รุมสวดยับ!! พ่อแม่ถล่มผู้ตรวจการแผ่นดินให้จ่ายค่าเทอม ม.1 ถ้าเกรดต่ำ 2.5 ชี้ ‘โหดร้าย-โลกแคบ’

นายสุมิตร สุวรรณ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยกรณีมีกระแสคัดค้านเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจัดทำข้อเสนอในการแก้ปัญหานโยบายการศึกษา ปัญหาโครงสร้างการศึกษา ระบบจัดการศึกษา รวมถึง ปัญหาคุณภาพผู้เรียน อาทิ ให้จัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ตั้งแต่ปฐมวัยถึงชั้น ป.6 แยกสายสามัญ และสายอาชีวะตั้งแต่ชั้น ม.1 รวมถึง มีแนวคิดให้เด็กที่จบชั้น ป.6 แต่ได้เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 เมื่อเข้าเรียนชั้น ม.1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด หากไม่มีเงินก็ให้กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อให้เด็กตั้งใจเรียน ว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเหล่านี้ ทั้งนี้ การปรับการศึกษาภาคบังคับถึงชั้น ป.6 จากเดิมชั้น ม.3 ก็ไม่เข้าใจว่าจะเสนอลดไปเพื่ออะไร เพราะยิ่งเรียนสูงยิ่งดี จะบังคับให้เรียนถึงชั้น ม.3 เท่าเดิมก็ได้ แต่ถ้าเพิ่มถึงชั้น ม.6 ได้ยิ่งดี และรัฐควรสนับสนุนเรื่องการเพิ่มคุณภาพการเรียนการสอนมากกว่า ส่วนที่เสนอให้ผู้ที่จบชั้น ป.6 แต่ได้เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 เมื่อเข้าเรียนชั้น ม.1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายเองนั้น เด็กเก่งส่วนใหญ่เป็นลูกคนรวย จึงมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายอย่าง ทั้งอาหารการกิน การดูแลของครอบครัว แต่เด็กชนบทมีโอกาสทางการศึกษาไม่เท่ากัน บางคนต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน สภาพความเป็นอยู่ อาหารการกินเพื่อบำรุงสมอง การดูแลของครอบครัว หรือส่งเสริมให้เรียนพิเศษ อาจไม่มี หากผู้ตรวจการแผ่นดินนำข้อเสนอดังกล่าวส่งให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณา ก็ต้องดูให้รอบคอบถี่ถ้วน คิดถึงข้อดีข้อเสียในภาพรวมให้มากที่สุด

นางณัฐมน ไทยประสิทธิ์เจริญ ผู้ปกครองนักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนเบญจมราชูทิศ กล่าวว่า ข้อเสนอนี้เหมือนกำลังถอยหลัง มองว่าการศึกษาภาคบังคับแค่ชั้น ม.3 ยังต่ำเกินไป ทุกวันนี้ไทยต้องการปีเฉลี่ยทางการศึกษาที่สูงขึ้น ส่วนที่เด็กจบชั้น ป.6 แต่เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนชั้น ม.1 เองนั้น เป็นความคิดของคนที่มองโลกแคบมาก เพราะเด็กแต่ละคนมีปัจจัยในการเรียนที่ไม่เท่ากัน บางคนเรียนเสร็จต้องกลับบ้านมาช่วยพ่อแม่หารายได้ กลุ่มนี้อาจจะได้เกรดเฉี่ยไม่ถึง 2.5 ขณะที่บางคนบ้าการแข่งขัน และผู้ปกครองมีกำลังส่งเรียนพิเศษ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะได้เกรดเฉลี่ยมากกว่า 2.5 อยู่แล้ว อย่างตนเป็นข้าราชการ ยังต้องจ่ายค่าเรียนของลูกเพิ่ม ทั้งที่เบิกได้บางส่วน แต่ยังส่งลูกเรียนพิเศษได้ไม่เต็มที่นัก

น.ส.วารินทร์ พรหมคุณ ผู้ปกครองนักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนบึงบูรพ์ อ.บึงบูรพ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ในฐานะผู้ปกครอง รู้สึกรับไม่ได้กับการเสนอปรับการศึกษาภาคบังคับให้ถึงแค่ชั้น ป.6 ส่วนตัวไม่มีปัญหาเพราะอยากให้ลูกเรียนเต็มที่อยู่แล้ว แต่ที่กังวลคือผู้ปกครองที่มีรายได้น้อย มีกำลังส่งลูกเรียนน้อย เมื่อรัฐไม่บังคับให้เรียน เด็กอาจถูกดึงออกมาช่วยทำงาน เป็นกรรมกรขายแรงงานมากขึ้น ส่วนที่ให้เด็กจบชั้น ป.6 แต่เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 ต้องจ่ายเงินเรียนชั้น ม.1 เองนั้น ไม่น่าจะเป็นความคิดของคนระดับนี้ เพราะเด็กส่วนใหญ่เป็นลูกของผู้ที่มีรายได้น้อย และไม่มีกำลังส่งลูกเรียนพิเศษ ความคิดนี้จะยิ่งเพิ่มปัญหา และเพิ่มภาระให้สังคมมากขึ้น

น.ส.สายฝน สร้อยศอ ผู้ปกครองนักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่กำหนดให้ภาคบังคับเรียนแค่ชั้น ป.6 และตัดมัธยมต้นออกไป โดยการพัฒนาการศึกษาช่วงที่สำคัญควรอยู่ที่ระดับมัธยม เพราะเด็กจะชัดเจนว่าจะเรียนอะไรต่อ ดังนั้น ถ้าตัดการศึกษาภาคบังคับชั้น ม.3 ออก ห่วงว่าอาจได้ไม่คุ้มเสีย กรณีแยกสายสามัญ และสายอาชีพ ตั้งแต่ชั้น ม.1 ก็ไม่เห็นด้วย ส่วนที่ให้เด็กจบชั้น ป.6 ที่เกรดไม่ถึง 2.5 ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนชั้น ม.1 เอง เป็นข้อเสนอที่โหดร้ายเกินไป เพราะเด็กที่เกรดเฉลี่ย 2.5 ในชั้นประถม ไม่ใช่จะเรียนแย่ตลอดไป บางคนมาฉายแววในช่วงมัธยมก็มี อีกทั้ง ผู้ปกครองไม่ได้มีศักยภาพส่งเสริมการเรียนให้ลูกเท่าเทียมกันทุกคน คิดว่าข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน ทาง ศธ.คงไม่พิจารณา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image