ฐาน ความมั่นใจ “ประชามติ” ผ่านฉลุย ฐานจาก “คสช.”

ปัจจัยอะไรทำให้ “คสช.” และ “รัฐบาล” มากด้วยความมั่นใจเป็นอย่างสูงว่าจะสามารถนำพา “ร่างรัฐธรรมนูญ” ผ่าน “ประชามติ” ไปจนได้

มั่นใจถึง “ระนาบ” ที่วันที่ 7 สิงหาคม คือวันแห่ง “ชัยชนะ”

1 สัมผัสได้จากการที่ทั้ง “คสช.” และ “รัฐบาล” เล่นบทเป็น “เจ้าภาพ” ร่างรัฐธรรมนูญอย่างเปี่ยมล้นและเต็มพิกัด

มิใช่ “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ”

Advertisement

ทั้งมิใช่ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” แม้ว่าบางคนภายใน “กกต.” จะอ้าขาผวาปีกเพื่อให้เข้าตา คสช.และรัฐบาล

1 สัมผัสได้จากการเคลื่อนไหวในห้วงหลังๆ

เป็นการเคลื่อนไหวอันมาจากข้อเสนอของ ครม. เป็นการเคลื่อนไหวอันมาจากข้อเสนอของ คสช.และที่สุดเป็นการเคลื่อนไหวอันปรากฏผ่าน “คำถามพ่วง”

Advertisement

“คำถามพ่วง” นั้นแหละคือรูปธรรมแห่ง “ความมั่นใจ”

พลันที่คำถามพ่วงปรากฏขึ้นนั้นหมายถึงกำเนิดแห่ง “พรรคการเมือง” ที่มีสมาชิกรองรังโดยพื้นฐานอยู่แล้ว 250 คน เท่ากับเป็นหลักประกันให้กับ “ระยะเปลี่ยนผ่าน”

อย่างน้อย 5 ปีและอาจ “ยาววว” และ “นานนน” ยิ่งกว่านั้น

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง พลันที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญผ่านการปรับแต่งตามข้อเสนอ ครม.ตามข้อเสนอ คสช.เมื่อประกาศออกมาในวันที่ 29 มีนาคม

ก็น่าจะถือว่า “จบสิ้น” หมดบทบาท

“ร่างรัฐธรรมนูญ” ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอีกแล้ว ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของ “แม่น้ำ 5 สาย” อีกแล้ว

เป็นเรื่องของ “กกต.” เป็นเรื่องของ “ประชามติ”

หากถือเอากระบวนการเลือกตั้งเป็นบรรทัดฐาน “กกต.” ย่อมทรงสิทธิ ทรงอำนาจอย่างเต็มเปี่ยมจะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งดำเนินไปอย่างบริสุทธิ์ เที่ยงธรรม

“ประชามติ” ก็เช่นเดียวกันกับ “การเลือกตั้ง”

ภารกิจแห่ง “ประชามติ” ย่อมตกมาอยู่บนบ่า “กกต.” ตามที่รัฐธรรมนูญมอบหมาย หน่วยงานอื่นล้วนอยู่ในสถานะหนุนเสริมและคอยให้การช่วยเหลือเท่านั้น

แต่ “สภาพการณ์” ที่เห็นและเป็นอยู่นับแต่วันที่ 29 มีนาคม มิได้เป็นเช่นนั้น

ตรงกันข้าม คสช.และรัฐบาลต่างหากที่ออกโรงแสดงบท “เจ้าภาพ” อย่างเต็มที่ ขณะที่ กกต.อยู่ในสภาพละล้าละลัง จะทำอะไรก็ไม่กล้า รอฟังเสียงจาก คสช. รอฟังเสียงจากรัฐบาล แม้กระทั่งบัดนี้กรอบทางการปฏิบัติก็ไม่มีกำหนดและร่างรายละเอียดออกมา

ขณะที่ “คสช.” และ “รัฐบาล” เดินหน้าเต็มสูบ

ต้องยอมรับว่า กระบวนการ “ประชามติ” เป็นกระบวนการในทาง “การเมือง” โดยหลักการวิถีดำเนินต้องอิงอยู่กับมาตรการในทางการเมืองเป็นหลัก

แต่ “บรรยากาศ” ที่ปรากฏเป็นอย่างไร

ประชาชนสัมผัสไม่ได้ถึงบทบาทของ กกต. หากประชาชนสัมผัสได้กับบทบาทของเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างคึกคัก

เป็นเสียงสำทับให้เอาเรื่องกับ “นักวิชาการ” ที่ออกมา “เคลื่อนไหว”

เป็นเสียงสำทับให้ระมัดระวังในเรื่องการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดเห็นอันโน้มเอียงไปในทาง “ไม่ยอมรับ”

ขณะที่อีกด้านมีการต่อสายไปยัง “กำนัน” ไปยัง “ผู้ใหญ่บ้าน”

ขณะที่อีกด้านมีการเปิด “แอพพลิเคชั่น” รองรับการขับเคลื่อนของ “รด.จิตอาสา” จำนวนนับแสนที่จะกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ

ปฏิบัติตามนโยบาย “รัฐบาล” ปฏิบัติตามคำสั่ง “คสช.”

โดยที่ คสช.ก็แสดงออกอย่างแจ้งชัดว่ามีความต้องการอย่างไร โดยที่รัฐบาลก็แสดงออกอย่างแจ้งชัดว่ามีความต้องการอย่างไร

ทั้งหมดนี้คือรากฐานอันสร้างความมั่นใจเป็นอย่างสูงต่อ “ประชามติ”

ไม่ว่าจะเป็นตัว “ร่างรัฐธรรมนูญ” ไม่ว่าจะเป็นตัว “คำถามพ่วง” ว่าจะต้อง “ฉลุย”

บรรยากาศการทำประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญจึงดำเนินไปแทบไม่แตกต่างไปจากบรรยากาศของเมียนมา

ขณะที่หลักประกันของรัฐธรรมนูญเมียนมา ส.ส.อันมาจากกองทัพดำรงอยู่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ขณะที่หลักประกันของรัฐธรรมนูญไทย ส.ว.อันมาจาก คสช.ดำรงอยู่มากถึงร้อยละ 50

เท่ากับเป็น “หลักประกัน” ให้กับระยะผ่านในทาง “การเมือง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image