อังกฤษคิดค้น “แบตเตอรี่พลังฉี่”

(ภาพ-University of Bath)

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบาธ, มหาวิทยาลัยควีนแมรี ในกรุงลอนดอน กับศูนย์พลังงานชีวภาพบริสตอล ในประเทศอังกฤษ ประสบความสำเร็จในการสร้าง “ไมโครเบียล ฟิวเอล เซลล์” แบตเตอรี่ชีวภาพที่ใช้พลังงานจากปัสสาวะ และออกแบบให้มีต้นทุนต่ำ โดยคาดว่าจะตั้งราคาขายได้เพียง 1-2 ปอนด์ หรือ 50-100 บาทโดยประมาณ

แบตเตอรี่ชีวภาพที่มีขนาด 1 ลูกบาศก์นิ้ว ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่นี้ อาศัยกระบวนการทางชีววิทยาตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียย่อยสลายแล้วเปลี่ยนปัสสาวะให้เป็นกระแสไฟฟ้า ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาคาร์บอนเป็นขั้่วแคโทดหรือขั้วลบ คาร์บอนดังกล่าวสกัดได้จากกลูโคสและโอวัลบูมิน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ได้จากไข่ขาว สามารถเปลี่ยนใหม่ได้ง่ายเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและราคาถูกกว่าขั้วแพลทินัมซึ่งใช้กันอยู่ทั่วไป แม้จะยังให้พลังไฟต่ำ แต่ก็มากพอต่อการชาร์จโทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้

ทีมวิจัยช่วยกันพัฒนาการออกแบบเพื่อให้ได้พลังงานไฟฟ้าออกมาสูงสุด ด้วยการเพิ่มอีเลคโทรดของแต่ละเซลล์จาก 4 มิลลิเมตรให้เป็น 8 มิลลิเมตร ส่งผลให้ได้พลังไฟเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า เมื่อนำเซลล์มาต่อซ้อนกันก็จะเพิ่มกำลังไฟได้มากขึ้นไปอีก โดยแบตเตอรี่พลังปัสสาวะต้นแบบสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 2 วัตต์ต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากพอที่จะจ่ายเป็นพลังงานให้กับสมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่อง

ทั้งนี้ทางทีมวิจัยกำลังหาหนทางเพิ่มประสิทธิภาพของมันให้สูงขึ้นเพื่อลดขนาดลงต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image