“โอเชียนวัน” หุ่นสำรวจใต้ท้องทะเล

ภาพ-DRASSM

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ อุสซามา คาติบ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาหุ่นยนต์พิเศษสำหรับการดำลึกลงไปสำรวจสภาพใต้ท้องทะเลที่ระดับความลึก 100 เมตร ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยคิงอับดุลเลาะห์ ของซาอุดีอาระเบีย และบริษัท เมคา โรโบติคส์ ในนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

หุ่นยนต์ขนาดสูง 1.5 เมตร ซึ่งได้ชื่อว่า “โอเชียนวัน” ตัวนี้ ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในการควบคุมการทำงาน อย่างไรก็ตาม สแตนฟอร์ดตั้งใจให้ระบบสำรวจใต้น้ำทันสมัยของตนทำงานร่วมกับทีมสำรวจ เพราะเชื่อว่าหุ่นยนต์ไม่ว่าจะฉลาดล้ำแค่ไหนก็ยังไม่สามารถมีทักษะและความระมัดระวังต่อสิ่งที่กำลังสำรวจได้เทียบเท่ามนุษย์

บริเวณส่วนหัวของ “โอเชียนวัน” ติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ สเตอริโอสโคปิก วิชั่น ทำหน้าที่เป็นเหมือน “ตา” ที่สามารถส่งสัญญาณกลับไปยังผู้ควบคุมได้เหมือนอย่างที่หุ่นยนต์กำลัง “มองเห็น” นอกจากนั้นผู้ควบคุมหุ่นยนต์ดำน้ำตัวนี้สามารถบังคับแขนทั้งสองข้างของมันได้โดยอิสระ แต่ที่ถือเป็นนวัตกรรมสูงสุดของ “โอเชียนวัน” คือมือทั้งสองข้างของมันที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับการสัมผัสแนวปะการังที่เปราะบาง หรือซากสิ่งของโบราณจากเรือที่จมลงสู่ก้นมหาสมุทร ซึ่งแตกหักเสียหายได้โดยง่าย

ด้วยเหตุนี้มือแต่ละข้างของ “โอเชียนวัน” จึงติดตั้งเซ็นเซอร์สำหรับวัดแรงกดจำนวนหนึ่งเอาไว้และสามารถส่งข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่มันสัมผัสกลับมายังผู้ควบคุมได้ในทันที ทำให้ผู้ควบคุม “รู้สึก” ต่อสิ่งที่หุ่นสัมผัสได้ช่วยในการตัดสินได้ว่าสิ่งที่สัมผัสอยู่นั้นมีความหนาแน่นหรือเปราะบางขนาดไหน และจะจัดการให้เหมาะสมได้อย่างไร

Advertisement

ในอนาคตทางทีมสแตนฟอร์ดเตรียมพัฒนาศักยภาพมือของโอเชียนวันให้สูงขึ้นไปอีก ด้วยการติดตั้งเซ็นเซอร์ที่สามารถรับรู้การสัมผัสไว้ในแต่ละนิ้่วของมือทั้งสองข้าง ซึ่งจะทำงานร่วมกับสมองกลของมันและผู้ควบคุมพร้อมกันไปในตัว แม้จะถูกกำหนดให้ทำงานร่วมกับผู้ควบคุม แต่ในความเป็นจริงโอเชียนวันก็สามารถสำรวจและบันทึกการสำรวจได้ด้วยตัวเอง เซ็นเซอร์จำนวนมากที่ติดตั้งไว้ในระบบจะตรวจสอบสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดทำให้หุ่นยนต์รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำและระลอกคลื่นได้ และสามารถปิดหรือเปิดเครื่องยนต์สำหรับขับเคลื่อนของตนเพื่อปรับให้เหมาะสมกับความแรงของกระแสน้ำ ทำให้มันสามารถอยู่นิ่งกับที่ได้ตลอดเวลาที่ต้องการ นอกจากนั้นแขนทั้งสองข้างยังมีมอเตอร์ที่ตอบสนองการทำงานอย่างฉับไว ทำให้แขนหุ่นยนต์นิ่งอยู่ได้แม้ในกระแสน้ำเชี่ยวกรากก็ตาม

“โอเชียนวัน” ถูกนำมาทดสอบประสิทธิภาพภายใต้สภาพแวดล้อมจริงเป็นครั้งแรก ด้วยการลงไปสำรวจซากเรือลาลูนใต้ท้องทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่อยู่ลึกลงไปราว 100 เมตร ได้รับคำสั่งจากผู้ควบคุมให้สำรวจซากเรือโดยรวม หลังจากนั้นก็หยิบแจกันจากซากเรือขึ้นมาตรวจสอบ หลังจากที่ผู้ควบคุมตัดสินใจจะเก็บกู้แจกันดังกล่าว ก็บังคับให้หุ่นยนต์นำไปยังตะกร้าเก็บกู้ วางแจกันไว้ภายในแล้วปิดฝา พร้อมสำหรับการดึงขึ้นสู่เรือสำรวจ

ศาสตราจารย์คาติบเปิดเผยว่า ขณะนี้โอเชียนวันเป็นหุ่นฮิวมานอยด์ดำน้ำได้ตัวแรกและตัวเดียวของโลก ในอนาคตทางทีมหวังว่าจะผลิตออกมาได้มากพอที่จะใช้เป็นกองทัพหุ่นเพื่อการสำรวจร่วมกันในแต่ละครั้งต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image