ปชป.วิพากษ์พ.ร.บ.ประชามติ พบช่องโหว่เพียบ หวั่นถูกตีความกลั่นแกล้งคน

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ (แฟ้มภาพ)

‘ปชป.’วิพากษ์ พ.ร.บ.ประชามติ หลังพบช่องโหว่หลายมาตรา คาใจ ปชช.เห็นต่าง รธน. บอกข้อเสีย เหมือนที่ กรธ.บอกข้อดีได้หรือไม่ จี้ กกต.แจงให้ชัดเจน ป้องกันวุ่นวาย-เป็นช่องว่างไปกลั่นแกล้งได้

วันที่ 24 เมษายน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วว่า เนื้อหาสาระของ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ฉบับนี้มีข้อควรพิจารณาดังนี้ 1.มาตรา 7 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริต และไม่ขัดต่อกฎหมาย” ทำให้เกิดคำถามว่า คำว่า “เผยแพร่ ความคิดเห็น” ด้วยวิธีการเชิญชวนชาวบ้านในหมู่บ้านมาถกแถลงแสดงความคิดเห็นร่วมกันถึงข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญจะทำได้หรือไม่อย่างไร

นายองอาจกล่าวต่อว่า 2.มาตรา 10 บัญญัติให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ดำเนินการเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการจูงใจ
ซึ่งอาจเชื่อได้ว่า กรธ.ก็คงไปบอกถึงด้านดีของร่างรัฐธรรมนูญ จึงเกิดคำถามตามมาว่า ถ้าประชาชนที่เห็นต่างจากร่างรัฐธรรมนูญ จะไปบอกถึงข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญแบบเดียวกับ กรธ. หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐทำจะได้หรือไม่อย่างไร

รองหัวหน้า ปชป.กล่าวต่อว่า มาตรา 61 บัญญัติถึงการเผยแพร่ข้อความที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง มีโทษรุนแรงจำคุก 10 ปี บทบัญญัตินี้อาจถูกตีความเพื่อเล่นงานกับผู้เห็นต่างจากร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้ง่าย เช่น กรธ.บอกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แต่มีคนเห็นต่างบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญปราบโกงไม่ได้จริงมากนัก แบบนี้จะถือว่าเผยแพร่ข้อความที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือไม่

Advertisement

นายองอาจกล่าวต่อว่า ขอเรียกร้องให้ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งรักษาตาม พ.ร.บ.นี้ ออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง ให้การปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ เป็นไปด้วยความชัดเจน สามารถดำเนินการได้อย่างเสรีและเป็นธรรม เพราะกฎหมายประชามตินี้เป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญา ประชาชนทุกคนสามารถกล่าวโทษร้องทุกข์แจ้งความดำเนินคดีได้เลย ไม่ต้องรอร้องต่อ กกต.แต่อย่างใด ถ้า กกต.ไม่ออกกติกาให้ชัดเจน อาจมีการแจ้งความดำเนินคดีกันมากมาย หรืออาจใช้ช่องว่างของกฎหมายหาทางดำเนินคดีกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างจากร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็ได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความวุ่นวายตามมาอย่างแน่นอน

“กกต.จึงควรออกกติกาให้รอบคอบชัดเจนที่สุด เพื่อไม่ให้ใช้กฎหมายประชามติเพื่อประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบกับการออกเสียงประชามติโดยรวมในที่สุด” นายองอาจกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image