จากกรุงโรมถึงป้อมมหากาฬ “พื้นที่ชุมชนคือพื้นที่ประวัติศาสตร์”โดยรังสิมา กุลพัฒน์

มนุษย์มีการใช้พื้นที่ทับซ้อนกันมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคปัจจุบัน

คำว่า “พาลิมเสส” (Palimpsest) ที่แปลว่าใช้แล้วใช้อีกนั้น มีกำเนิดมาจากภาษากรีก ว่า พาลิน (palin) แปลว่า อีกครั้ง พซายโอ (psaio) หมายความว่าลบออก ในสมัยยุคกลาง คำนี้ใช้ในความหมายว่า การใช้ตำราใหม่โดยลบตัวหนังสือออกจากตำราเก่าที่ถูกใช้แล้วและนำมาเขียนทับใหม่ ซึ่งคำนี้กลายเป็นที่นิยมใหม่หมู่นักเขียนเรื่องเล่ามาเป็นร้อยๆปี

ในเชิงสถาปัตยกรรมนั้น คำว่า “พาลิมเสส” (Palimpsest) ได้ถูกนำมาใช้อธิบายแนวคิดของพื้นที่มีการใช้งานหลายๆชั้น(multilayered structure) ซึ่งย่อมก็ต้องมีผลต่อความแตกต่างของวัฒนธรรมบนภูมิทัศน์นั้นๆ โดนัล ไมน์นิก (Donal Meinig) เขียนคำนำในหนังสือที่เขาเป็นบรรณาธิการชื่อ “การตีความภูมิทัศน์วัฒนธรรม” (The Interpretation of Ordinary Landscapes-คำว่า Ordinary นั้นเขาหมายถึงพื้นที่ที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งตรงกับความหมายสำหรับภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน) ตั้งแต่ปีพ.ศ 2522 เขาเป็นคนแรกที่เรียนพื้นที่ภูมิทัศน์ว่า “พื้นที่ทับซ้อน” “a palimpsest”มาผนวกกับคำว่า “ภูมิทัศน์” (Landscape) หรือการใช้พื้นที่ทับซ้อน เขาอธิบายว่าการสร้างภูมิทัศน์นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการชั่วคราว และภูมิทัศน์นั้นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพื้นที่ในอดีต เป็นแบบจำลองทางประวัติศาสตร์ของภูมิทัศน์ รวมไปถึงการกำเนิดขององค์ประกอบต่างๆ แนวคิดนี้แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่หลงเหลือในอดีตนั้นต้องมีความเปลี่ยนแปลง มีบางสิ่งที่อาจถูกละเลย หลงลืม และมีบางสิ่งที่ก่อรูปขึ้นมาซ้ำใหม่ และในที่สุดสิ่งต่างๆเหล่าที่ก็จะเสื่อมสลายไปและมีองค์ประกอบหรือสิ่งใหม่ๆถูกสร้างขึ้นมาทดแทน

วิหารออกัสตุส สองพันปี ใจกลางเมืองเก่า พร้อมการจัดนิทรรศการอธิบายและจำลองวิหารในรูปเต็มให้กับผู้มาเยือนได้ชม
วิหารออกัสตุส สองพันปี ใจกลางเมืองเก่า พร้อมการจัดนิทรรศการอธิบายและจำลองวิหารในรูปเต็มให้กับผู้มาเยือนได้ชม

ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกอะไรสำหรับพื้นที่เดิมที่ถูกใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเปลี่ยนแปลงไปในรูปต่างๆกัน แต่ขณะเดียวกันก็มีการบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นไว้ และคนในปัจจุบันก็ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงและการใช้พื้นที่เดิมในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม เป็นแนวทางอนุรักษ์ที่แสดงให้เห็นความรู้ความเข้าใจในการใช้แนวความคิดดังกล่าวที่คิดว่าชัดเจนเป็นรูปธรรมนั้นก็มีหลายสถานที่ เช่น การค้นพบซากโบราณสถานโรมันในอพาร์ตเม้นท์ที่กรุงบารเซลโลน่า ประเทศสเปน ถนนที่ผู้คนสัญจรไปมาอย่างคึกคักที่เมืองเวโรน่า ประเทศอิตาลี และสุดท้ายคือโรงหนังใกล้น้ำพุเทรวี่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เป็นตัวอย่างในการจัดการพื้นที่ การเป็นอยู่ของชุมชน และการปกป้องโบราณสถานที่ควรหวงแหน เขาทำอย่างไร เพื่อเป็นตัวอย่างให้สำหรับแนวคิดในการกำจัดชุมชนออกจากพื้นที่โบราณสถานและเปลี่ยนไปให้ร้างผู้คนเพื่อตอบสนองความคิดในแนวทางที่คนบางกลุ่มเห็นว่าถูกต้อง

Advertisement
นิทรรศการที่วิหารออกัสตัส
นิทรรศการที่วิหารออกัสตัส

กรุงบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน

สองพันกว่าปีมาแล้ว กรุงบาร์เซโลน่า มีชื่อว่า บาซิโอ Barcio เป็นเมืองของโรมันที่สร้างนอกกรุงโรมที่ใหญ่ที่สุด ดังนั้นในเมืองบาร์เซโลล่า จึงยังมีซากปรักหักพัง ของสถาปัตยกรรมแบบโรมันที่ล่มสลายไปอยู่เป็นจำนวนมาก โดยทางเมืองได้จัดการบูรณะและเปิดให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมได้ 13 แห่ง เป็นภาพของอิทธิพลของสถาปัตยกรรมโรมันในอดีตที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วเมืองบาร์เซโลน่า (ที่จริงก็ทั่วไปในยุโรป และในปัจจุบันก็ยังมีอิทธิพลต่อคนทั่วโลกถึงแม้จะไม่ได้ถูกปกครองโดยโรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา มีอาคารที่มีเสาทรงโรมันอยู่เกือบทุกถนน)

หนึ่งในนั้นคือ วิหารออกัสตุส (Augustus) ที่มีอายุสองพันปี ยังหลงเหลืออยู่มีเพียงเสาเพียงสี่เสา แต่ละเสาสูง9เมตร ซึ่งสร้างตั้งแต่ 100 ปีก่อนคริสตการ (ประมาณ 2100 ปีก่อน อุทิศให้จักรพรรดิออกัสตุส) มีความยาว 37 เมตร และกว้าง 17 เมตร ตั้งอยู่ที่ถนน Carrer de Paradis 10 วิหารออกัสตุส หรือ Temple Roma D’August อยู่ในเขตโรมันฟอรัม (Roman Forum) โรมจะสร้างผังเมืองให้คล้ายกันทุกแห่งฟอรัม ( Forum)นั้นมีหน้าที่ เสมือนเป็นเมืองศูนย์กลางราชการ ซึ่งในกรุงโรมตั้งอยู่ใกล้ๆสนามกีฬาโคลีเซียม

วิหารแห่งเมือบาร์เซโลน่านี้ อยู่ใจกลางกำแพงเมืองเก่าของโรมันในชื่อของบาชิโน (Barcino) ในสมัยที่อยู่ในความปกครองของโรม ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น บาร์เซโลน่า(Barcelona) ในภาษาสเปน หรือเมืองคาตาโลเนีย(Catalonia) ของชาวคาตาลุนย่า (Catalunya) ซึ่งชาวเมืองอยากเรียกตนเองว่าเช่นนี้มากกว่าคำว่า สแปนิช แสดงให้เห็นชั้นของสถาปัตยกรรมของเมืองที่มีความเก่าแก่ที่สุด ก่อนที่จะมีการสร้างอาคารในยุคสมัยต่อๆมา และผู้คนก็ยังใช้สถานที่แห่งนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งวิหารโรมันแห่งนี้ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตส่วนเมืองเก่ายุคกลางในเขตสถาปัตยกรรมโกธิคของเมืองบาร์เซโลน่า

 ใต้พื้นถนนในเมืองเวโรน่าเป็นรากฐานของประตูเมืองในอดีต
ใต้พื้นถนนในเมืองเวโรน่าเป็นรากฐานของประตูเมืองในอดีต

การเข้าไปชมวิหารแห่งนี้ ต้องเดินลัดเลาะตามตรอก และก้มลงลอดอุโมงค์ในอาคารเดินเลี้ยวขวา เงยหน้าขึ้นมาก็จะพบกับซากโบราณสถาน เป็นเสาทรงโรมัน ที่ให้เห็นเป็นลางเลาถึงอดีตอันรุ่งเรืองของโรมันในอดีต ซึ่งขณะเดียวกันก็จะเห็นภาพความเป็นอยู่ของ ชุมชนที่อยู่รอบข้างซึ่งอยู่ภายในอพารต์เม้นท์ที่มีลักษณะทันสมัย แทรกอยู่ร่วมกับมวลหมู่อาคารยุคโกธิค นีโอคลาสสิค โรมาเนส ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันในบางส่วน วิหารแห่งนี้ถูกล้อมรอบด้วยอพาร์ตเม้นท์ที่อยู่อาศัย และด้านหน้าเป็นร้านค้าขายของทั้งอาหารเครื่องดื่ม ของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว ทางเมืองได้จัดทำนิทรรศการขนาดย่อมให้กับผู้มาเยือนได้อ่านความเป็นมาของ โบราณสถาน ความเป็นอยู่ของชุมชนรอบๆโบราณสถานนั้นก็ไม่ได้รับความเปลี่ยนแปลงเพียงแต่พื้นที่ได้ถูกจัดการอย่างเรียบร้อย โดยไม่ให้รบกวนซึ่งกันและกัน

เมืองเวโรน่า ประเทศอิตาลี ได้รับการยกย่องเป็นเมืองมรดกโลก เนื่องจากมีสถาปัตยกรรมที่ยังหลงเหลือ และ โครงสร้างของเมืองที่มีวิวัฒนาการยาวนานจากอดีตสู่ปัจจุบันกว่า สองพันปี โดยได้รับการคัดเลือกเป็นมรดกโลกในการส่งเข้าคัดเลือกในเกณฑ์ข้อที่ สอง และเกณฑ์ข้อที่สี่ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ในเกณฑ์ข้อที่สองนั้นยูเนสโกระบุว่า “จะต้องแสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนความสำคัญในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ที่ครอบคลุมเวลาและวัฒนธรรมของโลก ให้เห็นถึงการพัฒนาการของสถาปัตยกรรมหรือเทคโนโลยี ศิลปะโบราณสถาน ผังเมืองหรือการออกแบบทางภูมิทัศน์ “ โดยเมืองเวโรน่าได้อธิบายในข้อนี้ว่า “สถาปัตยกรรมและโครงสร้างของเมืองนั้นมีความโดดเด่น ที่ได้รับการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งตลอดระยะเวลา 2000 ปี ซึ่งเป็นมีองค์ประกอบทางศิลปะที่มีศักยภาพสูงสุดในแต่ละยุคสมัย”

ในส่วนของเกณฑ์ข้อที่สี่นั้นยูเนสโกกำหนดว่า “ต้องมีความโดดเด่นที่ประเภทของอาคาร สถาปัตยกรรม หรือการใช้เทคโนโลยีหรือ ภูมิทัศน์ ซึ่งแสดงให้เห็นระดับความสำคัญของประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติ” ในข้อนี้เมืองเวโรน่า ได้อธิบายว่า “เวโรน่าเป็นตัวแทนของความโดดเด่นในด้านแนวคิดของเมืองที่แข็งแกร่งต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัยของประวัติศาสตร์ยุโรป” เนื่องจากยังคงรักษาความสมบูรณ์ของเมืองไว้ได้แม้จะเกิดภาวะสงครามที่น่าจะเป็นสาเหตุของการทำลายเมืองได้ในหลายยุคสมัย และชาวเมืองก็ยังคงรักษาบ้านเรือนของตนไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ถึงแม้สิ่งก่อนสร้างจะต่างยุคต่างสมัย แต่ก็เป็นตัวแทนในแต่ละยุคสมัยนั้นๆ

เวโรน่าตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลีริมแม่น้ำ อาดิเก (Adige) การอธิบายประวัติศาสตร์ก็ไม่ต่างไปจากเมืองอื่นๆทั่วโลกที่สามารถย้อนไปถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมืองถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สี่ร้อยปีก่อนคริสตกาล และกลายเป็นเมืองในสังกัดของโรมในช่วง100 ปีก่อนคริสตกาล ตัวอย่างสถานที่ที่นำมาให้ชมนี้ คือ ประตูเลโอนิ หรือประตูสิงห์ (Leoni) เป็นหนึ่งในชั้นประวัติศาสตร์ยุคโรมัน จากแบบอย่างผังเมืองของโรมัน เมืองเวโรน่า มรดกโลก ประกอบด้วยประตูเมือง 4 ด้าน ในปัจจุบันหลงเหลือที่เป็นหลักฐานทางโบราณสถานได้อยู่เพียง ประตูบอร์ซาย (Borsai) และประตูเลโอนี (Leoni) เท่านั้น

ประตูเลโอนี นั้นอยู่ที่ถนนชื่อเดียวกัน เป็นย่านการค้าของเมือง มีร้านค้าตั้งเรียงรายมากมาย การขุดค้นทางโบราณคดี เปิดเผยให้เห็นว่าภายใต้ชั้นถนนที่ทุกคนเดินซื้อของกันอย่างเพลิดเพลินนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นป้อมปราการ ด่านประตูในสมัยโรมันเมื่อสองพันปีมาแล้ว โดย การขุดค้นได้เปิดเผยเพียงส่วนหนึ่งที่อยู่กลางถนนเท่านั้น ส่วนที่เหลืออยู่ภายใต้อาคารพาณิชย์ทั้งสิ้น ซึ่งทางเมืองก็ไม่เห็นความจำเป็นในการทุบทำลายอาคารเหล่านี้ซึ่งก็ถือว่าเป็นอาคารประวัติศาสตร์ในยุคเรเนซองค์ ที่มีความเก่าแก่ไม่ต่ำกว่า สี่ห้าร้อยปี แต่ก็ยังมีการใช้สอยในปัจจุบัน เพื่อเผยให้เห็นซากปรักหักพังของยุคโรมัน การตัดสินใจไม่เลือกที่จะเก็บรักษาชั้นประวัติศาสตร์ชั้นใดชั้นหนึ่งเพียงชั้นเดียวไว้นั้น เป็นแนวคิดที่จะทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้อย่างมีสันติสุข

เมืองเวโรน่าในปัจจุบัน
เมืองเวโรน่าในปัจจุบัน

นักวิจัยหลายท่านได้ทำการจำลองรูปด่านประตูขึ้นมา จากการอธิบายของสำนักโบราณคดีของอิตาลีกล่าวว่า ประตูเลโอนี นั้น เป็นหนึ่งในทางเข้าหลักของชาวโรมันในเมืองเวโรน่าในสมัยสองพันปีก่อน ซึ่งสร้างขั้นเมื่อหนึ่งร้อยปีก่อนคริสตกาลและได้รับการบูรณะอีกประมาณหนึ่งร้อยปีหลังคริสตกาลก็ประมาณสองร้อยปีหลังจากการสร้างครั้งแรก

ส่วนที่หลงเหลืออยู่ของประตูแห่งนี้มีเพียงบ่างส่วน ซึ่งได้รับการบูรณะอย่างจริงจังในปีพ.ศ 2501-2502 ซึ่งการขุดค้นประตูนี้พบว่า ตัวประตูบางส่วนและ อีกส่วนที่เป็นฐานรากอยู่กลางถนนเลโอนี ซึ่งได้ขุดค้นขึ้นในช่วยปี พ.ศ. 2517-2524 ทำให้นักโบราณคดีเข้าใจแผนผังของโครงสร้างของประตูเมืองนี้ได้ดีขึ้น ทำให้เห็นว่าประตูเมืองเลโอนี ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกำแพงเมือง ซึ่งประตูเมืองเลโอนี ได้ชื่อหลังจากที่มีการชุดค้นรูปปั้นสิงโตสองตัว การเปิดหน้าการขุดค้นให้เห็นชั้นของโบราณสถานส่วนใต้ดิน และยังคงให้มีการสัญจรในท้องถนนที่มีการค้าขายนั้น เผยให้เห็นร่องรอยของหอคอยขนาดใหญ่สองหอคอย และยังคงรักษาผนังส่วนของประตูเมืองไว้อีกด้าน ทำให้คนในเมืองและผู้มาเยือนต่างก็เข้าใจเมืองในสมัยสองพันปีที่แล้ว และทางผู้ดูแลเมืองปัจจุบันเข้าใจสภาพความเปลี่ยนแปลงของกายภาพเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เป็นอย่างดี และยอมรับความเปลี่ยนแปลงนั้น โดยเลือกที่จะไม่บังคับให้ชุมชนซึ่งทำการค้าในย่านธุรกิจสำคัญนี้ย้ายนิวาสถานออกไป

กรุงโรม ประเทศอิตาลี

บริเวณไม่ไกลออกไปจากน้ำพุเทรวี่ อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในกรุงโรม มีโรงภาพยนตร์ชื่อศาลาเทรวี อัลแบร์โต ซอร์ดี (Sala Trevi-Alberto Sordi) ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งตามนักแสดงที่มีชื่อเสียงชาวอิตาเลียน โรงภาพยนตร์แห่งนี้มีทางเข้าเล็กๆ ที่มีเค้าท์เตอร์ของเจ้าหน้าที่ทางการกองโบราณคดีของอิตาลีตั้งไว้ที่ทางขวามือ ถือเป็นแหล่งโบราณสถาน โดยสามารถเดินลงบันไดไปข้างล่างและจะมีโรงภาพยนตร์อยู่ทางซ้ายมือ เมื่อเดินเข้าสู่เขตโบราณสถานที่ได้ถูกค้นพบจากการที่โรงภาพยนตร์แห่งนี้เริ่มทำการสร้าง โดยมีคำอธิบายจากป้ายนิทรรศการภายในโบราณสถานว่า

“ระหว่างการดำเนินการสร้าง โรงภาพยนตร์ศาลาเทรวี( Sala Trevi) นั้นได้มีการค้นพบทางโบราณคดีที่สำคัญ ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณบริษัท กรุปโป ครีมอนินิ (Gruppo Cremonini) ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารแห่งนี้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2528 การบูรณะเกิดขึ้นในช่วงปี 2542-2544 ซึ่งทำให้ได้รู้ว่าที่ใต้ดินนี้ในอดีตนั้นเป็นอาคารขนาดใหญ่ในยุคอิมพิเรียล (Imperial Age)ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่าเป็นเมืองโบราณ ที่ย้อนไปถึงยุคของจักรพรรดิ์นีโร (Niro) และเป็นที่พำนักอันหรูหราในช่วงศตวรรษที่ห้า รวมทั้งมีอาคารสาธารณะที่ได้กลายเป็นแหล่งผลิตน้ำหล่อเลี้ยงชุมชนในยุคของฮาเดรียน (Hadrien) อีกด้วย”

 

“เมื่อทางการได้เข้ามาจัดการพื้นที่แห่งนี้ถึงถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นเอกชนที่ดำเนินการโรงภาพยนตร์ตามปรกติ อีกส่วนหนึ่งเผยให้เห็นแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี และส่วนนิทรรศการ ซึ่งมีการเก็บค่าเข้าชมและรายได้เป็นของทางการไป”

 

 โรงภาพยนตร์ ศาลาเทรวี่ Sala Trevi หรือ ศาลาอัลเบอร์โตซาลดีSala Alberto Saldi และแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีภายในโรงภาพยนตร์
โรงภาพยนตร์ ศาลาเทรวี่ Sala Trevi หรือ ศาลาอัลเบอร์โตซาลดีSala Alberto Saldi และแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีภายในโรงภาพยนตร์

โรงภาพยนตร์ ศาลาเทรวี่ Sala Trevi หรือ ศาลาอัลเบอร์โตซาลดีSala Alberto Saldi และแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีภายในโรงภาพยนตร์

โรงภาพยนตร์ศาลาเทรวี่ หรือศาลา อัลเบอร์โต ซาลดี จึงถือโอกาสนี้เผยให้เห็นฉากด้านข้างที่เป็นแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี ถือว่าเป็นทิวทัศน์ที่น่าตื่นเต้นสำหรับผู้ชมภาพยนตร์อยู่ไม่น้อย ผนังด้านข้างได้ทำเป็นกระจกใสตามแนวยาวตลอดด้านข้าง ทำให้ผู้ชมสามารถมองเห็นแหล่งขุดค้นทางโบราณสถานได้โดยสะดวก การยอมรับและการใช้พื้นที่ร่วมกันเช่นนี้ถือว่าเป็นการจัดการชั้นยอดที่ได้ผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายทั้งทางภาครัฐและเอกชน และยังมีการร่วมดูแลพื้นที่ให้กันและกัน

จากตัวอย่างของแหล่งโบราณคดีทั้งสามแห่ง จะเห็นว่าเป็นการจัดการที่ไม่ได้เลือกเพียงชั้นของประวัติศาสตร์เพียงชั้นเดียว ความสำคัญของโบราณสถาน และชุมชนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าชุมชนนั้นเป็นชั้นเดียวกับยุคสมัยในประวัติศาสตร์หรือไม่ เช่นในกรณีของโรงภาพยนตร์ศาลาเทรวี่ นั้นเจ้าของอาคารเพิ่งครอบครองอาคารแห่งนี้ในประมาณสามสิบปีที่ผ่านมานี้เอง ย่อมไม่สามารถจะเทียบเคียงกับโบราณสถานอายุสองพันปีได้แน่ๆ และหากจะต้องสืบหาชุมชนที่สืบเชื้อสายมาจากชุมชนในแหล่งน้ำโบราณแห่งนี้ที่เป็นชุมชนของคนร่ำรวยนั้น จะไปหากันที่ไหน หรือต้องพิสูจน์ดีเอ็นเอ หรือว่าแท้จริงแล้วผู้คนที่อยู่ในโรมต่างก็เป็นญาติกันทั้งสิ้น เช่นเดียวกับการกำเนิดมนุษย์

โรงภาพยนตร์ศาลาเทรวี่ หรือศาลา อัลเบอร์โต ซาลดี เผยให้เห็นฉากด้านข้างที่เป็นแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี
โรงภาพยนตร์ศาลาเทรวี่ หรือศาลา อัลเบอร์โต ซาลดี เผยให้เห็นฉากด้านข้างที่เป็นแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี

โรม

“การจัดการโบราณสถานโดยยึดเอาประชาชน หรือชุมชนเป็นหลัก เป็นความแท้ยิ่งกว่า การคงรักษาเพียงโบราณสถานให้มีสภาพงดงาม แต่ขาดจิตวิญญาณของชุมชน จึงเท่ากับเป็นการลบประวัติศาสตร์ชุมชนออกจากประวัติศาสตร์เมือง”

ป้อมมหากาฬ กรุงเทพมหานคร

ป้อมมหากาฬ เป็นป้อมปราการจาก 14 ป้อม ที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อป้องกันพระนคร ซึ่งปัจจุบันคงหลงเหลือเพียงสองป้อมคือ ป้อมมหากาฬและป้อมพระสุเมรุ ซึ่งได้รับการบูรณะใหญ่ในคราวฉลองกรุงในปีพ.ศ.2525 มีชุมชนเก่าแก่ที่อยู่ในบริเวณนั้นคือ บ้านสาย และตรอกพระยาเพชร ลักษณะบ้านเรือนไม้ของไทย ทำให้มีการเสื่อมสลายไป หากเป็นข้าราชการหรือคณบดีก็อาจจะมีบ้านที่มีหลักฐานมั่นคงทำให้ยังคงหลงเหลือสำหรับให้ผู้สืบทอด หรือ ลูกหลานอนุรักษ์รักษาไว้ได้จนถึงปัจจุบัน ต่างจากสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่มักจะสร้างบ้านเรือนจากวัสดุที่มีความคงทนกว่าเช่น หิน จึงทำให้คงหลงเหลือเป็นหลักฐานการอยู่อาศัยถึงแม้ผู้ครอบครองจะเปลี่ยนไปแต่การมีหลักฐานทำให้เกิดการพิสูจน์ชุมชนได้ไม่ยากนัก รวมทั้งภูมินาม (Place name) ชื่อของสถานที่ๆเปลี่ยนแปลงไปจากหน่วยงานปกครอง ทำให้ชื่อที่ใช้อยู่เดิมถูกลืมเลือนไป

ป้อมมหากาฬ

ชุมชน บ้านเรือน ทีอยู่อาศัยคือองค์ประกอบของสถาปัตยกรรม และของเมือง สร้างเมืองให้มีชีวิต เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตของเมือง ความเข้มแข็งของชุมชนคือความเข้มแข็งของเมือง การเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยด้วยปัจจัยต่างๆนับตั้งแต่อพยพมาประกอบสัมมาอาชีพ หรือการถูกกวาดต้อนจากสงคราม ทำให้เกิดการเพิ่มพลเมืองในแต่ละสถานที่ การปฏิเสธพลเมืองว่ามิใช่เป็นพลเมืองแต่ดั้งเดิม นั้นเปรียบเสมือนการละเลยสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่หลากหลาย มีวัฒนธรรมและมรดกที่หลากหลาย (the diversity of cultures and heritage) การที่พิจารณาการอนุรักษ์รักษาเพียงแต่วัตถุ มิได้คำนึงถึงชีวิตของพลเมืองและวัฒนธรรมนั้น ซึ่งถือว่าเป็นจิตวิญญาณอันสำคัญของเมือง จึงเป็นการขาดความเคารพต่อแก่นสำคัญของการพัฒนามนุษย์ การพัฒนาอารยธรรมนั้นจึงความจะพัฒนาควบคู่กันระหว่างมรดกที่จับต้องได้ (Tangible Heritage ) และจับต้องไม่ได้(Intangible Heritage)

ป้อมมหากาฬ

นอกจากกรณีศึกษาจากต่างประเทศทั้งเสปนและอิตาลี ถึงการจัดการชุมชนกับโบราณสถานที่กล่าวมาข้างต้น การศึกษาชุมชนในเชิงสหวิทยาการ โดยใช้นักวิชาการจากหลากหลายด้าน อาทิมานุษยวิทยา สังคมวิทยา รัฐประสาสนศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ นิติศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ โบราณคดี ฯลฯ นั้นน่าจะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องชุมชนและพื้นที่ได้มากขึ้น การทุบทำลาย(Demolishing)นั้นอาจทำได้ในเวลาสั้นๆ แต่การสั่งสมวัฒนธรรมนั้นต้องใช้เวลายาวนานและทีละเล็กละน้อย

การประเมินค่า”ความแท้” (Authenticity) ในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้น ย่อมมิอาจประเมินได้ ”ความแท้” ที่ทางผู้จัดการพื้นที่ต้องการ กรณีป้อมมหากาฬ ทำให้ชุมชนป้อมมหากาฬที่อยู่อาศัยด้านหลังกำแพงของป้อมมหากาฬนั้นพยายามพิสูจน์ว่าตนเองเป็นชุมชนเก่าแก่ที่อยู่มานาน นักวิชาการจากหลากหลายสถาบัน ต่างก็เข้ามาทำงานวิจัยในพื้นที่เป็นเวลากว่าสิบปี เพื่อแสดงให้เห็นว่าสถาปัตยกรรมของบ้านเรือนของชุมชนดังกล่าวนั้นสามารถสืบได้ว่ามีมาตั้งแต่ยุคเริ่มก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยนั้น คงจะเป็นไปได้ยากที่จะยึดถือแบบสถาปัตยกรรม และ ความเป็นอยู่ให้ยังคงเป็น”ความแท้”แบบย้อนยุค

นอกเสียจากจะเป็นการจัดฉากแสดงให้เห็นแบบเป็นการเลียนแบบ อย่างที่เห็นในตลาดร้อยปีต่างๆในปัจจุบัน ยากที่จะหาชาวอเมริกันพื้นเมืองต่างตัวแบบชนเผ่า รวมทั้งก็ไม่อาจหาคาวบอยในอริโซน่า อย่างที่ทุกคนเห็นในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดได้ เพราะชุมชนต่างๆนั้นได้เลือกที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิต มีเพียงบางชุมชนที่ยังยึดถือการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมเช่นชาวอามิช (Amish) ในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นสำหรับเยาวชนของเขาที่มีอายุ 18 ปี ให้ไปเผชิญโลกข้างนอกและเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบดั้งเดิม หรือจะเปลี่ยนไปตามโลกข้างนอก

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมทางสังคม จึงเป็นสิ่งที่ผู้จัดการพื้นที่ของกรุงเทพมหานครน่าจะให้ความสำคัญ เพราะการจัดการโบราณสถานโดยยึดเอาประชาชน หรือชุมชนเป็นหลัก เป็นความแท้ยิ่งกว่า การคงรักษาเพียงโบราณสถานให้มีสภาพงดงาม แต่ขาดจิตวิญญาณของชุมชน จึงเท่ากับเป็นการลบประวัติศาสตร์ชุมชนออกจากประวัติศาสตร์เมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image