กระถินและทางปาล์มน้ำมัน วัสดุปลูกกล้วยไม้ทดแทนกาบมะพร้าว

การส่งออกกล้วยไม้ ในช่วงปี 2552-2557 มีปริมาณการส่งออกอยู่ระหว่าง 20,944-25,269 ตัน คิดเป็นมูลค่า อยู่ระหว่าง 1,966-2,366 ล้านบาท สำหรับกล้วยไม้สกุลหวายตัดดอก มีการผลิตและส่งออก ประมาณร้อยละ 90 ของผลผลิตกล้วยไม้ทั้งหมด แต่ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงกล้วยไม้และผู้ประกอบการต้องประสบกับปัจจัยเสี่ยงมีผลกระทบต่อการส่งออก ทั้งปัญหาด้านการตลาด ปัจจัยการผลิตที่มีราคาสูงขึ้น การขยายพื้นที่เพาะปลูกยังทำได้จำกัด นอกจากนั้นยังมีปัญหาความเสี่ยงจากมาตรการการกีดกันทางการค้าของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหภาพยุโรป

ปัจจุบัน กาบมะพร้าวซึ่งเป็นวัสดุปลูกที่นิยมใช้ในการปลูกกล้วยไม้ตัดดอกสกุลหวายกำลังขาดแคลน เนื่องจากปัญหาผลผลิตมะพร้าวของไทยลดลงไปมาก อันเนื่องมาจากพื้นที่เพาะปลูกลดลง ปัญหาเนื่องจากการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าว และมีการลดพื้นที่ปลูกมะพร้าวไปปลูกปาล์มน้ำมัน ทำให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ตัดดอกสกุลหวายที่จำเป็นต้องใช้กาบมะพร้าวเป็นวัสดุปลูก ทำให้กาบมะพร้าวมีไม่เพียงพอและมีราคาสูงขึ้น จากเดิมกระบะปลูกกล้วยไม้ ราคากระบะละ 5-7 บาท ปรับราคาเป็น 15-20 บาท กาบมะพร้าวเหมารถ 6 ล้อ คันละ 2,500 บาท เพิ่มราคาขึ้นมากกว่า 5,000 บาท

หาวัสดุมาทดแทนกาบมะพร้าว

คุณพุทธธินันทร์ จารุวัฒน์ วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร หัวหน้าคณะดำเนินการศึกษาวิจัยวัสดุทดแทนกาบมะพร้าว เล่าว่า โดยทั่วไปเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ตัดดอกสกุลหวาย หลังจากปลูกไปแล้วทุกๆ 3-5 ปี จะต้องรื้อต้นกล้วยไม้เก่าและกาบมะพร้าวที่เป็นวัสดุปลูกออกเพื่อปลูกต้นใหม่ เนื่องจากกล้วยไม้มีจำนวนลำลูกกล้วยไม้มากและหนาแน่นขึ้น ทำให้การระบายอากาศไม่ดี และมีการสะสมโรคในลำต้นเก่าๆ ประกอบกับกาบมะพร้าวเริ่มผุและเปื่อยยุ่ย ทำให้ผลผลิตกล้วยไม้ลดลง เกษตรกรเจ้าของแปลงกล้วยไม้จะต้องมีการวางแผนในการหากาบมะพร้าวให้ได้แน่นอนก่อนที่จะรื้อแปลง เพราะถ้าหากหากาบมะพร้าวไม่ได้ จะต้องทิ้งแปลงให้ว่างเปล่า ส่งผลให้ขาดรายได้

Advertisement

ต้นกระถินสับย่อยเตรียมทำวันสดุปลูกกล้วยไม

สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร จึงศึกษาและพัฒนาหาวัสดุปลูกมาทดแทนกาบมะพร้าวสำหรับนำมาใช้ในการปลูกกล้วยไม้ตัดดอกสกุลหวาย เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยลดปริมาณการใช้กาบมะพร้าว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ตัดดอกสกุลหวายดังกล่าวได้ โดยเฉพาะวัสดุที่เหลือทิ้งทางการเกษตร หากนำมาทดแทนได้ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าวัสดุการเกษตรที่เหลือทิ้งได้อีกทางหนึ่ง

คุณพุทธธินันทร์อธิบายว่า วัสดุหรือเครื่องปลูก มีหน้าที่ให้รากยึดเกาะเพื่อให้ลำต้นกล้วยไม้ตั้งต้น ไม่โอนเอนหรือล้ม นอกจากนั้นวัสดุปลูกกล้วยไม้ยังทำหน้าที่เก็บความชื้นและธาตุอาหารเพื่อให้รากดูดนำไปใช้ ขณะเดียวกันวัสดุปลูกยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการระบายน้ำและการถ่ายเทอากาศรอบๆ ระบบรากด้วย

Advertisement

“การพิจารณาเลือกวัสดุปลูก เราต้องคำนึงถึงคุณสมบัติที่จะช่วยให้ระบบรากและต้นกล้วยไม้เจริญงอกงามดี และต้องหาได้ง่าย ราคาถูก ทนทาน คือไม่ย่อยสลายเร็วเกินไป ปราศจากสารพิษเจือปน และสะดวกต่อการปลูก”

 คัดเลือกวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร

คุณพุทธธินันทร์บอกว่า วัสดุที่เหมาะสำหรับนำมาเป็นวัสดุปลูกทดแทนกาบมะพร้าวสำหรับปลูกกล้วยไม้ตัดดอกสกุลหวาย เราเลือกไว้ทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ กระถิน ทางปาล์มน้ำมัน ทางสะละ เศษเหลือทิ้งจากสับปะรด ทะลายเปล่าปาล์มน้ำมันจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ โดยมีวัสดุกาบมะพร้าวเป็นตัวเปรียบเทียบ

“เราได้คัดเลือกวัสดุเหลือทิ้งที่ต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะนำมาเป็นวัสดุปลูก คือ ต้องหาได้ง่าย ต้นทุนต่ำ ระบายน้ำได้ดี ไม่อุ้มน้ำจนแฉะ ช่วยให้ระบบรากและต้นกล้วยไม้เจริญเติบโตดี ต้องไม่มีสารพิษเจือปน สะดวกต่อการใช้ปลูก สามารถนำมาอัดเป็นก้อนวัสดุปลูกทดแทนกาบมะพร้าวสำหรับปลูกกล้วยไม้ตัดดอกสกุลหวายได้ และต้องมีอายุใช้งานได้ไม่เกิน 3 ปี”

ทางปาล์มน้ำมันสับย่อยทำวัสดุปลูก

ใช้เวลาศึกษาทดลองประมาณ 3 ปี เริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 สิ้นสุดการทดลองในเดือนกันยายน 2558 ทั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จากกลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และสวนกล้วยไม้ของ คุณสุวรรณ หิรัญวรวุฒิกุล สวนกล้วยไม้สุวรรณภูมิออร์คิด เลขที่ 54 หมู่ 11 ต.หนองกระทุ่ม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ให้ความร่วมมือในการศึกษาวิจัยการปลูกกล้วยไม้โดยใช้วัสดุปลูกดังกล่าวข้างต้นมาทดแทนกาบมะพร้าว

 สร้างบล็อกโมเดล สำหรับอัดเป็นก้อนวัสดุปลูก

การดำเนินการ เริ่มจากนำตัวอย่างวัสดุทั้งหมดไปศึกษาวิธีลดขนาดและกระบวนการอัดก้อนวัสดุสำหรับปลูกกล้วยไม้ตัดดอกสกุลหวาย สำหรับต้นกระถินหรือกิ่งกระถินใช้เครื่องหั่นย่อยกิ่งไม้ และใช้เครื่องหั่นเส้นใย คือ ทะลายเปล่าปาล์มน้ำมัน ทางปาล์ม ทางสะละ และเศษเหลือทิ้งจากสับปะรด ซึ่งมีลักษณะเป็นพืชเส้นใย เครื่องหั่นนี้ได้พัฒนาขึ้นมาโดยสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร จากนั้นนำไปอัดเป็นก้อนวัสดุสำหรับปลูกกล้วยไม้ โดยการสร้างบล็อกโมเดลสำหรับขึ้นรูป มีขนาด 24x36x8 ซม. ซึ่งเป็นขนาดเดียวกับก้อนวัสดุปลูกกาบมะพร้าวที่ใช้กันทั่วไปในสวนกล้วยไม้ของเกษตรกร บล็อกดังกล่าวใช้ปูนซีเมนต์เป็นตัวประสานให้วัสดุเหลือทิ้งที่เตรียมไว้สามารถขึ้นเป็นวัสดุปลูกได้

จากนั้น นำตัวอย่างก้อนวัสดุปลูกทั้งหมดไปศึกษาวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพและเคมี เพื่อทดสอบค่าต่างๆ ที่กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา ต่อจากนั้นนำเครื่องวัสดุปลูกทุกชนิดไปปลูกกล้วยไม้ในโรงเรือนกล้วยไม้ของเกษตรกร เพื่อศึกษาผลตอบสนองของต้นกล้วยไม้ในการเจริญเติบโตและออกดอก รวมถึงศึกษาอายุและการใช้งานของก้อนวัสดุปลูกแต่ละชนิด

 กระถิน และทางปาล์มน้ำมัน ทดแทนกาบมะพร้าวดีที่สุด

ผลการตอบสนองของกล้วยไม้ในวัสดุปลูกชนิดต่างๆ กระถินและทางปาล์มน้ำมันเป็นวัสดุปลูกที่เหมาะสมที่จะนำมาปลูกกล้วยไม้ตัดดอกสกุลหวายทดแทนกาบมะพร้าว เนื่องจากมีคุณสมบัติทางกายภาพดี สามารถอุ้มน้ำได้ แต่ไม่แฉะ และไม่เป็นแหล่งสะสมของโรคและวัชพืช ให้ธาตุอาหารสูง และต้นกล้วยไม้มีผลตอบสนองต่อการเจริญเติบโตและการออกดอกดีที่สุด มีอายุการใช้งาน 5 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมด้วย ในขณะที่กาบมะพร้าวมีอายุการใช้งานประมาณ 3-5 ปี ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและคุณภาพของการอัดเป็นก้อนวัสดุปลูก และเมื่อพิจารณาถึงความสะดวกในการนำมาใช้สำหรับเกษตรกรชาวสวนกล้วยไม้ พบว่า ต้นกระถินเป็นต้นที่เจริญเติบโตง่าย มีอยู่ทั่วไปในสภาพพื้นที่ของประเทศไทย เมื่อตัดลำต้นไปใช้ก็สามารถเจริญเติบโตได้อีก สำหรับทางปาล์มน้ำมันก็หาได้ง่ายเช่นเดียวกัน ซึ่งมีรอบระยะเวลาการเก็บเกี่ยว ประมาณ 15-20 วัน/ครั้ง ทำให้มีทางปาล์มน้ำมันตลอดปี ดังนั้น วัสดุทั้งสองชนิดนี้จึงมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ทดแทนกาบมะพร้าวได้

กระบะวัสดุปลูกจากทางปาล์มน้ำมัน

คุณพุทธธินันทร์กล่าวอีกด้วยว่า นอกจากนั้นยังได้วิจัยในส่วนของเครื่องมือผลิตกระบะวัสดุปลูกทดแทนกาบมะพร้าวในเชิงพาณิชย์ โดยผลิตเครื่องผลิตกระบะวัสดุปลูกกล้วยไม้ต้นแบบ ซึ่งมีความสามารถในการผลิต 25-30 กระบะ/ชม. กระบะวัสดุปลูก มีขนาด 20x36x8 ซม. สามารถปลูกกล้วยไม้ได้ 4 ต้น

การศึกษาและพัฒนาวัสดุปลูกกล้วยไม้ที่เหลือทิ้งทางการเกษตร สำหรับนำมาใช้ปลูกกล้วยไม้ตัดดอกสกุลหวายทดแทนกาบมะพร้าวที่มีปัญหาการขาดแคลนอยู่ในขณะนี้ จะเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการลดปริมาณการใช้กาบมะพร้าว ช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ตัดดอกสกุลหวาย และยังเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรสวนปาล์มได้อีกด้วย

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี เลขที่ 27 หมู่ 1 ตำบลพลับพลา อ.เมือง จ.จันทบุรี รหัสไปรษณีย์ 22000 โทรศัพท์ 0-3945-1222 หรือ 08-9831-2976

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image