มองแนวคิด…ผู้ตรวจการแผ่นดิน กับ “ข้อเสนอ” ปฏิรูปฯ… “สุดโต่ง”

มองแนวคิด…ผู้ตรวจการแผ่นดิน กับ “ข้อเสนอ” ปฏิรูปฯ… “สุดโต่ง”

ทําเอาฮอตจนปรอทแตก หลังประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน “นายศรีราชา วงศารยางกูร” ได้จัดทำ “ข้อเสนอ” ในการแก้ปัญหานโยบายการศึกษา ปัญหาโครงสร้างการศึกษา ระบบจัดการศึกษา ให้จัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี เริ่มตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงชั้น ป.6 โดยแยกสายสามัญ และสายอาชีพ ตั้งแต่ชั้น ม.1 และอื่นๆ อีกหลายประเด็น แบบ “สุดโต่ง” เลยทีเดียว!!

โดยขอให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการผ่านร่าง พ.ร.บ.การศึกษา 15 ฉบับ โดยไม่ต้องผ่านที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพราะมองว่าถ้าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาทั้ง 15 ฉบับผ่าน จะเชื่อมโยงการทำงานได้ทั้งระบบ และนำข้อเสนอปฏิรูปการศึกษาไปสู่การปฏิบัติให้ได้อย่างจริงจัง และครบถ้วน ภายในไม่เกิน 5 ปี…

แต่ข้อเสนอที่กลายเป็นประเด็น ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ทำเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทุกสารทิศ คือให้เด็กที่เรียนจบชั้น ป.6 แต่เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 เมื่อเข้าเรียนชั้น ม.1 จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด หากไม่มีเงินจะต้องกู้ยืมจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

โดยมองว่าคนระดับประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ควรจะมีแนวคิด หรือข้อเสนอที่เข้าท่ากว่านี้!!

Advertisement

เสียงก่นด่าที่เกิดขึ้น เพราะมองว่าประเทศไทยยังมีคนจน และผู้ที่ด้อยโอกาส จำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับคนรวย ซึ่งคนจนเหล่านี้มักขาดโอกาส ทั้งด้านการเงิน อาชีพ การศึกษา ฯลฯ และหากรัฐกำหนดให้คนที่ได้เกรดเฉลี่ยต่ำกว่า 2.5 ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนเอง ก็เป็นที่ชัดเจนว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบคงหนีไม่พ้นคนยากคนจนอย่างแน่นอน

ในขณะที่คนรวย หรือผู้มีฐานะ ซึ่งมีโอกาสดีกว่าในทุกๆ ด้าน ก็ยังคงได้รับการอุดหนุนจากรัฐ

ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำใจให้ยอมรับได้ยากจริงๆ…

Advertisement

ปัญหาที่จะตามมาคือ เด็กกลุ่มนี้จะถูกคัดออกจากระบบการศึกษาโดยไม่ต้องสงสัย เพราะหากจะให้คนที่หาเช้ากินค่ำกู้เงินเพื่อส่งลูกเรียนในระดับมัธยมแล้วละก็ คงเป็นไปได้ยาก

เพราะแค่หาเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องไปวันๆ ยังยากเย็นแสนเข็ญ!!

ที่มาของข้อเสนอที่ทำให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินโดนถล่มหนักมากนั้น เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทั้ง “นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์” รองปลัด ศธ., “นายโยธิน มูลกำบิล” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. และ “น.ส.ปราณี ศรีประเสริฐ” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหารสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฯลฯ เพื่อจัดทำข้อเสนอให้หัวหน้า คสช. และ “พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการ ศธ. นำไปพิจารณาใช้ในการปฏิรูปการศึกษา

ซึ่งนายศรีราชาแจกแจงเกี่ยวกับข้อเสนอต่างๆ ว่า ปัญหาของการศึกษาไทยคือลงทุนสูง แต่ด้อยคุณภาพ และยังมีแนวโน้มคุณภาพลดลงอีก แต่ไม่มีนโยบายแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม ทุกวันนี้ไทยสู้ใครไม่ได้เลย แม้จะลงทุนการศึกษามากที่สุดประเทศหนึ่ง แต่ยังเป็นรองประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศในอาเซียน ไทยอยู่อันดับท้ายๆ

ส่วนข้อเสนอให้จัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงชั้น ป.6 เพราะข้อมูลการศึกษาด้านจิตวิทยาพบว่า เด็กจะรับรู้ และเรียนรู้ได้มากที่สุดในชีวิต คือช่วงอายุ 1-6 ขวบ หากอยากให้เด็กเรียนรู้ทักษะอะไร ก็ต้องใส่เข้าไปในช่วงนี้

แต่ที่ผ่านมาเราเริ่มการศึกษาภาคบังคับตอน 7 ขวบ ซึ่งไม่ทันการเรียนรู้

และที่ไม่เสนอเพิ่มภาคบังคับเป็น 12 ปี ถึงชั้น ม.6 เพราะรัฐจะต้องเพิ่มงบประมาณมากขึ้น ขณะที่คุณภาพการศึกษาไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนปี

ส่วนที่มีเสียงวิจารณ์ว่าอาจเป็นการผลักเด็กออกนอกระบบหากผู้ปกครองฐานะไม่ดีนั้น นายศรีราชาบอกว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ปกครองจะเลือก

นอกจากนี้ ข้อเสนอที่ได้รับเสียงสะท้อนอย่างหนักหน่วง คือแนวคิดให้เด็กที่จบชั้น ป.6 แต่เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 เมื่อเข้าเรียนชั้น ม.1 จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด หากไม่มีเงินจะต้องกู้ยืมจากกองทุน กยศ.

โดยนายศรีราชาให้เหตุผลว่า ที่ต้องทำแบบนี้เพื่อให้เด็กตั้งใจเรียน ทำคะแนนให้ดี จูงใจผู้ปกครอง และเด็กให้มีความรับผิดชอบต่อตัวเองตั้งแต่ระดับประถมศึกษา สนใจเรียน รู้จักคุณค่าของงบประมาณที่รัฐใช้เพื่อการศึกษา ไม่ใช่เรียนโดยไม่มีเป้าหมาย

โดยยืนยันหนักแน่นว่า “ข้อเสนอทั้งหมดนี้ไม่ถือว่าใจร้าย เพราะหลายประเทศอย่างสิงคโปร์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย ก็ทำเช่นนี้ การเรียนไม่ฟรีจะเป็นแรงบีบให้ผู้ปกครอง และเด็กได้เตรียมตัว ไม่ใช่ปรนเปรอจนเกินความต้องการ”

แม้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินจะพยายามชักแม่น้ำทั้งห้า เพื่อให้ผู้คนคล้อยตามข้อเสนอต่างๆ แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครเห็นด้วยกับแนวคิดเหล่านี้เลย

อย่าง “พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ยัง “สะดุ้ง” กับข้อเสนอเหล่านี้ และอยากเจอตัวประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะจะได้ถามว่า “คิด” อย่างไร และมีข้อมูลไหนใช้ประกอบแนวคิดพวกนี้

เพราะในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับประชามติ) ในมาตรา 54 ระบุให้รัฐต้องจัดการศึกษาให้เด็กทุกคน 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่ถ้าทำตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็กลัวว่าเด็กจะหลุดออกนอกระบบ

ส่วนข้อเสนอให้เด็กที่จบชั้น ป.6 ได้เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนในชั้น ม.1 เอง โดยประเด็นนี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ โบ้ยให้สังคมเป็นผู้ตอบคำถามว่า…เห็นด้วยหรือไม่!!

ขณะที่ “นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์” เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา ยังค้านสุดตัว โดยมองว่าแนวคิดดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดการศึกษาภาคบังคับโดยเริ่มตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้น ป.6 แต่ควรขยายตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้น ม.3

ส่วนที่ให้เด็กจบชั้น ป.6 ที่เกรดไม่ถึง 2.5 ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนในชั้น ม.1 เอง จะกระทบต่อเด็กที่มีฐานะยากจน ซึ่งส่วนใหญ่จะเรียนไม่ดี เพราะมีตัวแปรด้านเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม หากใช้ผลการเรียนเป็นตัวตัดสิน จะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้นไปอีก

ด้าน “นายสุมิตร สุวรรณ” รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เองก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเหล่านี้

โดยเห็นควรขยายการศึกษาภาคบังคับให้ถึงชั้น ม.6 ได้ยิ่งดี

ส่วนเด็กที่ได้เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนในชั้น ม.1 เองนั้น นายสุมิตรมองว่าเด็กเก่งส่วนใหญ่เป็นลูกคนรวย จึงมีปัจจัยเกื้อหนุน แต่เด็กชนบทมีโอกาสทางการศึกษาไม่เท่ากัน เพราะต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน สภาพความเป็นอยู่ อาหารการกิน การดูแลของครอบครัว

ดังนั้น ศธ. ต้องพิจารณาข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินให้รอบคอบ ถี่ถ้วน

ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองต่างดาหน้าออกมาถล่มประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าเป็นความคิดของคนที่มองโลกแคบ และโหดร้ายมาก ทั้งที่เด็กแต่ละคนมีปัจจัยในการเรียนไม่เท่ากัน โดยเฉพาะเด็กส่วนใหญ่เป็นลูกผู้มีรายได้น้อย และไม่มีกำลังส่งลูกเรียนพิเศษ จะได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งจะทำให้เด็กถูกดึงออกจากระบบการศึกษาไปเป็นกรรมกรขายแรงงาน

ฉะนั้น รัฐบาล ศธ. และผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย คงต้องคิดให้รอบคอบ ดูข้อดี และข้อเสีย ก่อนจะตัดสินใจ!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image