ยกขบวนบุก’กกต.’ นปช.จี้เปิดเสรีภาพแสดงความเห็นประชามติร่างรธน.

“นปช.”บุกกกต.จี้เปิดเสรีภาพแสดงความเห็นประชามติร่างรธน. “จตุพร”ลั่น หากรธน.ผ่าน ไม่ลงเลือกตั้ง ขณะที่”ณัฐวุฒิ”เหน็บกกต.ไปดูเลือกตั้งตปท.ทำไม ทั้งที่โลกกำลังสนใจประชามติไทย

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 21 เมษายน ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมด้วยแกนนำ นปช.อาทิ นางธิดา ถาวรเศรษฐ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อ กกต.ผ่านนายเมธา ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการ กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม เพื่อเรียกร้องให้ กกต.ดำเนินการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญโดยให้ประชาชนทุกฝ่ายสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีและขอให้ข้อมูลและเหตุผลของฝ่ายที่เห็นต่างกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้มีโอกาสนำเสนอตต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ นายจตุพรกล่าวว่า วันนี้มาในฐานะกลุ่มการเมืองที่ประกาศจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ แต่ปัญหาคือขณะนี้หากใครไม่รับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็เท่ากับจะมีปัญหากับรัฐ ทั้งที่การทำประชามติเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่สามารถแสดงความเห็นได้ อีกทั้ง เห็นว่าการทำหน้าที่ของ กกต.ในการทำประชามตินั้นย่อมมีอำนาจมากกว่ารัฐบาลหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เพราะถือเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบด้านนี้โดยตรง ส่วนรัฐบาลและ คสช.นั้นมีหน้าที่เพียงแค่อำนวยความสะดวกให้ กกต.เท่านั้น ดังนั้นหาก กกต.จัดทำประชามติด้วยความสุจริตโปร่งใส ผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ขอน้อมรับ แต่ส่วนตัวแล้วหากร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านตนก็ขอประกาศต่อ กกต.ว่าจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังเห็นว่าข้อห้ามที่กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เช่น การปลุกระดม กระทำความรุนแรง ก้าวร้าว ข่มขู่ และบิดเบือน เป็นลักษณะต้องห้ามที่เป็นนามธรรมและครอบจักรวาล อะไรคือตัวชี้วัดมาตรฐานความรุนแรงหรือความก้าวร้าว จึงอยากให้ กกต.ต้องระบุให้ชัด ยกตัวอย่าง ลักษณะการพูดแบบนายกรัฐมนตรีถือว่าเป็นมาตรฐานให้ปฏิบัติตามได้หรือไม่ ที่ผ่านมาตนยังไม่เคยเห็นใครเขียนกฎหมายที่ไม่มีความชัดเจนเช่นนี้มาก่อน กลายเป็นว่าแต่ละฝ่ายกลับอธิบายเนื้อหากฎหมายที่ไม่เหมือนกัน

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ กกต.แสดงตัวในฐานะกรรมการที่ควบคุมดูแลการทำประชามติให้ชัดเจน แม้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ช่วงเวลานี้ก็ถือว่าเข้าสู่กระบวนการทำประชามติแล้ว ซึ่ง กกต.เองแทบยังไม่ได้บอกอะไรกับสังคมว่าการรณรงค์การทำประชามตินั้นสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้ มีแต่ คสช.ที่ออกมาสั่งซ้ายหันขวาหัน ตนเห็นว่าถึงเวลาที่ กกต.ต้องแสดงบทบาทให้ชัดเจน เพราะตนยืนยันว่าจะแสดงความคิดเห็นไปจนถึงวันลงประชามติ เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าต้องฟังแนวทางปฏิบัติจากใครกันแน่ อีกทั้ง เป็นห่วงว่า การไปดูงานที่ต่างประเทศของ กกต.ในช่วงนี้มีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งประเทศที่จะมีการเลือกตั้งที่ กกต.ไปดูงานนั้นเป็นการเลือกตั้งตามวาระปกติ จึงเชื่อว่าสิ่งที่ทั้งโลกอยากมาดูคือการลงประชามติในประเทศไทยที่มีความน่าสนใจกว่ามาก ส่วนการเผยแพร่เนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญนั้น ที่ กกต.จะจัดเวทีแสดงความเห็นทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยผ่านสื่อโทรทัศน์ กรธ.จะลงพื้นที่ชี้แจงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญและ สนช.จัดเวทีชี้แจงคำถามพ่วง แต่ไม่ปรากฏว่าให้มีเวทีของประชาชนแต่อย่างใด อีกทั้ง การที่ กรธ.ยังใช้วิธีให้ศิลปินแห่งชาติมาแหล่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนฟัง อยากถามว่าถ้าตนจะแหล่แบบนี้บ้างได้หรือไม่

39

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image