เปิดงานวิจัย ‘สสค.’ เผย ต้นทุนเรียน ม.ปลาย เฉลี่ย คนละ 61,199 บาท

เปิดงานวิจัย ‘สสค.’ เผยต้นทุนเรียนม.ปลายเฉลี่ยคนละ 61,199 บาท รายจ่ายแฝงทางการศึกษาทำเด็กยากจน-รวย รายจ่ายต่างกัน 500 บาท

เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้จัดงานแถลงข่าวเปิดผลสำรวจ”ต้นทุนชีวิตเยาวชนต่อการสอบเข้าอุดมศึกษาไทย” ทั้งนี้นายสมพงษ์ จิตระดับ กรรมการ สสค. กล่าวว่า จากการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับโจทย์ว่าอยากให้เด็กและเยาวชนเรียนอย่างมีความสุข ลดการกวดวิชา ทำกิจกรรมให้มากขึ้น และประเด็นสำคัญคือต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา วันนี้คือการตอบโจทย์ โดยได้สำรวจความคิดเห็นของนักเรียน-ผู้ปกครองต่อการเตรียมความพร้อมเพื่อศึกษาต่ออุดมศึกษา จากกลุ่มตัวอย่างนักเรียนชั้นม.ปลาย จำนวน 1,564 คน และผู้ปกครองนักเรียนชั้นม.ปลาย จำนวน 511 คน ระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน พบว่า นักเรียนชั้นม.ปลาย 60% เรียนพิเศษ ขณะที่อีก 40% ไม่ได้เรียนพิเศษ โดยลงเรียนพิเศษ/กวดวิชาเฉลี่ย 2-3 วิชาต่อปีการศึกษา มีค่าใช้จ่ายตลอดช่วงชั้นม.ปลาย เฉลี่ยคนละ 19,748.43 บาท โดยพบว่าในแต่ละระดับชั้นมีการลงเรียนพิเศษสูงสุดถึง 7 วิชา และต่ำสุด 1 วิชา

“ใน 1 คน มีรายจ่ายตลอดการเรียนชั้นม.4-6 เฉลี่ยคนละ 61,199 บาท คิดเป็น 6% ของได้ในครัวเรือน ประกอบด้วย รายจ่ายในโรงเรียน (ค่าเทอม/ค่ารถ/ค่าอาหารกลางวัน) 17,823 บาท รายจ่ายในการเรียนพิเศษ (ค่าเรียนพิเศษ/ค่ารถ/ค่าที่พัก) 22,592 บาท รายจ่ายในการสมัครสอบ (ค่าสมัครสอบ/ค่ามัดจำเพื่อรักษาสิทธิ/ค่ารถ/ที่พัก) 20,040 บาท นอกจากนี้ยังพบค่ามัดจำเพื่อรักษาสิทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 10,610 บาท โดยพบว่ามีการจ่ายเงินค่ามัดจำสูงถึง 91,000 บาท ขณะที่ผู้ปกครองพร้อมที่จะให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อให้บุตรหลานได้เรียนต่ออุดมศึกษา แม้ว่าจะต้องไปกู้เงินหรือไม่ก็ตาม โดยพบสัดส่วนการกู้ยืมเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษาในครัวเรือนยากจน 52% ฐานะปานกลาง 27% และค่อนข้างมีฐานะ 19%” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว และว่า แม้ว่าจะมีนโยบายเรียนฟรีในระดับม.ปลาย แต่ยังมีรายจ่ายแฝงอยู่ โดยพบว่านักเรียนชั้นม.ปลายที่มีฐานะยากจนมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนใกล้เคียงกับนักเรียนที่มีฐานะปานกลางและกลุ่มที่พอจะมีฐานะ โดยค่าใช้จ่ายต่อเดือนของกลุ่มนักเรียนยากจนอยู่ที่ 2,359 บาท/เดือน ขณะที่กลุ่มที่พอจะมีฐานะอยู่ที่ 2,886 บาท/เดือน ซึ่งต่างกันเพียง 500 บาทเท่านั้น แม้ว่าค่าใช้จ่ายจะใกล้เคียงกันแต่ภาระต่างกันเมื่อเทียบกับสัดส่วนของรายได้ในครัวเรือน

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า สำหรับการสอบเข้าอุดมศึกษาของนักเรียนม.ปลายพบว่า นักเรียนม.6 เฉลี่ยต้องสอบทั้งสิ้น 6 -7 สนาม ประกอบด้วย การสอบวัดผลของโรงเรียน การสอบ O-NET การสอบ GAT/PAT การสอบวิชาสามัญ 9 วิชา การสอบโควตาของมหาวิทยาลัย สอบตรงของมหาวิทยาลัย สอบแอดมิสชั่นส์ ตามลำดับ โดยพบว่ามีการสมัครสอบตรงเฉลี่ย 2 คณะ การสอบตรงสูงสุด 6 คณะ ต่ำสุด 1 คณะ เสียงสะท้อนต่อระบบแอดมิสชั่นส์ คือ การสอบสอบหลายอย่างมากเกินไป 71% ข้อสอบยากเกินไป ทำให้ต้องเรียนพิเศษเพิ่ม 57% ช่วงเวลาการสอบตรงกัน ทำให้มีทางเลือกในการสอบไม่กี่แห่ง 46% สนามสอบอยู่ไกล เสียค่าใช้จ่ายมาก 36% และค่าสมัครแพงมาก 35% ดังนั้นรัฐต้องมีนโยบายที่จริงจังเรื่องการลดการกวดวิชา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image