กกต.ไฟเขียว 8 กฎเหล็ก ข้อห้ามช่วงทำประชามติ

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการกกต. แถลงผลประชุมกกต.ว่า กกต.มีมติให้ออกประกาศกกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ จะมีผลเมื่อประกาศดังกล่าวลงราชกิจจานุษาแล้ว คาดว่าจะมีผลไม่เกินสัปดาห์หน้า มีข้อกำหนดสิ่งที่ประชาชนทำได้ 6 ข้อ คือ 1.ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นเพิ่มเติมให้เข้าใจอย่างครบถ้วนจากเว็บไซต์หรือสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลแสดงความคิดเห็นของตน 2.แสดงความเห็นโดยใช้ถ้อยคำที่สุภาพ3.แสดงความเห็นด้วยข้อมูลที่มีความชัดเจน ไม่กำกวมทำให้บุคคลอื่นเห็นว่าบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง 4.การนำเสนอหรืออ้างอิงงานวิจัยตามหลักวิชาการเพื่อประกอบการแสดงความคิดเห็นให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงบุคคลนั้น ควรตรวจสอบความถูกต้องและแสดงที่มาของงานวิจัยนั้นด้วย 5.การสัมภาษณ์ผ่านสื่อ เพื่อแสดงความคิดเห็นพร้อมเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งของตน และ 6.การนำเข้าข้อมูลความคิดเห็นพร้อมแสดงเหตุผลของตนในเว็บไซต์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือการส่งต่อข้อมูลดังกล่าว โดยไม่มีการแสดงความเห็นเพิ่มเติม

นายธนิศร์ กล่าวต่อว่าส่วนที่ทำไม่ได้ 8 ข้อ ได้แก่ 1.การสัมภาษณ์ผ่านสื่อ ด้วยข้อความเท็จหรือมีลักษณะก้าวร้าวรุนแรงหยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ 2.การนำเข้าข้อมูล อันเป็นเท็จหรือมีลักษณะก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดมหรือข่มขู่ในเว็บไซต์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือส่งต่อข้อมูลในลักษณะดังกล่าว 3.การทำหรือส่งสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมาย มีลักษณะก้าวร้าวรุนแรงหยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ 4.การจัดเวทีสัมมนา อภิปราย โดยกลุ่มองค์กรต่างๆที่ไม่มีหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา องค์กรสื่อมวลชน ตามกฏหมายเข้าร่วมและมีเจตนาเพื่อปลุกระดมทางการเมือง 5.การชักชวนให้ใส่เสื้อ หรือติดป้าย เข็มกลัด ธง ริบบิ้น หรือเครื่องหมายที่แสดงสัญลักษณ์ความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการขาย การแจกจ่ายสิ่งของดังกล่าว ในลักษณะรณรงค์ทั่วไปเพื่อนำไปสู่การปลุกระดมทางการเมือง 6.การใช้เอกสารใบปลิวหรือแผ่นพับ ที่มีข้อความเป็นเท็จ หรือมีลักษณะก้าวร้าวรุนแรงหยาบคาย หรือปลุกระดมทางการเมือง 7.การรายงานข่าวหรือการจัดรายการของสื่อมวลชนที่นำไปสู่การปลุกระดมหรือสร้างความวุ่นวายในสังคม และ 8.การรณรงค์เพื่อให้เกิดการคล้อยตามของคนในสังคม เพื่อให้ออกเสียงอย่างไรอย่างหนึ่ง มีลักษณะการปลุกระดมหรือขัดขวางการออกเสียง

“กรณีสื่อมวลชนสามารถรายงานหรือเสนอข่าวด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ด้วยความรับผิดชอบ เป็นกลาง คำนึงถึงความเท่าเทียมและไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งนี้ กกต.อาจจะออกประกาศเพิ่มเติม ถ้ามีกรณีใดเกิดขึ้นหลังจากนี้อีกเพื่อให้เกิดความชัดเจน กรณีการกระทำในเรื่องอื่นที่กกต.อาจเขียนบอกว่าทำได้ ซึ่งการออกประกาศของกกต. ยืนอยู่บนพื้นฐานพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่การกระทำอาจจะผิดกฎหมายอย่างอื่น เช่น พ.ร.บ.รักษาความสะอาด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือประกาศคสช. โดยประชาชนพึงระวังความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย” นายธนิศร์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image