น้ำมันถ้าจะมันหยด! โดย รศ.ทวี ผลสมภพ

ได้อ่านข่าวเรื่องผู้ตรวจฯฟ้อง ปตท. เรื่องไม่คืนท่อน้ำมัน ทำให้ได้ความคิดว่าน้ำมันดูเหมือนจะสลับซับซ้อนในเชิงธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง

คำว่าสลับซับซ้อนเชิงธุรกิจ ก็คือเขามีคำตอบให้แล้ว ก็ไม่หายสงสัย เช่น ถามว่า ทำไมเมืองไทยเมื่อจะขายน้ำมัน จึงต้องอิงราคาน้ำมันที่สิงคโปร์ เขาตอบว่าเพราะเป็นราคาตลาดโลก ถามต่อไปว่า ทำไมต้องอิงตลาดโลกคำตอบตรงนี้จำไม่ได้ แต่พอคลับคล้ายคลับคลาว่าเพราะเป็นราคามาตรฐาน

คำตอบคำนี้ถ้าเป็นจริง ดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่พยายามโน้มใจให้เชื่อว่าเมื่อมันเป็นมาตรฐานแล้ว ก็ไม่ต้องซักต่อไปอีก เพราะเมื่อมันเป็นมาตรฐานแล้ว มันจะถูกหรือแพงก็ต้องยินยอม ถ้าเป็นอย่างนั้นมันก็ไม่ยุติธรรม ตัวอย่างเช่น น้ำมันกลั่นในเมืองไทย ส่งขายเมืองไทย ซึ่งไม่ต้องเสียค่าขนส่งมาก เหมือนส่งจากสิงคโปร์ แล้วทำไมจึงคิดราคาเท่ากับส่งจากสิงคโปร์ เหมือนเราสั่งสินค้าจากที่อื่น กับเราผลิตสินค้าขายในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวกัน ทำไมเราต้องไปยึดราคาที่ส่งมาจากที่อื่น

ถามต่อไปว่า ทำไมประเทศมาเลเซียเขาไม่ยึดราคาสิงคโปร์ ราคาน้ำมันเขาจึงถูกกว่าไทย แล้วก็เป็นต้นเหตุให้ผู้มีอิทธิพลแอบต่อท่อน้ำมันข้ามชายแดนมาขายในเมืองไทยได้ราคางาม เพราะซื้อน้ำมันราคาถูกจากมาเลเซีย แล้วมาขายราคาแพงในเมืองไทย มีคำกล่าวหาที่แสบกว่านั้นว่าคนไทยมีบ่อน้ำมันเอง กลั่นน้ำมันเอง แต่ต้องซื้อราคาน้ำมันแพง ขณะที่น้ำมันที่กลั่นเมืองไทย และส่งไปขายต่างประเทศราคากลับถูกกว่าขายเมืองไทย ถ้าเป็นจริงอย่างนั้น ก็ต้องถามว่า ทำไมไม่ยึดราคาสิงคโปร์ แต่ถ้าคำกล่าวหาอันแสบทรวงนั้นไม่จริงก็แล้วไป เพราะที่ผ่านมาแต่ละฝ่ายยกเรื่องน้ำมัน มากล่าวหากันและกันอย่างอุตลุด !

Advertisement

เรามาศึกษาคำกล่าวหาเรื่องน้ำมันของกันและกันดังต่อไปนี้ ฝ่ายหนึ่งอ้างว่า การที่อดีตนายกฯคนหนึ่ง ออกกฎหมายเปลี่ยนสภาพ ปตท. จากรัฐวิสาหกิจ ไปเป็นบริษัทมหาชน ทำให้อดีตนายกฯคนหนึ่งรวยมหาศาล เพราะมีหุ้นในบริษัทมากกว่าคนอื่นๆ คำกล่าวหานี้ไม่ทราบว่าเป็นจริงหรือไม่ เพราะเราก็ไม่สามารถไปค้นหาผู้ถือหุ้นในบริษัทเหล่านั้นได้ และก็ไม่เคยได้ยินการแก้ข้อกล่าวหาเหล่านี้เลย หรือเขาอาจจะแก้แต่เราไม่ได้อ่านก็เป็นได้ หรือการกล่าวหาจะเป็นจริงอีกข่าวหนึ่ง กล่าวหาว่า ในปี พ.ศ.2551 อดีตนายกฯ คนหนึ่งเปิดบ่อน้ำมันในอ่าวไทย ข่าวชิ้นนี้ผู้เขียนไม่เคยได้ยิน แต่ได้ยินตอนที่อีกฝ่ายหนึ่งออกมาแก้ทางทีวีว่า การที่กล่าวหาว่าอดีตนายกฯ คนหนึ่งเปิดบ่อน้ำมัน ในปี พ.ศ.2551 นั้น เป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอย เพราะว่าปี พ.ศ.2551 นั้น เป็นสมัยที่ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี อดีตนายกฯคนดังกล่าวจะมี power ขนาดนั้นเชียวหรือ? ข้อกล่าวหาจึงตกไป

แต่ถ้าจะมีข้อโต้แย้งว่าอดีตนายกฯอาจหนุนหลังบริษัทข้ามชาติมาดูดน้ำมันหรือดูดก๊าซในหลุมที่กล่าวถึงก็ได้ ถ้าเป็นอย่างที่ว่ากาลเวลาเท่านั้นที่จะรู้ความจริง

สําหรับอีกฝ่ายก็เอาเรื่องน้ำมันมาโจมตีตอบดังนี้ มีการกล่าวหาว่าคนแวดล้อมบุคคลสำคัญคนหนึ่ง เป็นกรรมการบริหาร ปตท.ทุกคน คำกล่าวหาข้อนี้ น่าจะไม่มีน้ำหนัก เพราะอะไร? เพราะถ้าเป็นความจริง ผู้ตรวจฯคงไม่กล้าทำการฟ้องตามที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้เป็นแน่

Advertisement

อีกข้อหาหนึ่งฝ่ายนี้กล่าวว่า เมื่อมีการประชุมพนักงานพลังงานแห่งหนึ่ง และในที่ประชุมวันนั้นมีการแถลงรายนามผู้ถือหุ้นที่เกี่ยวกับพลังงานทั้งหมด เมื่อแถลงเสร็จแล้ว ในที่ประชุมถามว่าหุ้นที่เหลือใครถืออยู่ทำไมไม่แจ้งให้ทราบ มีบางคนตอบว่าหุ้นนี้บอกไม่ได้ ที่ประชุมยืนยันว่า ต้องบอก! เท่านั้นเองการประชุมวันนั้นต้องยุติลง เลยไม่รู้ว่าใครมีหุ้นอีกบ้าง

นี่ ก็เป็นความลึกลับของเรื่องน้ำมัน

ข้อกล่าวหานี้สร้างความเสียหายให้ใคร ในช่วงนั้น เหลืองแดงต่างมีสื่อวิทยุและทีวี กล่าวหากันเป็นว่าเล่น ดังนั้นแต่ละฝ่ายน่าจะปั้นน้ำเป็นตัว สร้างความเสียหายให้กันและกันก็ได้

อีกข้อหาหนึ่ง ฝ่ายนี้อ้างว่าตอนที่พรรคหนึ่งเป็นรัฐบาล บุคคลระดับสูงฝ่ายการเมืองได้นำเอกสารระบุแหล่งน้ำมันและแหล่งก๊าซ ไปปรึกษาสมเด็จฯฮุน เซน ในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชา ฝ่ายนี้อ้างว่าการไปเจรจาแบบลับนี้ไม่ควร สมเด็จฯ ฮุน เซน ไม่คุยด้วย อ้างว่าต้องไปคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา ต้องถือเป็นเรื่องของรัฐบาลต่อรัฐบาล แต่เพื่อไม่ให้เสียไมตรี ท่านฮุน เซน ให้ท่านผู้หญิงของท่านปรุงแกงเลียงบวบต้อนรับฝ่ายไทย

คราวนั้นฟากนี้โพนทะนาว่า การที่แอบไปเงียบๆ แบบนี้ แสดงว่าจะไปคุยกับสมเด็จฯ ฮุน เซน เพื่อแอบดูดน้ำมัน แล้วเอาผลประโยชน์กันเฉพาะผู้มีอำนาจของแต่ละประเทศ ก็โพนทะนากันไป !

ความลึกลับของเรื่องน้ำมันยังมีอีก !

หลายคนน่าจะยังจำกันได้ ในช่วงที่อดีตนายกฯคนหนึ่งเป็นนายกฯใหม่ๆ มีการไปจับเรือบรรทุกน้ำมันกลางทะเลอ่าวไทย นัยว่าเรือลำนั้นบรรทุกน้ำมันที่ผลิตในเมืองไทยนี่แหละจะไปส่งขายต่างประเทศ เท่าที่พอจำได้ เหมือนเจรจากันอยู่วันหรือสองวัน เรือลำนั้นจึงเป็นอิสระเดินทางไปได้ ชาวบ้านก็ไม่ทราบว่าไปไหน แต่คนมีอำนาจคงรู้กันว่าอะไร คืออะไร ! ยัง ! ยัง ! มีเรื่องที่น่าแปลกไม่น้อยเลยอยู่อีก ที่หลายคนคงยังจำได้ว่ากลุ่มพันธมิตรก็ดี กลุ่ม กปปส.ก็ดี ต่างช่วยกันเขย่าบัลลังก์ของยิ่งลักษณ์จนล้ม แล้วจากนั้น เมื่อยึดอำนาจได้แล้ว คนเหล่านี้ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการเกี่ยวกับนโยบายเรื่องน้ำมัน หรืออะไรทำนองนี้แหละ

จากนั้นเขาเหล่านี้ก็ปรึกษากันไปปรึกษากันมาก็แตกกัน ด่ากัน เรื่องน้ำมันที่ผลิตเมืองไทยนี่แหละ นี่ ! ก็เป็นความลึกลับของน้ำมันเมืองไทย

เท่าที่ได้กล่าวมาหรือแม้แต่ความรู้สึกสนใจของผู้อ่านเองที่ต้องซื้อน้ำมันเดินทาง จะพบว่ามันวุ่นวายมาตลอด ยิ่งได้พบข่าวผู้ตรวจการทำการฟ้องอดีต รมต. ที่ไม่คืนท่อก๊าซ ทำให้สงสัยหนักขึ้น

ความสงสัยเกิดขึ้น 4 จุด จุดแรก คือการโต้ตอบระหว่างคำฟ้องของผู้ตรวจฯกับการแก้ของ ปตท. กล่าวคือ กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินฟ้อง ปตท. ให้คืนทรัพย์สินให้แผ่นดินที่ผ่านมา ตามข่าว ปตท. แก้ว่า ประเด็นการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด 4 ครั้ง ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนยันทั้ง 4 ครั้งว่า ปตท.ได้คืนและแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาให้แก่กระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว อ่านข่าวแล้วก็นั่งคิดว่า ทำไมฟ้องถึง 4 ครั้ง และศาลปกครองสูงสุดก็พิพากษาทั้ง 4 ครั้งว่า ปตท.เขาคืนให้แล้ว นี่ก็จะฟ้องอีก แล้วถ้าฟ้องเหมือนเดิม ศาลก็จะตัดสินเหมือนเดิม งานนี้น่าจะฟ้องว่าข้อมูล และรายงานของรัฐมนตรีเป็นเท็จ แถมปกปิดความจริง เช่นมีท่อก๊าซอีก 50 รายการ ที่ยังไม่เปิดเผย เขาแอบเอาอุปกรณ์เหล่านี้ไปหาเงินใส่กระเป๋าหรือไร? การฟ้องว่าเจ้ากระทรวงให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ศาลจะได้วินิจฉัยเฉพาะข้อมูลที่เจ้ากระทรวงให้มาในประเด็นที่ว่าข้อมูลเท็จหรือไม่ ปกปิดข้อมูลหรือไม่ ถ้าศาลพิพากษาว่าข้อมูลเท็จ และปกปิดข้อมูล แล้วจึงทำการฟ้องให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า

ความสงสัยในจุดที่สอง ก็คือ การเก็บภาษีเข้ากองทุนน้ำมัน กรรมการบริษัท ปตท. ไม่มีอำนาจเรียกเก็บ ต้องผ่านสภาเท่านั้น นี่ก็น่าสงสัย ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ? ปตท.ควรชี้แจงข้อนี้ให้ชัด เพราะการเก็บภาษีเข้ากองทุนน้ำมันแต่ละสตางค์มันมีความหมาย เช่น งุบงิบกันเก็บเพิ่มเพียง หนึ่งสตางค์ต่อลิตร สมมุติเมืองไทยใช้น้ำมันวันละแสนลิตร ก็ได้วันละแสนสตางค์ แล้วก็นำเงินดังกล่าวนี้ไปเป็นเบี้ยประชุม นำไปเป็นเงินปันผลตอนสิ้นปี ผู้ตรวจฯแจ้งว่า กรรมการแต่ละคนได้เบี้ยประชุมและเงินปันผลคนละ 4.7 ล้านบาทต่อปี เพราะมีรายได้งามเช่นนี้ กรรมการจากกระทรวงการคลังและจากกระทรวงพลังงาน จึงเงียบไม่กล้าทุบกระเป๋าตัวเอง

ความสงสัยจุดที่สาม การที่กรรมการ ปตท.มีรายได้ตามจำนวนที่กล่าว อาจจะยังไม่น่าเกลียด เหมือนกรรมการการบินไทย เพราะถ้ามีรายได้พอๆ กับการบินไทย คสช.คงจัดการไปเหมือนกรรมการการบินไทยแล้ว หรือจะเป็นว่า คสช.ไม่ได้ใส่ใจกรรมการ ปตท.เลย เพราะมันไม่ฟู่ฟ่าเหมือนการบินไทย

ความสงสัยจุดที่สี่ คือคำทิ้งท้ายของผู้ตรวจการแผ่นดินที่อยู่ในบทความดังกล่าว ขอยกมาให้อ่านกันอีกครั้ง ดังต่อไปนี้

…นอกจากนี้ เมื่อผู้ตรวจฯได้เริ่มตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ก็มีอดีตประธานบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เขียนจดหมายส่วนตัวมาถึงผมระบุว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ทำทุกอย่างถูกต้องแล้ว อย่ามาหาเรื่องและให้ยุติเรื่องดังกล่าว ซึ่งผมก็เก็บจดหมายใส่ลิ้นชัก แล้วเดินหน้าต่อไปจนมาถึงการฟ้องร้องในครั้งนี้….

การมีจดหมายมาถึงแบบนี้ มันมีผลอยู่สองอย่าง คือ ผมทำถูกต้องแล้วคุณอย่าไปค้นให้เหน็ดเหนื่อยเลยเสียเวลาไปเปล่าๆ

หรือมันอาจจะมีเงื่อนงำก็ได้ คนที่ทำไว้กลัวความผิด จึงกลั่นออกมาเป็นตัวอักษรเหมือนมีความไม่ถูกใจผสมออกมาว่า อย่ามาหาเรื่อง

และที่เขียนว่า ให้ยุติเรื่องเสีย เหมือนเป็นคำสั่ง เหมือนเป็นคำขาด ลักษณะคำพูดเหล่านี้ มันบ่งว่างานนั้นถูกต้องแล้ว หรือมันบ่งว่างานนั้นมีเงื่อนงำ ผู้อ่านคิดกันเอาเองก็แล้วกัน

หลายสิบปีที่ผ่านมา คนอื่นจะเป็นอย่างไรผู้เขียนไม่ทราบ แต่สำหรับผู้เขียนยังไม่หายสงสัยเลยว่า ทำไมมาเลเซียเขาขายน้ำมันไม่อิงราคาสิงคโปร์ แถมราคาน้ำมันเขาถูกกว่าไทยด้วย การขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่เกี่ยวกับ ปตท. รวมถึงการฟ้องร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินแถมท้ายด้วยผู้เคยรับผิดชอบเรื่องน้ำมันในอดีต เขียนจดหมายมาสั่งทำนองว่า เรื่องน้ำมันที่ผ่านมาทำถูกต้องแล้ว อย่ามาหาเรื่อง ให้ยุติเรื่องเสีย

มันจึงน่าจะสรุปได้ว่า ธุรกิจน้ำมันน่าจะมีปัญหาอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย ทาง ปตท.น่าจะอาศัยหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์มติชนแถลงข้อสงสัยที่ผู้ตรวจฯสงสัย เช่น ท่อก๊าซอีก 50 รายการเป็นต้น ให้กระจ่าง ว่ามันเป็นอย่างไร ชาวประชาจะได้เลิกสงสัยเสียที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image