ราชภัฏมหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ 21 โดย ผศ.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

มหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการพัฒนาจากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ในอดีตสู่การเป็นมหาวิทยาลัยซึ่งมีที่ตั้งทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 ซึ่งบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏก็ไม่แตกต่างจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วไป แต่จุดเน้นของมหาวิทยาลัยราชภัฏตามมาตรา 7 ใน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 อาจจะแตกต่างจากบางมหาวิทยาลัย ที่ระบุให้ราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ที่เสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้ เชิดชูภูมิปัญญาของท้องถิ่น สร้างสรรค์ศิลปวิทยา เพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนของปวงชน มีส่วนร่วมในการจัดการการบำรุงรักษาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพขั้นสูง ทำการสอน วิจัย ให้การบริการวิชาการแก่สังคม ปรับปรุงถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู

วันนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศมีการพัฒนาการเพื่อการเข้าสู่เวทีของการเป็นสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการสร้างพลังในการเป็นฐานเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น และประเทศชาติ ภายใต้วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของผู้บริหารที่ได้ผนึกพลังของประชาคมจนทำให้ราชภัฏเป็นหนึ่งในองค์กรทางการศึกษาที่สังคมสามารถพึ่งพิงได้ และเป็นไปตามปณิธานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามราชภัฏให้กับสถาบันแห่งนี้เมื่อ พ.ศ.2535

อย่างไรก็ตาม จากการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก วันนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งคงจะต้องมองไกลไปในอนาคตเพื่อการก้าวเดินอย่างมั่นคง ภายใต้พันธกิจที่จะต้องมีการแข่งขันและก้าวให้ทันกับยุคโลกาภิวัตน์ ในขณะเดียวกัน วันนี้การที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไทยอย่างเฉกเช่นในอดีตคงไม่พอ ตัวแปรที่สำคัญในการที่จะผลักดันให้มหาวิทยาลัยราชภัฏก้าวเดินอย่างมีคุณค่า และเป็นที่ยอมรับของสังคมอุดมศึกษา ตลอดจนผู้คนทั่วไป ได้แก่การแข่งขันเพื่อการจัดอันดับขององค์กรทางการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งหากทุกสถาบันเตรียมการแต่เร็ววันจะแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาการที่จะก้าวไปสู่จุดเปลี่ยนและความท้าทายในอนาคต

การแข่งขันหรือการปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการพัฒนาคน โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพและเป็นบัณฑิตอันเป็นที่ยอมรับหรือเป็นที่พึงประสงค์ของสังคม จึงถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของทุกมหาวิทยาลัยที่ผู้บริหารและทุกภาคส่วนจะต้องมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปให้ถึง เพราะนั่นหมายถึงการเป็นองค์กรแห่งคุณภาพชั้นนำอย่างแท้จริง

Advertisement

ในอดีตสังคมไทยบางส่วนไม่ค่อยที่จะให้ความสำคัญและยอมรับมหาวิทยาลัยราชภัฏมากนัก ทั้งนี้ เพราะค่านิยมหรือความเชื่อเกี่ยวกับคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษามักจะไปตกอยู่ที่มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีการก่อเกิดมาก่อนมหาวิทยาลัยราชภัฏ

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ชาวราชภัฏจึงได้ผนึกพลังรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต่างๆ จนวันนี้ราชภัฏจึงเป็นที่ยอมรับของสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรผู้ใช้บัณฑิตทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเห็นแล้วว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏไม่ใช่เป็นวิทยาลัยครูอย่างในอดีตที่ผ่านมา และพร้อมที่จะแข่งขันกับสถาบันอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศได้อย่างไม่น้อยหน้าใคร

ตัวชี้วัดที่สำคัญในการส่งผลให้มหาวิทยาลัยราชภัฏมีการพัฒนาการจนเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศสืบเนื่องมาจากการที่ผู้บริหารได้ศึกษาวิเคราะห์สภาพการณ์ทางสังคม ตลอดจนการใช้ฐานความรู้จากการวิจัยคิดค้นองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่เพื่อให้เป็นองค์กรทางการศึกษาที่ทรงคุณค่าอย่างแท้จริง ซึ่งผลที่ตามมาคือบัณฑิตมีคุณภาพ มีงานรองรับ ดังเช่น ผลการศึกษาความพึงพอใจขององค์กรต่างๆ ที่มีต่อบัณฑิตราชภัฏ พบว่า ผู้ใช้บัณฑิตมีความพึงพอใจด้านความรู้ความสามารถทางวิชาการตามลักษณะงานในสาขานั้นๆ มาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาได้แก่ ความพึงพอใจด้านความรู้ความสามารถพื้นฐานที่ส่งผลต่อการทำงาน ตามด้วยด้านคุณธรรมจริยธรรม และจรรยาบรรณในวิชาชีพ จากผลการสำรวจดังกล่าวคงไม่เพียงพอต่อการเพิ่มคุณภาพของบัณฑิต เพราะทุกสถาบันอุดมศึกษาทั่วไปก็สามารถดำเนินการได้ แต่อย่างไรก็ตาม ชาวราชภัฏทั้งมวลจะต้องแสวงหาแนวทางตลอดจนนวัตกรรมใหม่ในการสร้างบัณฑิตให้โดดเด่นและแตกต่างเป็นบัณฑิตมืออาชีพด้วยผู้สร้างที่เป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง

จากสภาวะที่สังคมเกิดการแข่งขันโดยเฉพาะในแวดวงอุดมศึกษา วันนี้หากสถาบันใดมีผลการจัดอันดับอยู่ในระดับต้นๆ ทั้งในและต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือนานาชาติ แน่นอนย่อมเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าสถาบันนั้นผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่องค์กรจัดอันดับกำหนด และเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการ

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าวันนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งต่างตระหนักและให้ความสำคัญกับการจัดอันดับหรือการแข่งขันเพื่อจะได้ชื่อว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ไม่ตกขบวนในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่การจะเข้าสู่อันดับต้นๆ ของการเป็นมหาวิทยาลัยคุณภาพชั้นนำได้นั้น ผู้บริหารและประชาคมจะต้องทุ่มเทและกำหนดยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมเพื่อที่จะผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในหลากหลายมิติ

การจัดอันดับของ Webometrics Ranking of World Universities พบว่า ในห้วง 4 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในราชภัฏ 4 ปีซ้อน ซึ่งผลจากการที่สถาบันแห่งนี้ได้รับการยอมรับจากองค์กรระดับโลกนั้นก็เนื่องมาจาก การมุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละ ของคณะผู้บริหาร ในการกำหนดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ เพื่อผลักดันให้ประชาคมทุกภาคส่วนร่วมพลังในการขับเคลื่อน ซึ่งเบื้องลึกในความสำเร็จของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาในครั้งนี้มาจากการกำหนดเป้าหมายในการบริหารจัดการของอธิการบดีที่ได้วางโรดแมปเป็นกรอบในการพัฒนาตามระยะปี 2556-2559 ที่จะต้องให้สวนสุนันทาได้รับการจัดอันดับเป็น 1 ในราชภัฏ ตามด้วยอันดับ 15 ของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศ และอันดับ 150 ของเอเชีย

ผู้เขียนได้ติดตามพัฒนาการของชาวราชภัฏและสถาบันอุดมศึกษาของรัฐรวมทั้งมหาวิทยาลัยเอกชนทั่วไป พบว่า วันนี้ทุกสถาบันมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อการแข่งขันสามารถก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่นับวันจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศไทยและประเทศสมาชิกอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา

สิ่งที่ผู้เขียนประทับใจและภาคภูมิใจแทนชาวราชภัฏทั้งมวล โดยเฉพาะการวางแนวทางการพัฒนาที่ทุกสถาบันควรจะเอาเป็นเยี่ยงอย่าง คือ การที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอันดับหนึ่งของประเทศอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาที่อธิการบดีคนปัจจุบัน ได้โชว์ยุทธศาสตร์ 15 ปีของการขับเคลื่อนพัฒนาสถาบัน เพื่อจะส่งสัญญาณเตือนให้มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจุดยืนหรือยุทธศาสตร์ 15 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้น อธิการบดีกล่าวว่า ถ้าจะยืนอยู่ในพื้นที่การศึกษาได้อย่างสง่างาม จะต้องไม่หยุดพัฒนา และก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลง จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์ 15 ปีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางพัฒนามหาวิทยาลัยสู่เป้าหมายที่วางไว้ โดยวางแผนไว้ 3 ระยะ คือ 5 ปีแรก (2560-2564) ตั้งเป้าเป็นมหาวิทยาลัยแม่แบบที่ดีของสังคม (Smart archetype University of the Society) ระยะที่สอง (2565-2569) ตั้งเป้าเป็นมหาวิทยาลัยเอตทัคคะที่มีเอกลักษณ์ (Niche Guru University) และ 5 ปี สุดท้าย คือ มหาวิทยาลัยเอตทัคคะนานาชาติ (International Nicha Guru University ) ฯลฯ

พร้อมกันนั้น จะผลักดันการเข้าสู่การจัดอันดับของ QS ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีจำนวน 8 แห่ง ที่มีอันดับอยู่ใน QS ซึ่งในปี 2559 มหาวิทยาลัยฯตั้งเป้าว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่ 9 และจะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งแรกที่ติดอันดับของ QS (มติชน : 2 ธันวาคม 2558, หน้า 21)

การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยจะประสบความสำเร็จได้นั้น การมีส่วนร่วมและการสนับสนุนของประชาคมภายในองค์กร รวมทั้งคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ตลอดจนศิษย์เก่าและผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ผู้ปกครอง นักศึกษา ผู้ประกอบการ หรือชุมชน หรือความศรัทธาของสังคมล้วนแล้วแต่เป็นหัวใจที่สำคัญยิ่ง

มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศจะพัฒนาให้ก้าวไกลจนเป็นที่ยอมรับของสังคมหรือไม่ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยนั้นๆ จะต้องตระหนักคือการไม่ลืมรากเหง้าที่แท้จริงที่คนรุ่นเก่าได้วางรากฐานไว้ ตลอดจนพันธกิจตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 คือการเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งนี้ เพราะหากจะให้ท้องถิ่นหรือสังคมไปคาดหวังจากสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ อาจจะได้รับการขานรับน้อยกว่า ทั้งนี้ เพราะมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีบทบาทหน้าที่โดยตรง

ในขณะเดียวกัน ชาวราชภัฏจะต้องพัฒนาองค์กรให้เป็นไปตามแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2560-2574) ที่กำลังจะประกาศใช้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งทุกสถาบันจะต้องเตรียมความพร้อมในการเดินตามแผนฯและตอบโจทย์สังคมเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันจะต้องคำนึงถึงการสร้างพลเมืองที่ดีของชาติที่มีวินัยเคารพต่อกฎหมาย ไม่มุ่งแต่ผลิตบัณฑิตที่ต้องการแต่ปริญญา ดังที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คาดหวัง

“ราชภัฏนามนี้มีความหมายมีความสำคัญและลึกซึ้งยิ่งนัก ดังนั้นจำเป็นอยู่เองที่มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งทั่วประเทศจะต้องดำเนินพันธกิจที่ว่าด้วยการเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีการบริหารจัดการการศึกษา เพื่อสนองพระราชปฏิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ด้วยความสำนึกในการเป็นคนของพระราชา ข้าของแผ่นดินอย่างแท้จริง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image