‘รมช.คลัง’ รับ นศ.ค้างชำระกยศ.อื้อ ยัน เร่งทวง-ปรับปรุงกม.ให้มีประสิทธิภาพ

เมื่อเวลา10.00 น. วันที่ 29 เมษายน มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธาน เพื่อพิจารณากระทู้ถาม เรื่อง ปัญหาการค้างชำระหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ของนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช.เป็นผู้ตั้งถาม ถามนายกรัฐมนตรี โดยมีนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มาตอบกระทู้แทนนายกฯโดย นายวัลลภ กล่าวว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือกยศ.จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2539 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กู้ยืมเงินนักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนถึงระดับปริญญาตรี แต่ที่ผ่านมาเกิดปัญหาเมื่อนักเรียนนักศึกษาที่กู้ยืมเงินจบการศึกษาแล้วไม่ยอมชำระหนี้จนทำให้เกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาล ซึ่งจากสถิติการชำระหนี้ กยศ.มีเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ ที่ชำระหนี้คืน และอีก 60 เปอร์เซ็นต์ คือผู้ไม่มาชำระหนี้ จึงส่งผลให้รัฐบาลสูญเสียงบประมาณ และมีปัญหาในการดำเนินการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ต่อนักเรียน นักศึกษาในรุ่นต่อไปได้ รวมทั้งรัฐบาลยังต้องเสียงบประมาณในการจ้างบริษัทมาทวงหนี้อีก

“จึงขอถามว่า ปัจจุบันกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาให้กู้ยืมไปแล้วกี่ราย เป็นจำนวนเท่าใด และมีผู้มาชำระหนี้คืนทั้งหมดแล้วเท่าใดและคงเหลือจำนวนเงินที่ยังไม่ได้รับชำระหนี้คืนรวมทั้งหมดเท่าใด มีปริมาณคดีที่ยังค้างอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลจำนวนเท่าใด และในแต่ละปีต้องเสียงบประมาณในการทวงหนี้ผู้กู้ไปมากน้อยเพียงใด และรัฐบาลมีนโยบายหรือมาตรการในการบังคับคดีหรือทวงเงินกู้ยืมคืนให้มีประสิทธิภาพอย่างไร” นายวัลลภ กล่าว

ด้านนายวิสุทธิ์ กล่าวชี้แจงว่า ตั้งแต่เริ่มดำเนินงานของกองทุนฯจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 20 ปี ได้อนุมัติวงเงินกู้ยืมเรียนให้นักเรียนนักศึกษากว่า 4,625,210 ราย เป็นเงินกว่า 493,000 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีการชำระหนี้เสร็จสิ้นไปแล้ว 427,352 ราย มีหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดการชำระหนี้ 1 ล้านกว่าราย และยังหนี้ถึงกำหนดชำระหนี้ประมาณ 3 ล้านกว่าราย เป็นเงินประมาณแสนล้านบาท ซึ่งมีจากข้อมูลพบว่า มีการค้างชำระหนี้กว่า 1.9 ล้านราย คิดเป็น 62 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ส่วนการฟ้องร้องคดีนั้นมีการดำเนินคดีกับผู้กู้ยืมเงินกว่า 7.9 แสนราย และศาลมีคำพิพากษาให้ผู้กู้ยืมเงินหรือผู้ค้ำประกันชำระเงินคืนแต่ก็ยังไม่มาชำระหนี้ 7.4 แสนราย ทั้งนี้ยังมีคดีที่ค้างการพิจารณาของศาลอีก 33 ราย ถือเป็นจำนวนที่น่ากังวล

นายวิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินการทวงหนี้นั้นในปี 56 ต้องใช้งบประมาณในการทวงหนี้ 90.15 ล้านบาท ปี 57 จำนวน 85.11 ล้านบาท ปี 58 จำนวน 271 ล้านบาท เหตุที่มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นนั้นเพราะมีการจ้างบริษัทเอกชนมาดำเนินการจากที่เคยให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดำเนินการติดตามทวงหนี้ ทั้งนี้เพื่อให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการทวงหนี้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งผู้กู้ยืมเงินจะชำระหนี้ปีละ 1,500 บาทต่อปี หรือ 125 บาทต่อเดือน โดยผู้กู้ยืมเงินกยศ.ไม่ชำระหนี้นั้นก็มีสาเหตุหลายประการไม่ใช่เพราะไม่มีเงินชำระหนี้เพียงอย่างเดียว แต่มีการพูดกันต่อๆ ว่าเป็นกองทุนให้เรียนฟรี มีคำบอกของรุ่นพี่ที่บอกน้องว่า จ่ายไปไม่ฉลาด หรือแม้การหาเสียงของนักการเมืองที่บอกว่า หากเป็นรัฐบาลก็จะปลดหนี้ให้ สิ่งเหล่านี้จึงทำให้เกิดภาวะชะงักงันในการชำระหนี้ ประกอบการติดตามทวงหนี้ของกยศ.ก็มีปัญหา โดยทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุให้เกิดการค้างชำระหนี้จำนวนมาก

Advertisement

“กยศ.จึงได้พยายามแก้ไขโดยการสร้างแรงจูงใจให้กลับมาชำระหนี้ เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับผู้ที่มาชำระหนี้ก่อนกำหนด การทำบันทึกข้อตกลงกับนายจ้างที่ผู้กู้ยืมเป็นลูกจ้างก็ให้หักเงินเดือน และเพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้ชำระหนี้ในการเพิ่มช่องทางชำระหนี้ผ่านร้าน สะดวกซื้อ ยืนยันรัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ มีการจัดการเรื่องนี้นอกจากนโยบายที่สร้างแรงจูงใจแล้วและจะมีการปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”  นายวิสุทธิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image