ยำ”ปฏิรูปศึกษา” ฉบับ”เหวี่ยง-สุดขั้ว”

การศึกษาไทยติดหล่มมานาน นักคิดนักบริหารบางคนพยายามใช้ทางลัด “มาตรา 44” แห่งรัฐธรรมนูญ ของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาแก้ไขให้เป็นผลสำเร็จโดยเร็ว

แต่ที่เป็นประเด็นทอล์กออฟเดอะทาวน์อยู่ในตอนนี้ คือ ข้อเสนอของ นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเสนอแก้ปัญหานโยบายการศึกษา ปัญหาโครงสร้างการศึกษา ระบบจัดการศึกษา ตลอดจนปัญหาคุณภาพผู้เรียน โดยขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปรับแก้กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา 15 ฉบับ โดยไม่ต้องผ่านที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาทิ ให้จัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ตั้งแต่ปฐมวัยถึงประถมศึกษาปีที่ 6 หรือ ป.6 แยกสายสามัญและสายอาชีวะตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และเสนอให้ตั้งสถาบันครูศึกษาพร้อมทั้งการันตีเงินเดือนครูต้องไม่ต่ำกว่าแพทย์!!

แถมด้วยแนวคิดให้เด็กที่จบ ป.6 แต่ได้เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 เมื่อเข้าเรียน ม.1 จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ถ้าไม่มีเงินเรียนต่อ ก็ต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

นายศรีราชาให้เหตุผลว่า เพื่อให้เด็กตั้งใจเรียน ทำคะแนนดี จูงใจให้ผู้ปกครองและเด็กรับผิดชอบต่อตัวเองตั้งแต่ประถมศึกษา รู้จักคุณค่าของเงินงบประมาณรัฐที่เสียไปเพื่อการศึกษา ไม่ใช่เรียนโดยไม่มีเป้าหมาย

Advertisement

นักการศึกษาชื่อดังอย่าง นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาวิพากษ์ทันทีว่า เป็นข้อเสนอที่สุดขั้ว และเหวี่ยงมาก ไม่อยู่บนหลักการหรือวิธีคิดที่ตรงกับข้อเท็จจริงของปัญหา ขาดเหตุผลทางวิชาการ และไม่มีงานวิจัยรองรับ คิดอยู่บนพื้นฐานของเรื่องงบประมาณเป็นหลัก

“โดยเฉพาะแนวคิดที่ให้เด็กจบ ป.6 แต่ได้เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 หากเข้าเรียน ม.1 จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เด็กกลุ่มนี้ควรได้รับความช่วยเหลือ ไม่ใช่ไปซ้ำเติม เพราะเด็กที่เรียนต่ำกว่า 2.5 ส่วนใหญ่จะมาจากครอบครัวยากจน หากให้เสียค่าเล่าเรียนเอง พ่อแม่ก็อาจตัดสินใจเอา

ลูกออกจากระบบการศึกษา เป็นปัญหาซ้ำร้ายมากขึ้นไปอีก ส่วนที่เสนอให้จัดการศึกษา

Advertisement

ภาคบังคับ 9 ปี ตั้งแต่ปฐมวัยถึง ป.6 นั้น รัฐบาลต้องดูให้ดีและระมัดระวังให้มาก เพราะข้อเสนอดังกล่าวขัดกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับลงประชามติ) ซึ่งกำหนดให้การศึกษาภาคบังคับอยู่ที่ ม.3 ไม่ใช่ ป.6 และตามหลักการแล้ว การศึกษาภาคบังคับควรอยู่ที่ ม.3 เท่าเดิม หรือหากรัฐบาลมีงบประมาณมากเพียงพอ ค่อยขยายเพิ่มขึ้นเป็น ม.6” นายสมพงษ์กล่าว

ด้าน นายสุรวาท ทองบุ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาสารคาม ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) บอกว่า เป็นข้อเสนอที่รับไม่ได้ เพราะจะยิ่งซ้ำเติมการศึกษามากขึ้น ไม่ใช่แก้ปัญหา โดยเฉพาะเรื่องการแก้กฎหมายให้การศึกษาภาคบังคับเหลือแค่ ป.6 เป็นการผลักเด็กออกนอกระบบการศึกษา ครอบครัวที่มีฐานะยากจน ก็อาจดึงลูกให้ออกไปทำงาน ไม่ให้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ส่วนที่ให้เด็ก ป.6 เกรดไม่ถึง 2.5 เมื่อขึ้น ม.1 ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายเองนั้น เป็นข้อเสนอที่แก้ปัญหาไม่ถูกทาง การแก้ปัญหาเด็กเรียนอ่อน ควรไปแก้ที่คุณภาพการเรียนการสอน ไม่ใช่ให้เด็กตั้งใจเรียน เพราะกลัวว่าจะไม่ได้เรียนฟรี

ขณะที่อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นางจรวยพร ธรณินทร์ ค้านเสียงแข็งว่า ไม่เห็นด้วย การเสนอแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เปิดให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้ดูข้อดี ข้อเสีย ไม่ใช่ทำอะไรอย่างเร่งรีบ เพราะจะได้ไม่คุ้มเสีย ส่วนการศึกษาภาคบังคับ ตนพอรับได้ เพราะไม่ว่ากฎหมายจะยืดเวลาการบังคับเรียนไปถึง ม.6 หรือลดลงเหลือแค่ ป.6 ส่วนตัวไม่ค่อยกังวล เชื่อว่าผู้ปกครองยุคนี้เห็นความสำคัญของการศึกษามากขึ้นกว่าสมัยก่อน และต้องการให้ลูกได้เรียนสูงที่สุด แต่ข้อเสนอที่รับไม่ได้เลยคือ ให้เด็ก ป.6 ที่เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 เมื่อเข้าเรียน ม.1 ผู้ปกครองจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ในการเรียนตามธรรมชาติ จะมีทั้งเด็กที่เรียนเก่ง และเด็กที่เรียนอ่อน และการที่เด็กเรียนไม่เก่ง ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิด ดังนั้นการลงโทษเด็ก โดยให้ผู้ปกครองเสียค่าใช้จ่ายเอง ถือว่าทารุณ โหดร้ายเกินไปและจะส่งผลให้เกิดปัญหามากขึ้น ทั้งกรณีที่ผู้ปกครองมีฐานะยากจน ไม่สามารถส่งลูกเรียนในชั้น ม.ต้นได้ ก็จะนำเด็กออกไปทำงาน หรือที่เรียกว่า เด็กหลุดระบบการศึกษา เด็กออกกลางคัน ขณะเดียวกันหากโรงเรียนและครูต้องการช่วยเหลือให้เด็กได้เรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้น ก็จะปล่อยคะแนน หรือที่เรียกว่า เกรดเฟ้อ เพื่อให้เด็กได้เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ทำให้คุณภาพการจัดการศึกษายิ่งแย่และถอยหลังลงไปอีก

จากเสียงสะท้อนของนักวิชาการ และผู้ปกครอง ทำให้พอมองเห็นภาพว่า คงเป็นไปได้ยากที่หัวหน้า คสช.จะไฟเขียวรับข้อเสนอดังกล่าว ในทางกลับกัน หากรัฐบาลรับข้อเสนอไปพิจารณา ก็จะสวนทางกับนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งมีคำสั่งให้ ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษา โดยให้ช้อนเด็กกลับเข้าระบบให้มากที่สุด

ซึ่งเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีเด็กออกกลางคันเกือบ 9,000 คนในปี 2558

ขณะที่ปีการศึกษา 2559 สพฐ.ประกาศให้เป็นปีแห่งการลดจำนวนเด็กตกหล่นในระบบการศึกษา!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image