‘สุเทพ’มาแล้ว! ประกาศจุดยืนหนุนร่าง รธน. ถูกใจมาก-ร่ายยาวข้อดีเพียบ

‘สุเทพ’หนุน’รธน.’ฉบับมีชัย บอกชอบตั้งแต่คำปรารภ ตอบโจทย์ปัญหาบ้านเมือง วอนอย่ากังวล กรธ.เขียนกลไกให้พรรคการเมือง เสนอชื่อว่าที่’นายกฯ’ พร้อมเห็นด้วยกำหนดให้มี ส.ว. 250 คนช่วงเปลี่ยนผ่าน มั่นใจ ปชช.ร่วมมือออกเสียงประชามติ

เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่อาคารทู แปซิฟิค เพลส สุขุมวิท นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติว่า ส่วนตัวชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นพิเศษ เริ่มตั้งแต่คำปรารภซึ่งเขียนได้ถูกใจมาก เพราะได้แสดงออกถึงเจตนารมณ์ของคนไทยทั้งประเทศ ที่ยืนยันให้ประเทศปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งคำปรารภได้ยอมรับความเป็นจริงทางการเมืองไทย แม้ประเทศต้องปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแต่เมื่อประชาธิปไตยไม่ราบรื่น มีปัญหาคือคนไม่เคารพกติกา ยึดหลักเฉพาะเปลือกผิว ไม่เอาแก่นแท้ไปประพฤติปฏิบัติ ทำให้เกิดการบิดเบือนการใช้อำนาจ ร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้กำหนดเป้าหมายชัดเจน เพื่อแก้วิกฤตประเทศ และพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนเพื่อประชาชน

นายสุเทพกล่าวว่า ช่วงเดือนพฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ขณะนั้น ได้เชิญทุกฝ่ายไปหารือเพื่อหาทางออกให้ประเทศ แต่ปรากฎว่านายชัยเกษม นิติสิริ ยืนยันว่าไม่มีกฎหมายใดให้รัฐบาลออกจากการรักษาการจนทำให้ประเทศถึงทางตัน จึงทำให้ ผบ.เหล่าทัพยึดอำนาจกลายเป็น คสช.มาจนถึงทุกวันนี้ เพราะไม่มีทางเลือก แต่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้เขียนช่องทางไว้ว่าหากเกิดวิกฤตจะมีคนรับผิดชอบ โดยกำหนดให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่เชิญผู้ใหญ่บ้านเมือง ทั้งประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี และประธานองค์กรอิสระ รวม 13 คน มาร่วมกันหาทางออก เมื่อที่ประชุมมีมติอย่างไร ก็ให้ดำเนินการไปตามนั้น ซึ่งแนวทางนี้ป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารเหมือนอดีตที่ผ่านมาถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญฉบับใดมาก่อน

นายสุเทพกล่าวต่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เขียนเรื่องการปฏิรูปประเทศไว้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด กปปส.ที่เคยเสนอให้ปฏิรูปประเทศไว้ 5 ด้าน ทั้งเรื่องการเมือง ระบบราชการ การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น ความเหลื่อมล้ำ และปฏิรูปตำรวจ เมื่อ คสช.ยึดอำนาจ มวลมหาประชาชนตั้งความหวังว่าจะมีการปฏิรูปเกิดขึ้น และเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์พยายามผลักดันแก้ไขในเรื่องสำคัญๆ เช่น การป้องกันปราบปรามการทุจริต อีกทั้งในเรื่องของการปฏิรูปยังเขียนไว้ชัดเจน คือ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดทิศทางการปฏิรูป โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม และบอกไว้ในมาตราต่างๆ ว่าใครทำอะไรเมื่อใด ส่วนเรื่องที่ประชาชนคาดหวังมากคือ การปฏิรูปตำรวจ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนชัดว่า ต้องปฏิรูปภายในหนึ่งปีนับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้

Advertisement

นายสุเทพกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ตนยังรู้สึกพอใจที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เขียนกำหนดเรื่องการปฏิรูปการศึกษา เพราะประเทศไทยมีปัญหาเรื่องนี้มากใช้งบมากแต่ไม่ได้ผล ขณะเดียวกันร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้กำหนดให้รัฐต้องทำหน้าที่อะไรบ้างให้กับประชาชนในเรื่องต่างๆ ถ้าหากรัฐไม่ดำเนินการ ประชาชนสามารถฟ้องร้องได้ ซึ่งแนวทางดังกล่าวไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาก่อน เช่นเดียวกันนี้ยังเขียนรับรองให้ประชาชนสามารถดูแลบ้านเมือง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และยังกำหนดชัดเจนให้รัฐต้องดูแลปกป้องและอุปถัมภ์ศาสนาไม่ให้ใครมาบ่อนทำลาย ซึ่งไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญเช่นกัน

นายสุเทพกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มา ส.ว. ตนเห็นว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้พิจารณาจากสภาพความจริงที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองและหาทางออกเหมาะสม เพราะที่แล้วมา ได้ฝากบ้านเมืองไว้กับนักการเมือง แต่ครั้งนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนที่ไม่ได้สังกัดพรรค สามารถเสนอตัวเข้ามาสู่กระบวนการคัดเลือกทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเชื่อว่า ส.ว.จะทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ ไม่มีใครครอบงำได้ ส่วนที่กำหนดให้พรรคการเมืองสามารถเสนอรายชื่อว่าที่นายกฯได้ 3 รายชื่อ ก่อนการเลือกตั้งนั้นก็มีเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการเปิดทางให้มีนายกฯคนนอก ซึ่งประเด็นนี้ต้องยอมรับความจริงว่าบางสถานการณ์จำเป็นต้องให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกฯ แก้ปัญหาบ้านเมือง เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปได้ ดังนั้นไม่ต้องกังวลมากมาย และคนนอกไม่ใช่ใครก็ได้ที่มาเป็น เพราะตามกระบวนการคนที่จะเลือกนายกฯ ก็คือ ส.ส. ดังนั้นบทบัญญัตินี้เขียนไว้เพื่อเป็นทางออกเอาไว้

“การปฏิรูปพรรคการเมือง เป็นสิ่งที่ตรงกับข้อเสนอของมวลมหาประชาชน ที่ให้พรรคเป็นของประชาชนเพื่อประชาชน ซึ่งเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยร่างรัฐธรรมนูญนี้ถือเป็นความหวังต่อการปฏิรูปและพัฒนาประเทศ ไปสู่ความเจริญยั่งยืน และเพื่อผลประโยชน์ต่อชาติและประชาชนแท้จริง”

Advertisement

นายสุเทพกล่าวว่า ส่วนในบทเฉพาะกาลที่กำหนดให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำหน้าที่คัดเลือก ส.ว. จำนวน 250 คน ส่วนตัวเห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะใช้เพียงแค่ชั่วคราวในวาระเริ่มแรก เมื่อครบกำหนดแนวก็จะหมดไปและเข้าสู่บทบัญญัติตามปกติ ทั้งนี้ คสช.กำหนดบทบัญญัตินี้เพราะหลังการเลือกตั้งไม่มีใครคาดเดาสถานการณ์ได้ว่าจะเป็นอย่างไร ดังนั้น จำเป็นหาหนทางเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยหลังการเลือกตั้ง ส่วนกรณีพรรคเพื่อไทยมองว่าการให้ ส.ว. 250 คน มาอยู่ในสภา เหมือนเป็นการตั้งพรรคการเมืองใหญ่นั้น ต้องกลับไปดูบทบัญญัติให้ละเอียด เพราะมันไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย

นายสุเทพกล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นคำถามพ่วงประชามติของ สนช.ที่เสนอให้ ส.ว.สามารถเลือกนายกฯได้นั้น ส่วนตัวยังไม่เห็นชัดเจนว่าจะเขียนสั้นหรือยาว ซึ่งจากการติดตามยังสับสนว่าคำถามนั้นเขียนสั้นหรือยาวขนาดไหน กรณีนี้ถ้าสมมุติว่าประชาชนทั้งประเทศเอาด้วยก็จะเป็นหลักการเฉพาะช่วงหลังเลือกตั้งคราวนี้เท่านั้น ไม่ได้ใช้ถาวร สำหรับกรณีการเคลื่อนของกลุ่มต่างๆ ในช่วงการทำประชามติ ยังเชื่อมั่นว่า พล.อ.ประยุทธ์ สามารถดูแลให้เกิดความราบรื่น และเชื่อมั่นอีกว่าประชาชนจะออกมาให้ความร่วมมือกับการทำประชามติ ส่วนจะลงความเห็นอย่างไรถือเป็นสิทธิของประชาชน

นายสุเทพกล่าวด้วยว่า สำหรับการเปิดเวทีให้กับกลุ่มเห็นด้วยและไม่เห็นแสดงความเห็น สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือน ปลุกระดม หรือพูดชี้นำให้โหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวเชื่อว่าการพูดวันนี้ไม่ผิดกฎหมาย ถ้า คสช.เห็นว่าพูดไม่ได้เพราะไม่ถูกต้อง คสช.ก็เรียกไปปรับทัศนคติเท่านั้นเอง

ส่วนความเห็นของตนที่มีความแตกต่างจากพรรคประชาธิปัตย์นั้น ตนเห็นแล้วว่าต้องมีคนถามแบบนี้ แต่กปปส.ได้ลงทุนลงแรง เห็นพี่น้องตากแดดตามลม เสียเลือดเสียเนื้อ ต้องการให้บ้านเมืองพ้นวิกฤต จึงไม่คิดแบบนักการเมือง แต่คิดแบบประชาชน ความเห็นทั้งสองฝ่ายไม่ควรเอามารวมกัน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ไปตนก็คงไม่ตั้งพรรคการเมืองหรือลงเลือกตั้งตามที่เคยประกาศไว้กับมวลมหาประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image