจว่าถ้าสมมุติมันผ่านก็ต้องวางใจว่าวุฒิสภาจะต้องใช้วิจารณญาณให้ดีก่อนที่จะไปใช้สิทธิในการลงคะแนนแบบนั้น

Advertisement

เมื่อถามอีกว่า หากมองอีกมุมถ้า ส.ว.ไปผนึกเสียงข้างมากก็จะกลายเป็นว่ามีฝ่ายรัฐบาลที่เด็ดขาด การทำหน้าที่ตรวจสอบของฝ่ายค้านก็จะลำบากขึ้น นายมีชัยกล่าวว่า จะเป็นไปตามสภาวะการเมืองปกติ คือ รัฐบาลทุกรัฐบาลจะต้องมีเสียงข้างมากอยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นจะเป็นรัฐบาลไม่ได้ ดังนั้นในรัฐธรรมนูญนี้จึงได้เขียนกลไกบางอย่างเอาไว้ว่า ให้ฝ่ายค้านมีส่วนในการที่จะแนะนำหรือชี้แนะ ในกรณีที่เกิดปัญหาของบ้านเมือง เวลาที่จะประชุมปรึกษาหรือหารือกันก็จะมากันทั้งหมดทุกองคาพยพในทางการเมือง ขณะเดียวกันเวลาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราจึงผนวกไว้ว่า ลำพังเสียงข้างมากอย่างเดียวแก้ไขไม่ได้ ต้องเป็นการเห็นดีเห็นงามกันว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนจึงจะแก้ได้ เพราะเราต้องการเสียงของฝ่ายค้าน วุฒิสภา และเสียงข้างมากของฝ่าย ส.ส.ด้วย ตรงนี้จะเห็นว่ากลไกที่วางไว้จะทำหน้าที่ของมันได้ ป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจตามอำเภอใจ

เมื่อถามว่า ช่วงของการไปทำความเข้าใจมีความจำเป็นที่จะต้องไปทำความเข้าใจกับพรรคการเมืองที่ออกมาคัดค้านอีกหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า กรธ.ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร พรรคการเมืองเขาก็มีเป้าหมายและมีทิศทางของเขา เราจะเข้าไปยุ่งมากก็คงไม่ได้ นอกจากอะไรที่เขาพูดมาชัดเจน แล้วเราคิดว่าเป็นการเข้าใจผิด หรือกระโดดข้ามบางมาตราไป เราก็อาจไปชี้แจงได้ แต่ถ้าเขาพูดลอยๆ ว่าล้าหลัง หรือไม่เป็นประชาธิปไตย เราก็ไม่รู้จะแก้อย่างไรตรงไหน เพราะเราก็ว่าของเราไม่ล้าหลังและไปไกลเกินกว่าที่คนจะคิดด้วยซ้ำ แต่ในบางเรื่อง มันก็อาจยังมองไม่เห็นประโยชน์ อย่างในอดีตเรื่องหลายเรื่องมีหลายคนไม่เห็นด้วย มองว่าล้าหลัง แต่มาปัจจุบันกลับกลายเป็นของที่ต้องมี ไม่มีไม่ได้

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image