ตำรวจชี้ ‘ยืนเฉยๆ’ ผิด หากก่อความรำคาญ ‘ติดแฮชแท็กหมิ่นเหม่’ ส่อผิด กม.-ขัด พ.ร.บ.ประชามติ

เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. กล่าวถึงกรณีที่ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ระบุให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจพิจารณาการโพสต์ข้อความแนวประชดประชัน การใช้ประโยคสัญลักษณ์แทนการสื่อสารทางตรง หรือการติดแฮชแท็ก “ทวีตอย่างไรไม่ให้โดนจับ” ว่า การโพสต์เช่นนี้จะเข้าข่ายผิดกฎหมาย ขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 หรือไม่ ขึ้นอยู่ที่องค์ประกอบและเจตนาว่าการโพสต์หรือแชร์ข้อความเช่นนี้ หวังผล สำแดงผลนำไปสู่การกระทำผิดกฎหมาย จูงใจ โน้มน้าวหรือขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 หรือไม่ แต่ขอเตือนว่าการโพสต์หรือแฮชแท็กเชิงประชดประชันหากเข้าข่ายหมิ่นเหม่ ส่อเจตนาหมิ่นเหม่ก็ไม่สมควรทำ โดยที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างฎีกา มีคดีอยู่ และหากยึดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 ที่ว่าด้วยเรื่องการแสดงความเห็น การเคลื่อนไหว สร้างความวุ่นวาย ก็ตีความกว้างมาก หากการกระทำใดผิด เข้าข่ายละเมิดก็ผิดกฎหมาย

รองโฆษก ตร.กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติติดตามความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับกรณีนี้อยู่ตลอดเวลา โดยมีการฝึกอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบ ทั้งนี้ หากพบการกระทำที่เข้าข่ายความผิดก็ต้องดำเนินคดี และหากการกระทำที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นเจ้าภาพดูแลเรื่องการทำประชามติเห็นว่าไม่เหมาะสม และเข้าข่ายขัด พ.ร.บ. ก็จะส่งเรื่องให้ตำรวจดำเนินการ

เมื่อถามถึงกรณีที่มีการแสดงออกด้วยการยืนเฉยๆ รองโฆษก ตร.กล่าวว่า ก็ต้องพิจารณาดูว่าการยืนเฉยๆ นั้นมีเจตนาอย่างไร ก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่ การไปยืนเฉยๆ กระทบการใช้ชีวิตปกติของผู้อื่นหรือไม่ หวังผลอย่างไร หากขัดพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 หรือส่อเจตนา หวังผล สื่อสารเพื่อสร้างความวุ่นวายก็มีความผิด ต้องดูด้วยว่าการไปยืนเฉยๆ บางครั้งก็ก่อความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้อื่น ตรงนี้ต้องดูองค์ประกอบและเจตนา ทั้งนี้ตำรวจให้ความเป็นธรรมแน่นอน และการชุมนุมรวมตัวก็มี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่ต้องมีการแจ้งขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่ก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image