ร่อนแถลงการณ์ จี้รัฐเปิดพื้นที่แสดงความเห็น ปชป.-พท-NGO-อาจารย์ ร่วมลงชื่อเพียบ

กลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย อ่านแถลงการณ์ ‘ว่าด้วยการทำประชามติ’ จี้ รัฐเปิดพื้นที่แสดงความเห็นร่างรธน. อย่างสร้างสรรค์ ด้าน ‘อ.มหิดล’ หวิด โดนเชิญตัว หลัง มอบแผ่นผับ ‘7 เหตุผลไม่ควรรับร่างรธน.’ ของกลุ่ม ปชต.ใหม่

วันที่ 25 เมษายน เวลา 16.00 น.ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย นำโดยนายไพโรจน์ พลเพชร นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และอดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้อ่านคำแถลง “ว่าด้วยการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม 2559” โดยระบุว่า การจัดทำประชามติต้องมีความชอบธรรม กระบวนการทำประชามติต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส สุจริต และเที่ยงธรรมในทุกขั้นตอน และต้องเปิดให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย อีกทั้งประชาชนมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะแสดงความคิดเห็นได้โดยสุจริตและอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงการนำผู้ที่มีความคิดเห็นต่างไปปรับทัศนคติ นอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ยังเป็นการลดความชอบธรรมของกระบวนการทำประชามติอีกด้วย ขณะเดียวกันต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนก่อนการทำประชามติว่าจะมีทางเลือกและกระบวนการอย่างไรต่อไปในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ

สำหรับรายชื่อบุคคลที่ลงนามสนับสนุนคำแถลงการณ์ฉบับดังกลาว มีจำนวน 104 คน อาทิ นายไพโรจน์ พลเพชร นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและอดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย นายสมชาย หอมลออ อดีตกรรมการปฎิรูปกฎหมาย นายสุริชัย หวันแก้ว ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายโคทม อารียา นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลนิธิปรีดีพนมยงค์ นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสุชาติ บำรุงสุข อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และยังมีนักการเมืองร่วมลงชื่อด้วย อาทิ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย น.ส.รัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส.กทม. นายกษิต ภิรมย์ สปท. นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นายบุญทัน ดอกไทสง อดีตรองประธานวุฒิสภา ปี 43-49 นางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ นายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสปช. เป็นต้น

ทั้งนี้ เวลา 16.00 น. หลังเสร็จกิจกรรม น.ส.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชน นำแผ่นพับ “7 เหตุผลที่ไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ” ของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ มอบให้ผู้ร่วมเสวนา 2-3 ราย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เดินเข้ามาเพื่อยึดแผ่นพับดังกล่าว พร้อมทั้งขอเชิญ น.ส.เบญจรัตน์ไปพูดคุย โดยไม่ให้เหตุผล น.ส.เบญจรัตน์ จึงมอบให้ทนายมาเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยยืนยันว่า ไม่ไป เพราะไม่ได้ทำอะไรผิด เจ้าหน้าที่จึงขอนามบัตรและเบอร์ติดต่อกลับแทน ซึ่ง น.ส.เบญจรัตน์กล่าวภายหลังว่า เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นปัญหาของการตีความตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image