“นักวิชาการ” ร้อง”ยูเอ็น” บี้ “รัฐบาล-คสช.”ละเมิดสิทธิ เผยยูเอ็นเตรียมยกระดับกดดัน(คลิป)

เครือข่ายนักวิชาการฯ ยื่นเอกสารร้อง”ยูเอ็น”ตรวจสอบรัฐบาล-คสช.ละเมิดสิทธิมนุษยชนคนเห็นต่าง “อนุสรณ์” เผย “ยูเอ็น” เตรียมยกระดับกดดัน

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม เวลา 10.00 น. ที่องค์กรสหประชาชาติ นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วย เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เข้าพบตัวแทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ เพื่อขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ที่คิดเห็นต่างจากรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และให้แสดงท่าทีไปยังรัฐบาล คสช. เพื่อให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีต่างๆ ในทันที โดยข้อเรียกร้องระบุว่า ภายใต้รัฐบาลของ คสช.มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนผู้มีความคิดเห็นต่าง จากรัฐบาลและอาศัยอำนาจที่ไร้ขอบเขตจากมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญปี 2557 รวมถึงคำสั่งคสช.ฉบับที่ 3/2558 และ 13/2559 โดยมีการจับกุมและซ้อมทรมานประชาชนต่างขั้วการเมือง รวมถึงนิสิตนักศึกษา นักวิชาการ สื่อมวลชน นักกิจกรรมสังคม และนักการเมือง จากการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ด้วยการเรียกตัวเข้าค่ายทหารเพื่อเข้าสู่กระบวนการปรับทัศนคติ และส่งเจ้าหน้าที่ติดตามชีวิตประจำวัน สร้างแรงกดดันผ่านหน่วยงาน องค์กรที่พวกเขาทำงานอยู่ นอกจากนี้ยังละเมิดสิทธิส่วนคัวในระบบคอมพิวเตอร์ และแจ้งความดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างโดยใช้กฎหมายที่รุนแรง

นอกจากนี้ ยังมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่รุนแรงมากขึ้นในระหว่างช่วงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีการจับกุมผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊ก ที่ล้อเลียนผู้นำ คสช. พร้อมจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้อง 8 คน ที่จ.ขอนแก่น และกรุงเทพฯ และต่อมาศาลทหารได้ออกหมายจับในความผิดเกี่ยวกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 112 ทั้งนี้ เครือข่ายนักวิชาการฯ มองว่า การจับกุมประชาชนทั้ง 8 คน เป็นจุดเริ่มต้นการกวาดล้างของผู้เห็นต่าง และสร้างบรรยากาศความกดดัน หวาดกลัว และสอดคล้องกับที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ดังนั้นจึงมีความกังวลต่อสถานการณ์ การละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จึงขอเรียกร้องต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ให้ช่วยดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว และแสดงท่าทีไปยังรัฐบาลและคสช. ให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในทุกกรณีโดยเร็ว

Advertisement

ร้องยูเอ็น

นายอนุสรณ์ กล่าวภายหลังการเข้าพบรักษาการ ระดับภูมิภาคของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ว่า ได้หารือแนวทางสิทธิดารแสดงออก สิทธิมนุษยชน และประชามติ ในทางที่ชอบธรรม ซึ่งยูเอ็นมีความห่วงใยและติดตามสถานการณ์กลุ่มชุมนุมต่างๆโดยส่งเจ้าหน้าที่สอบถามทหารและตำรวจระดับปฏิบัติการ และทำตามคำสั่งสถานการณ์พิเศษทำให้ไทยไม่สามารถดำเนินการตามสัตยาบรรณ ทั้งนี้ ทางยูเอ็นมีแนวทางหลัก 2 แนวทาง คือ ยกระดับการพูดคุยในประเด็นดังกล่าวกับเจ้าหน้าที่ไทยให้สูงขึ้น และยกระดับไปที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ที่กรุงเจนิวา เพื่อความกดดันกับเจ้าหน้าที่ไทยอีกหนึ่งช่องทาง พร้อมทั้งหาแนวทางให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยในระดับนโยบายมาพบปะพูดคุยกับนักวิชาการมากขึ้น โดยเน้นเรื่องเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ ความคิดเห็น และการลงประชามติ ซึ่งจะมีการพูดกับทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพราะที่ผ่านมานักวิชาการไม่เคยได้มีโอกาสในการพูดคุยกับบุคคลในระดับนโยบาย โดยลักษณะพูดคุยจะเป็นกิจกรรมแบบปิด แต่ส่วนใหญ่จะถูกเรียกตัวเข้าข่ายเพื่อปรับทัศนคติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image