เลขาฯอาชีวะเผยต้องช่วยคนจน!! ชี้จบป.6เกรดต่ำ2.5มีเยอะ เหตุส่วนใหญ่เรียนไม่ดีเพราะมีตัวแปรเพียบ

เมื่อวันที่ 26 เมษายน พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้จัดทำข้อเสนอในการแก้ปัญหานโยบายการศึกษา ปัญหาโครงสร้างการศึกษา ระบบจัดหารศึกษา รวมถึงปัญหาคุณภาพผู้เรียน โดยขอให้นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการแก้กฎหมายการศึกษา 15 ฉบับ โดยไม่ต้องผ่านที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาทิ ให้จัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ตั้งแต่ปฐมวัยถึงชั้น ป.6 แยกสายสามัญ และสายอาชีวะ ตั้งแต่ชั้น ม.1 และเสนอให้ตั้งสถาบันครูศึกษา เพิ่มประสิทธิภาพ และผลิตครูที่มีศักยภาพสูง พร้อมรับประกันเงินเดือนครูต้องไม่ต่ำกว่าแพทย์ รวมถึงยังมีแนวคิดให้เด็กที่จบชั้น ป.6 แต่ได้เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 เมื่อเข้าเรียนชั้น ม.1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด หากไม่มีเงินก็ให้กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อให้เด็กตั้งใจเรียนนั้น เห็นข้อเสนอดังกล่าวแล้ว ซึ่งตนก็อยากคุยรายละเอียดกับผู้ตรวจการแผ่นดินเหมือนกันว่าคิดอย่างไร และมีข้อมูลใดประกอบแนวคิด ตอนนี้คงไม่สามารถตอบได้ว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย

“ปัจจุบันการศึกษาภาคบังคับกำหนดให้เรียนถึง ม.3 ยังสะดุ้งกัน กลัวเด็กจะหลุดออกนอกระบบ ถ้าบังคับแค่ ป.6 ก็มีโอกาสที่เด็กจะออกนอกระบบการศึกษามากขึ้น ส่วนที่ให้เสนอให้เด็กที่จบ ป.6 แต่เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 เมื่อเข้าเรียน ม.1 ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนเอง ต้องไปถามสังคมว่าเห็นด้วยหรือไม่ ผมตอบไม่ได้ ต้องพูดคุยรายละเอียดให้เข้าใจก่อน” พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าว

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ข้อเสนอหลายข้อเป็นประโยชน์ แต่มีบางประเด็นที่ไม่เห็นด้วย อาทิ กำหนดการศึกษาภาคบังคับถึงชั้น ป.6 ควรบังคับเรียนถึงชั้น ม.3 เช่นเดิม แต่หากจะให้ความสำคัญกับปฐมวัย ก็ควรขยายภาคบังคับโดยให้เรียนเพิ่มระดับอนุบาล 3 ปี ไม่ใช่ตัดมัธยมต้นทิ้ง รวมถึง แนวคิดให้เด็กจบชั้น ป.6 แต่เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 ต้องจ่ายค่าเทอมชั้น ม.1 เองนั้น จะกระทบต่อเด็กยากจน เพราะส่วนใหญ่จะเรียนไม่ดี เนื่องจากผลการเรียนมีตัวแปรหลายเรื่อง ทั้งฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม หากเอาตัวเลขผลการเรียนมาตัดสิน โดยไม่ดูแลช่วยเหลือให้สวัสดิการก่อน จะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้น อีกทั้ง มาตรฐานการวัดประเมินผลของครูแต่ละโรงเรียนก็มีหลากหลาย ดังนั้น การจะนำเกรดเฉลี่ยซึ่งมีมาตรฐานที่หลากหลายมาใช้ตัดสินเด็ก จึงไม่เหมาะสม และการประเมินคุณภาพการศึกษาในระดับสากล จะดูที่จำนวนปีเฉลี่ยในการจัดศึกษาของประชากรในประเทศเป็นสำคัญ อีกทั้ง ยังจะส่งผลให้ตัวเลขเด็กออกกลางคันเพิ่มขึ้นด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image