คุณบรรหาร โดย ปราปต์ บุนปาน

แฟ้มภาพ

คุณบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบในวัย 83 ปี

หากถามว่าคนรุ่นผมจดจำอะไรเกี่ยวกับคุณบรรหารได้บ้าง?

โดยส่วนตัว สิ่งแรกที่ผมจำได้เกี่ยวกับอดีตนายกรัฐมนตรีท่านนี้ ก็คือ การที่ท่านถูกเล่นงาน/ชกใต้เข็มขัดในเรื่อง “สัญชาติ”

แม้การอภิปรายจัดหนักคุณบรรหารครั้งนั้น จะพยายามอ้างอิงประเด็นข้อกฎหมาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีนัยยะกระทบกระเทียบเหยียดหยาม “ความเป็นจีน” ที่มีอยู่ในตัวนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย

Advertisement

จนจัดเป็นกระบวนท่าทางการเมืองที่ “ล้าหลัง” มากๆ กระบวนท่าหนึ่ง

กระทั่งผม ที่ขณะนั้น เรียนอยู่มัธยมต้น ก็ยังมีความรู้สึกทำนองว่า “อะไรกันวะ ขนาดละครทีวียังมีพระเอกเป็นคนจีนหอบเสื่อผืนหมอนใบมาแล้ว แต่ในสภา มันยังเล่นงานผู้นำประเทศด้วยข้อหา ‘ความเป็นคนจีน’ กันอยู่เลย”

แต่ใช่ว่าผู้นำที่ถูกเบียดขับออกจาก “ความเป็นไทย” จะขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่อง “การเมืองวัฒนธรรม” แบบไทยๆ โดยสิ้นเชิง

Advertisement

ตรงกันข้าม ในหลายหน คุณบรรหารกลับแสดงตนว่าเข้าใจการต่อสู้ทางการเมืองบนสนามดังกล่าวอย่างทะลุปรุโปร่ง

ประจักษ์พยานข้อหนึ่ง คือ พิธีเปิดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติที่สุพรรณบุรีในปี 2537

ซึ่งภาพ “เทวดา” เหาะขึ้นไปจุดคบเพลิงในสนามกีฬากลางจังหวัดสุพรรณบุรี สามารถตอบสนอง “ความปรารถนา/ความต้องการ” ของคนไทย (โดยเฉพาะคนไทยกรุงเทพฯ) ที่ฝันจะเห็นความเชื่อตามจารีตประเพณี ถูกผูกโยงเข้ากับเทคโนโลยีอันทันสมัย แล้วเชื่อมร้อยนำเสนอออกมาเป็นภาพลักษณ์ตระการตาน่าตื่นใจ ได้เป็นอย่างดี

ภาพความเป็นนักการเมืองวัฒนธรรมของคุณบรรหารในแง่มุมนี้ (ซึ่งระยะหลังๆ ได้ขยับขยายจุดมุ่งเน้นไปยัง “ความเป็นจีน” อย่างภาคภูมิใจ) คล้ายจะไม่ปรากฏแจ่มชัดสู่สายตาสาธารณชนมากนัก หากเทียบกับภาพความเป็นนักการเมืองผู้เชี่ยวชาญช่ำชองเรื่องงบประมาณ และการเจรจาต่อรองผลประโยชน์

ภาพลักษณ์หลังที่กระจ่างชัดกว่า ปรากฏผ่านการพัฒนาจังหวัดสุพรรณบุรีอย่างเป็นรูปธรรมในหลายๆ ด้าน ตลอดจนการมีสถานะเป็น “นักปรับประสานต่อรอง” ผู้ลื่นไหล หากไม่แม่นยำหลักการเท่าที่ควร

หลายครั้ง สถานะที่ว่า อาจไม่นำพา “สิ่งที่ดีที่สุด” มาสู่สังคมการเมืองไทย แต่บางครั้ง ผลลัพธ์จากความพยายามจะปรับประสานต่อรอง ก็นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมการเมืองไทยเกินคาดคิด

อาทิ การถือกำเนิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ได้รับการผลักดันจากรัฐบาลคุณบรรหาร เป็นต้น

น่าตั้งคำถามว่า ณ ช่วงท้ายของชีวิต ลึกๆ แล้ว คุณบรรหารคิดวิเคราะห์เกมการเมืองไทยในหนึ่งทศวรรษหลังเอาไว้อย่างไรบ้าง?

นอกจากการให้สัมภาษณ์ “ทางการเมือง” ที่เต็มไปด้วยความประนีประนอมอ่อนน้อมกับผู้มีอำนาจขั้วต่างๆ ตามพื้นที่สื่อ

อย่างไรก็ดี หลายคนเชื่อว่าการเมืองไทย “ยุคหลังรัฐบาล คสช.” ในอีกไม่กี่ปีนับจากนี้ จะเป็นสนามต่อรองผลประโยชน์ที่นักการเมืองรุ่น “คุณบรรหาร” คุ้นชินและเข้าใจอย่างถ่องแท้ลึกซึ้ง

น่าเสียดายที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ได้ถึงแก่อนิจกรรมไปเสียก่อน

ก่อนที่ช่วงเวลานั้นจะเดินทางมาถึง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image