เปิด “หอสมุดดิจิทัลคัมภีร์ใบลานล้านนา” ใหญ่สุดภาคเหนือ

3

นายบุญเลิศ เสนานนท์ อดีตหัวหน้ากลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ ในฐานะนายกสมาคมอนุรักษ์เอกสารโบราณ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมอนุรักษ์เอกสารโบราณ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทริปเยี่ยมชมคัมภีร์ใบลานในภาคเหนือภายหลังการเปิดตัวหอสมุดดิจิทัลคัมภีร์ใบลานล้านนา เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงคลังเอกสารโบราณภาคเหนือขนาดใหญ่ที่สุด รวมถึง แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมพื้นถิ่นทางภาคเหนือของไทยได้อย่างครอบคลุม ซึ่งความเป็นมาของการเปิดหอสมุดดิจิทัลคัมภีร์ใบลานล้านนา เนื่องมาจากนายฮารัลด์ ฮุนดีอุส ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณกรรมไทยและลาว มหาวิทยาลัยพัซเซา ประเทศเยอรมนี และหัวหน้าท้องถิ่นโครงการรวบรวมคัมภีร์ใบลาน เริ่มสำรวจคัมภีร์ใบลานล้านนาใน 8 จังหวัดภาคเหนือของไทย ตั้งแต่ปี 2514-2517 โดยจัดทำไมโครฟิล์ม 40 ม้วน คัดเลือกคัมภีร์ใบลาน 1,350 เรื่อง ต่อมาปี 2519 จัดทำบัญชีรายชื่อเอกสารโบราณด้วยระบบคอมพิวเตอร์ จากนั้นปี 2524 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมสร้างบัญชีรายชื่อ และถ่ายไมโครฟิล์มคัมภีร์ใบลานมากกว่า 4,000 เรื่อง จนปี 2530-2534 นายฮารัลด์ ร่วมกับ ม.ร.ว.รุจยา อาภากร ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ ในองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) เริ่มทำโครงการอนุรักษ์เอกสารโบราณภาคเหนือของไทย ทำให้เกิดสำเนาไมโครฟิล์มกว่า 400 ม้วน ถือเป็นหลักฐานชั้นต้นที่บันทึกธรรมเนียมล้านนาเอาไว้ 4,200 ชิ้น จนเมื่อปี 2556 จึงเริ่มโครงการหอสมุดดิจิตอลคัมภีร์ใบลานล้านนา 2 ภาษา ไทย-อังกฤษขึ้น ภายใต้การสนับสนุนทางการเงินจากมูลนิธิเฮนรี่ลิวซ์ นิวยอร์ก ร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และมูลมูนิแอนดรูดับเบิลยูเมลล่อน

2

“การออกตัวของโครงการหอสมุดดิจิตอล ถือเป็นความสำเร็จที่จะช่วยให้นักวิชาการทั่วโลก และไทย เข้าถึงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ในหลายศาสตร์วิชาได้ ทั้งศาสนา วัฒนธรรมท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และอื่นๆ ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ โดยภาพรวมในประเทศแม้จะสำรวจ และจัดทำบัญชีรายชื่อของเอกสารโบราณไปแล้ว นับเป็นจำนวนหลายแสนผูก หรือหลายหมื่นเรื่อง แต่งานด้านการถ่ายภาพที่ทำให้เข้าถึงออนไลน์ได้ และทำไปแล้ว มีแค่หลักร้อย จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ โดยนำโครงการภาคเหนือมานำร่องเป็นตัวอย่างการลงสำรวจคัมภีร์โบราณในภาคอื่นๆ ทั้งนี้ เข้าชมเว็บไซต์หอสมุดดิจิตอลได้ที่ http://lannamanuscripts.net” นายบุญเลิศกล่าว

Advertisement

นายเพเทอร์ พรือเกล เอกอัคราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่า การเปิดห้องสมุดเอกสารโบราณภาคเหนือของไทยในระบบออนไลน์ ถือเป็นความประทับใจของงานวิจัย และงานอนุรักษ์ที่ดำเนินมากว่า 40 ปีก่อน เพราะการที่คนทั่วไปเข้าถึงเอกสารโบราณภาคเหนือของไทยได้ คือความสำเร็จครั้งสำคัญของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมชิ้นนี้ ตนยินดีอย่างยิ่งที่เยอรมนีให้ทุนสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศ ทำให้เกิดผลน่าประทับใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image