สำรวจผัก-ผลไม้พบสารพิษตกค้างเพียบ! ‘พริกแดง-กะเพรา-คะน้า’ อึ้งเจอสารกันยุง

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน (Thai-PAN:Thailand Pesticide Alert Network) โดย น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ แถลงผลการสุ่มสำรวจสารปนเปื้อนพืชผักและผลไม้ ว่า เดิมไทย-แพนมีการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างประมาณ 90 ตัวอย่าง ตรวจสอบเพียง 4 กลุ่ม แต่ในปี 2559 มีการขยายขอบเขตมากขึ้น โดยสุ่มตัวอย่างผัก 10 ชนิด ผลไม้ 6 ชนิด รวมจำนวน 138 ตัวอย่าง จากตลาดสดและห้างโมเดิร์นเทรด 7 แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล จ.เชียงใหม่ และจ.อุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 16 -18 มีนาคม 2559 และส่งไปวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ห้องปฏิบัติการในประเทศอังกฤษ ซึ่งสามารถวิเคราะห์หาสารพิษตกค้างได้กว่า 450 ชนิด

น.ส.ปรกชล กล่าวว่า ผลการตรวจวิเคราะห์ ผัก 10 ชนิด มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ดังนี้ พริกแดงพบ 100 เปอร์เซ็นต์ กะเพราร้อยละ 66.7 ถั่วฝักยาวร้อยละ 66.7 คะน้าร้อยละ 55.6 ผักกาดขาวปลี ร้อยละ 33.3 ผักบุ้งจีนร้อยละ 22.2 มะเขือเทศ ร้อยละ 11.1 แตงกวาร้อยละ 11.1 มะเขือเปราะและกะหล่ำปลี ไม่พบเลย ส่วนผลไม้ 6 ชนิด มีสารพิษตกค้าง คือ ส้มสายน้ำผึ้ง ฝรั่ง 100 เปอร์เซ็นต์ แก้วมังกรร้อยละ 71.4 มะละกอร้อยละ 66.7 มะม่วงน้ำดอกไม้ ร้อยละ 44.4 และแตงโมไม่พบเลย ในภาพรวมมีผักและผลไม้มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานสูงถึงร้อยละ 46.4 ที่สำคัญ พบว่า ผักและผลไม้ที่ได้รับตรา Q จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) พบสารเคมีมากที่สุด โดยพบสูงถึงร้อยละ 57.1 นอกจากนี้ ผักและผลไม้อินทรีย์ที่ได้รับการรับรองออร์แกนิค ไทยแลนด์(Organic Thailand) ที่ไม่ควรตรวจพบการตกค้างของสารเคมีกลับพบการตกค้างสูงเกินมาตรฐานถึง ร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ของจำนวนตัวอย่าง

น.ส.ปรกชล กล่าวอีกว่า การเฝ้าระวังนี้ยังพบอีกว่าผักผลไม้ที่จำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรด หรือห้างค้าปลีกที่ราคาแพงกว่าตลาดกลับไม่ได้มีความปลอดภัยมากกว่า โดยมีจำนวนตัวอย่างตกค้างเกินมาตรฐานถึงร้อยละ 46% ขณะที่ตลาดสดมีสัดส่วนร้อยละ 48 ถือว่าใกล้เคียงกันมาก และพบด้วยว่า มีสารกำจัดศัตรูพืชที่ถูกห้ามใช้แล้ว ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนรวม 11 ชนิด เช่น คาร์โบฟูราน เมโทมิล หรือสารดีท(deet) ที่เป็นส่วนประกอบของยากันยุงก็พบตกค้างในผักคะน้า 1 ตัวอย่าง ซึ่งสารพิษเหล่านี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะสร้างอันตราย อย่างเช่น คาร์โบฟูรานเป็นสารก่อมะเร็ง ที่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเลิกใช้แล้วเพราะระบุว่าหากมีการตกค้างแล้วให้เด็กกินจะเสี่ยงเกินกว่าจะรับได้ เป็นต้น

น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI) กล่าวว่า ผลการตรวจสอบทั้งหมดนี้ ไทยแพนได้นำเสนอต่อห้างค้าปลีก สมาคมตลาดสด และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น มกอช. กรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เรียบร้อย โดยจะมีการยกเครื่องการให้ตรารับรอง Q และออร์แกนิคไทยแลนด์ ด้านของผู้ประกอบการจะแจ้งอย่างเป็นทางการมายังไทยแพนภายใน 1 สัปดาห์ว่ามีการดำเนินการอย่างไรในการลดปัญหาสารพิษตกค้าง อย่างไรก็ตาม กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และกรมวิชาการเกษตรต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ดกระทำผิดจำหน่ายอาหารไม่ปลอดภัย หลอกลวงผู้บริโภคหรือปลอมแปลงตรารับรอง

Advertisement

น.ส.กิ่งกร กล่าวอีกว่า บอกได้ยากว่าผักและผลไม้เหล่านี้เป็นการปลูกในไทยหรือนำเข้าจากต่างประเทศ เชื่อว่าขึ้นอยู่กับฤดูกาลด้วย เช่น แก้วมังกรช่วงนี้ของไทยยังไม่ออก ที่มีในตลาดนำเข้าจากเวียดนาม การจะให้แนะนำผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่หากจะแนะแบบหยาบๆคือก็ควรซื้อที่ตลาดสดจะไปจ่ายเงินซื้อแพงทำไมในเมื่อสัดส่วนการตกค้างของสารพิษไม่แตกต่างกันมาก หรือล้างผัก ผลไม้ก่อนรับประทาน แต่บอกได้ยากว่าควรล้างอย่างไร เพราะสารบางชนิดไม่ดูดซึมสามารถล้างออกได้ง่าย เช่น ไซเปอร์เมทริน จะล้างออกได้มากถ้าใช้น้ำส้มสายชู แต่ไม่หมด 100 % ส่วนบางชนิดเป็นสารที่ดูดซึม ล้างไม่ออกแม้แต่ใช้ความร้อนก็ไม่สลาย และที่มีความเชื่อว่าควรเลือกผักที่มีรูแปลว่าไม่มีการใช้สารเคมี ก็ไม่จริงเสมอไป ไม่ใช่หลักประกันว่าจะผลอดสารพิษ ซึ่งจากการคุยกับเกษตรกรทำให้ได้ข้อมูลว่า บางครั้งที่ผักเป็นรูอาจเป็นเพราะมีการใช้สารเคมีมากจนไม่สามารถกำจัดศัตรูพืชได้แล้ว

S__8478764

S__8478757

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image