พ่อมากทหารเกณฑ์?

พ่อมากทหารเกณฑ์? โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (ภาพประกอบจากภาพยนตร์ "พี่มาก..พระโขนง)

พ่อมากทหารเกณฑ์?

ในช่วงเทศกาลเกณฑ์ทหารอย่างนี้ เราจึงมีโอกาสได้เห็นข่าวคนดัง หรือเซเลบหลายคนไปคัดเลือกเกณฑ์ทหาร

ส่วนในฤดูกาลเกณฑ์ทหารปีนี้ ใครจะสมัครเข้าเป็นทหารเองบ้าง จะเป็นหอบเป็นหืดจนหมดสิทธิ์จะเป็นทหารเกณฑ์บ้าง หรือแขนพังแต่ก็ไม่ขัดต่อการรับราชการทหารบ้าง ก็ไม่ใช่ประเด็นที่ข้อเขียนชิ้นนี้ต้องการจะกล่าวถึง

เพราะตัวอย่างคนดังที่มักจะเข้าใจกันว่าเคยเป็นทหารเกณฑ์ (ทั้งๆ ที่เขาจะเคยเกณฑ์ทหารจริงหรือเปล่านี่ก็อีกเรื่อง?) ที่ผมอยากพูดถึงคราวนี้ เป็นเซเลบในอดีตยุคต้นกรุงเทพฯ

ก็พ่อมาก คนดังแห่งย่านพระโขนง ที่แม่นากเธอต้องมาคอยที่ท่าน้ำทุกวันนั่นแหละครับ

Advertisement

อันที่จริงแล้ว “พ่อมาก” เขาจะดังจริงหรือเปล่าก็ไม่ได้สลักสำคัญอะไรในที่นี้นัก (ถึงแม้ว่า ภาพยนตร์เรื่อง พ่อมากพระโขนง ที่ออกฉายเมื่อปี พ.ศ.2556 จะเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำเงินสูงสุดมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็ตาม) เพราะประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ การที่พ่อมากมีคู่ชีวิตที่ชื่อ “แม่นาก” พระโขนงนี่ต่างหาก

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็เคยตรัสเล่าไว้ในที่ใดที่หนึ่งว่า เมื่อทรงพระเยาว์ พระองค์เคยลองสอบถามผู้คนที่เดินเข้าออกประตูวัดพระแก้วดูว่า รู้จักชื่อใครบ้าง ปรากฏว่าชื่อที่ผู้คนรู้จักกันมากที่สุดคือชื่อของ “นางนากพระโขนง”

ประมาณเวลาที่ กรมพระยาดำรงฯ “ทำวิจัยเชิงสำรวจ” อย่างไม่เป็นทางการครั้งนั้นไว้ก็คงอยู่ในช่วงปลายรัชกาลที่ 4-ต้นรัชกาลที่ 5 ประมาณเดียวกันกับช่วงเวลาที่ครูแจ้ง (มีอายุอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 3-ต้นรัชกาลที่ 5) แต่งบทเสภาเรื่องหนึ่งซึ่งเอ่ยถึง ผีนางนาก ชาวบางพระโขนง ตายทั้งกลม มีลูกเป็นผู้ชาย

ดังนั้น แม่นาก ท่านจึงดังมาก่อนแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาเป็นเซเลบริตี้เอาบนแผ่นฟิล์มเท่านั้น

และเกี่ยวกับเรื่องนี้ นักประวัติศาสตร์ชื่อดังอย่าง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจเอาไว้ว่า แม่นากคงจะเป็นผีไทยตนแรก ที่มีความเป็นปัจเจกชน มีตัวมีตนเป็นการเฉพาะเจาะจง เพราะผีไทยแต่ก่อน ไม่ว่าจะเป็น กระสือ กระหัง สมิง ฉมบ ปอบ พราย ฯลฯ ไม่ได้มีความเป็นปัจเจกเฉพาะบุคคลเลย ก็แต่เดิมเราไม่มีกระสือยายนู่น กระหังตานี่ เป็นการชี้เฉพาะเหมือนผีแม่นากเสียหน่อย?

ดังนั้น การที่แม่นากท่านออกมายืนคอยสามีที่ท่าน้ำบ้านท่านทุกวัน จึงทำให้เราๆ ท่านๆ รู้จักกับพ่อมากไปโดยปริยาย

ที่สำคัญคือทำให้เรารู้อีกด้วยว่า ที่ “พ่อมาก” ต้องห่างไปจากเมียรัก เป็นเพราะพ่อมากต้องเข้าเดือน “เกณฑ์ทหาร”

แต่การเกณฑ์ทหารแบบที่เราเข้าใจกันอยู่นั้น มีมาตั้งแต่สมัยที่แม่นากมีชีวิตอยู่จริงหรือเปล่า? (อย่างน้อยเมื่อช่วงปลายรัชกาลที่ 4-ต้นรัชกาลที่ 5 ในช่วงวัยหนุ่มของ กรมพระยาดำรงฯ ก็ทรงรู้จักแม่นากพระโขนงเป็นอย่างดีกันทั่วทั้งบางกอกแล้ว)

“พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร รัตนโกสินทร์ศก 124” เพิ่งจะประกาศออกมาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2448 หลังจากที่ปีเดียวกันนั้น รัชกาลที่ 5 ได้ทรงออกพระราชบัญญัติฉบับสำคัญในประวัติศาสตร์สยามคือ “พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ.124” โดยลงวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ในสมัยนั้น

เรือน พ.ศ. ดังกล่าวจัดอยู่ในช่วงปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ใจเป็นที่สุด ถ้าพ่อมากจะถูกเกณฑ์ทหารตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่ 4-ต้นรัชกาลที่ 5 ซึ่งประเทศสยามยังไม่ได้มีการเกณฑ์ทหารเสียหน่อย?

ถ้าพ่อมากจะถูกเกณฑ์แรงงานไปทำอะไรสักอย่าง ที่คล้ายกับการเกณฑ์ทหารในปัจจุบัน ก็คงจะเป็นการเกณฑ์แรงงานไพร่เสียมากกว่า

“ไพร่” หมายถึง สามัญชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในฐานะทาส หรือเจ้าขุนมูลนาย มีอิสระในการประกอบอาชีพ การตั้งบ้านเรือน มีครอบครัว แต่มีหน้าที่ในการถูกเกณฑ์แรงงาน หรือเสีย “ส่วย” และถูกเกณฑ์ทหารในยามศึกสงคราม

แต่ไพร่ก็ยังแบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือ ไพร่หลวง และ ไพร่สม

“ไพร่หลวง” พูดง่ายๆ ก็คือไพร่ที่ขึ้นตรงต่อกษัตริย์ ไพร่ชนิดนี้จะยอมจ่ายสตางค์ หรือส่งส่วยสิ่งของแทนการถูกเกณฑ์แรงงาน ในกรณีนี้เรียกว่า “ไพร่ส่วย”

ที่สำคัญคือกษัตริย์สามารถที่จะพระราชทาน ไพร่หลวง ให้แก่ขุนนางได้ ไพร่ประเภทนี้นี่แหละที่เรียกกันว่า “ไพร่สม” มูลนายจะมีไพร่มากเพียงใดขึ้นอยู่กับ ยศ ตำแหน่ง ศักดินา โดยไพร่สมจะต้องทำงานปีละ 1 เดือน ส่วนเวลาที่เหลือต้องทำให้มูลนาย หรือส่งส่วยให้แทน หากมูลนายถึงแก่กรรม ไพร่สมจะถูกโอนกลับไปเป็นไพร่หลวง เว้นเสียแต่ว่าผู้บุตรจะขอควบคุมไพร่สมต่อจากบิดา

ถ้าหากพ่อมากจะเคยถูกเกณฑ์แรงงานไปใช้ในการสงคราม จึงคงจะไปในฐานะที่เป็นไพร่หลวงเสียมากกว่า ที่จะไปในฐานะของทหารเกณฑ์อย่างที่มักจะเข้าในผิดกัน

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่น่าเชื่อถือบางชุดก็ทำให้เราต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามอีกว่า สามีของแม่นากนั้น เคยต้องไปลำบากตรากตรำกับอะไรทำนองนั้นจึงหรือเปล่าอยู่ดี?

ข้อมูลชุดที่ว่าได้มาจากนักสอบค้นประวัติศาสตร์มือฉมังอย่าง คุณเอนก นาวิกมูล ที่ได้สอบค้นไว้เช่นกัน โดยคุณเอนกเล่าไว้ในงานเขียนของท่านว่า ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้ตอบจดหมายของแฟนหนังสือสยามประเภท ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ.2442 ที่เขียนมาถามเกี่ยวกับเรื่อง ผีนางนาก ไว้ว่า

เมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 อำแดงนาก เป็นลูกของขุนศรีนายอำเภอ บ้านอยู่ปากคลองพระโขนง เป็นเมีย “นายชุ่ม” ต่อมาอำแดงนากคลอดลูกตาย นายชุ่มจึงเอาศพไปฝังไว้ที่วัดมหาบุศย์ จากนั้นก็มีผีนางนากออกอาละวาด แต่การณ์กลับเป็นว่า ผีนางนากที่เที่ยวหลอกหลอนผู้คนกลับเป็นลูกนายชุ่มนี่เองที่แกล้งปลอมเป็นผีแม่นาก เพราะไม่อยากให้พ่อของตนมีเมียใหม่

ความตอนนี้ได้มาจากปากคำที่ สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส สอบปากคำลูกชายของนายชุ่มที่มาบวชเป็นพระอยู่ที่วัดโพธิ์เองเลยทีเดียว

จะเห็นได้ว่าจากหลักฐานที่เก่าที่สุดที่เรามีเกี่ยวกับแม่นากนั้น สามีของเธอชื่อว่า “นายชุ่ม” นะครับ ไม่ใช่ “ไอ้มาก” ที่ไหน

แถมนายชุ่มคนนี้ ยังมีฉายาว่า “นายชุ่ม ทศกัณฐ์” (หรือ นายชุ่ม ทศกรรฐ์ ตามต้นฉบับของ ก.ศ.ร. กุหลาบ) เพราะเล่นโขนเป็นตัวทศกัณฐ์ให้กับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี

เรียกได้ว่า “นายชุ่ม” เองก็เป็น “ไพร่” แต่เป็น “ไพร่สม” เพราะขึ้นกับมูลนาย และคงไม่ต้องไปรบทัพจับศึกกับใคร เพราะมีความสามารถพิเศษเป็นตัวโขน แถมยังเป็นโขนตัวเอกอย่างทศกัณฐ์ จึงมีผู้หญิงมาติดพันมากไม่ต่างจากดารานักร้องในปัจจุบัน

ลูกๆ ของแม่นากกลัวพ่อไปมีเมียใหม่ และกลัวจะต้องแบ่งสมบัติกับใครคนอื่น จึงแกล้งหลอกผี ปลอมเป็นแม่ของตนเองที่ตายไปแล้ว เขวี้ยงหินใส่เรือที่สัญจรไปมายามค่ำคืนเท่านั้น

(ส่วนอิทธิปาฏิหาริย์ที่เหลือเป็นเรื่องของการแต่งเติมทั้งนั้น)

ผีแม่นาก เพิ่งมามีสามีชื่อ “พ่อมาก” เอาเมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ แต่งบทละครร้องเรื่อง “อีนากพระโขนง” เมื่อปี พ.ศ.2455 ซึ่งแต่งขึ้นหลังรัชกาลที่ 5 ประกาศพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหาร 7 ปี และก็เป็นในเรื่องนี้เอง ที่แม่นากค่อยมาตายทั้งกลมระหว่างที่พ่อมากเข้าเดือนเกณฑ์ทหาร และเป็นครั้งแรกที่ผีแม่นากยืดมือเสียยาวเหยียดลงไปเก็บลูกมะเดื่อที่ตกลงไปที่ใต้ถุนของเรือน (ก็มะนาวในหนังรุ่นหลังนั่นแหละ) อย่างที่เราคุ้นเคยกัน

เอาเข้าจริงแล้ว พ่อมากจะเกณฑ์ทหารจึงหรือไม่ก็ตามแต่ จึงไม่ใช่เรื่องที่สำคัญอะไรนัก เพราะหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนอยู่แล้วว่า พ่อมากเป็นเพียงตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาในบทละครร้องเท่านั้น ไม่ได้มีตัวเป็นๆ ในประวัติศาสตร์เสียหน่อย

แต่การที่สมมติบทบาทให้พ่อมาก เข้าเดือนเกณฑ์ทหารในระหว่างที่แม่นากต้องมาตายท้องกลมอย่างน่าอเนจอนาถ จนทำให้พ่อมากไม่รู้ว่าเมียรักของตัวเองได้ตายไปแล้วนั้นก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย

โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าพ่อมากไม่สามารถอยู่ดูใจเมียรักได้ก็เพราะอำนาจจากส่วนกลาง

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงตำนานเกี่ยวกับแม่นากอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเพิ่งจะมาแพร่หลายกันในยุคหลังๆ นั่นก็คือเรื่องที่ สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี, พ.ศ.2343-2415) ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆัง ในสมัยรัชกาลที่ 4-5 เป็นผู้มาสะกดผีแม่นาก แทรกเข้ามาในตอนสรุปของท้องเรื่อง

ความมีตัวตนจริงๆ และเป็นที่รู้จักในแง่ของความขลังศักดิ์สิทธิ์ไม่แพ้ผีแม่นากของสมเด็จโต ทำให้เนื้อเรื่องดูน่าเชื่อถือ (ไม่ว่าจะจริงหรือเปล่าก็ตาม) และทำให้คนส่วนใหญ่คล้อยตาม

แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเพียงตำนานอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะช่วงชีวิตที่แม่นากมีชีวิตอยู่ จากหลักฐานที่ ก.ศ.ร. กุหลาบ อ้างนั้น น่าจะตรงกับช่วงรัชกาลที่ 2-ต้นรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นยุคก่อนสมเด็จโต

แต่เรื่องนี้ก็น่าสนใจอยู่มาก เมื่อคำนึงถึงว่า แม่นาก เป็นผีไทยตนแรกที่มีความเป็นปัจเจกชน และโดดออกจากความศักดิ์สิทธิ์ในภาพรวมของสยาม ซ้ำร้ายแม่นากก็ยังเป็นผีไทยตนแรกเหมือนกันที่รัฐต้องใช้ความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์จากส่วนกลางมาปราบ

ก็ทั้งหมอผี กับพระทั้งวัดมหาบุศย์ ที่พระโขนงปราบแม่นากอย่างไรก็ปราบไม่ลง แต่สมเด็จโตจากส่วนกลางของกรุงเทพฯ แค่องค์เดียวกลับเอาอยู่ ไม่ใช่หรือครับ?

แต่อันที่จริงแม่นากอาจจะถูกส่วนกลางปราบ ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ที่พรากคู่ชีวิตของเธอไปตั้งแต่ที่เธอท้องอ่อนๆ แล้วก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image