‘สนช.’ดันเพิ่มโทษพ.ร.บ.คอมฯ แชร์-โพสต์ข้อมูลเท็จ ลามก คุก 5 ปี ปรับ 1แสน

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 28 เม.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์(ฉบับที่…)พ.ศ. … ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เป็นผู้เสนอ โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวรายงานว่า เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ให้ทันต่อรูปแบบการกระทำผิดที่ซับซ้อนมากขึ้นตามพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มี 19 มาตรา มีสาระสำคัญคือ การเพิ่มเติมฐานความผิดและกำหนดโทษแก่ผู้กระทำความผิดตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้หนักขึ้น อาทิ กรณีการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเลคทรอนิคส์แก่ผู้อื่น โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้ อันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ ต้องระวางโทษไม่เกิน 2 แสนบาท หรือกรณีการนำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือการเผยแพร่ ส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ตลอดจนข้อมูลลักษณะลามก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

นายอุตตม กล่าวว่า ส่วนกรณีการตัดต่อภาพผู้อื่น อันทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท รวมถึงเพิ่มเติมโทษแก่ผู้ให้บริการคอมพิวเตอร์ที่ร่วมมือ ยินยอม หรือ รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความดูแลของตนเอง นอกจากนี้ กรณีความผิดตามร่างกฎหมายฉบับนี้ที่มีโทษปรับสถานเดียวหรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี ให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับจำนวน 3 คน ที่รัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง เมื่อได้ชำระค่าปรับแล้ว ให้ถือว่าคดีนั้น สิ้นสุดลง โดยไม่ต้องนำคดีไปศาล

จากนั้นที่ประชุมได้เปิดให้สมาชิกอภิปราย ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ อภิปรายให้ความกังวลกรณีการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ในลักษณะสร้างความน่ารำคาญนั้น จะเกณฑ์กำหนดอย่างไร เพราะระดับความรำคาญของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อีกทั้งการส่งข้อมูลในลักษณะสร้างความรำคาญ ไม่น่าจะทำให้เกิดผลเสียหายถึงขั้นมีโทษถูกปรับเงิน 2 แสนบาท รวมทั้ง ข้อห้ามเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ถือเป็นความหมายกว้างมาก และมีความเปราะบาง อาจถูกตีความไปในลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชนได้
จากนั้นที่ประชุมมีมติเอกฉันท์รับหลักการวาระแรกร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ด้วยคะแนน 160 ต่อ 0 และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 15 คน ดำเนินการภายใน 60 วัน เพื่อพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image