‘บิ๊กตู่’ ยันหนุนการศึกษา 15 ปี ‘ปฐมวัย-ม.ปลาย’ ปลุกครูลบคำปรามาสการศึกษาไทยเลวร้าย แต่ต้องแก้ไขข้อบกพร่อง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมใหญ่ “นายกฯ พบเพื่อนครู คืนความสุขให้ครู คืนความสุขให้นักเรียน” ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า เป็นโอกาสดีที่ได้มาพบครูทุกคน ที่สำคัญอยากมาขอบคุณ ในส่วนการทำงานเข้าใจว่าครูทุกคนเข้าใจนโบายรัฐบาล แต่อาจจะยังไม่ชัดเจน จึงมาแนะนำนโยบายรัฐบาลให้ชัดเจนขึ้น ตนไม่เคยพบคนมากขนาดนี้ อันดับแรก ไม่ต้องปรบมือตามสัญญาณ ไม่มีสัญญาณ มีแต่สัญญา และไม่ต้องให้ตนสู้กับใคร ตนสู้กับตัวเอง สู้กับปัญหา ขอให้ครูคืนความสุขให้ คสช.บ้าง เรามีปัญหา และปัญหาไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการศึกษา หวังว่าการมาพบกันครั้งนี้ จะรู้จักตัวตนซึ่งกันและกัน ตนไม่ต้องการอะไรนอกจากความอบอุ่นของประเทศ ซึ่งขาดความอบอุ่นมานานแล้ว ขออย่ามองตนในแง่การเมือง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า การศึกษามีปัญหามานาน แต่ไม่ได้รับการแก้ไข คุณภาพการศึกษาของเรายังอยู่ในระดับที่ไม่น่าพึงพอใจ จากการจัดอันดับ World Economic Forum ปี 2558-2559 ระดับประถมของไทยอยู่ในอันดับที่ 89 จาก 140 ประเทศ ขณะที่ปี 2557-2558 อยู่อันดับที่ 90 จาก 144 ประเทศ คิดว่าปีหน้าต้องดีกว่านี้ ครูต้องทำให้ได้ ทำเพื่อประเทศชาติ เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นครู ศักดิ์ศรีของไทย เราจะอยู่ในระดับนี้ไม่ได้ แม้ว่าเราจะบอกว่าอยู่ด้วยตัวเองได้ แต่วันนี้ไม่ได้แล้ว โลกใบนี้กว้างใหญ่ ไม่มีขีดจำกัด ทุกอย่างไปเร็วมาก เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็วไม่มีขีดจำกัด ไม่ได้มีผลเฉพาะการศึกษา แต่มีผลไปถึงเศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา ความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เราอยู่คนเดียวไม่ได้อีกแล้ว ตนถือว่าคุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่ต้องนำข้อมูลมาดูว่ายังบกพร่องตรงไหน อย่างไร มีเรื่องไหนที่ยังไม่ได้ทำ

“การบริหารการศึกษาจะใช้การเมืองนำไม่ได้ ต้องใช้หลายมิติ ทั้งนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ความรู้หลักวิชาการ หลักเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับประเทศ สังคม ให้ประชาชนมีความรู้ มีคุณธรรม จริยธรรม ทำให้รักเรียนทุกคน มีคุณธรรม รู้ดี รู้ชั่ว อะไรไม่ดีอย่าทำ สิ่งเหล่านี้ต้องใส่เข้าไป สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือห้องเรียนของเราถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่19 ไม่ได้รับการแก้ไข จนวันนี้ต้องไปสู่ศตวรรษที่ 21 แล้ว ขณะที่ครูถูกผลิตจากหลักสูตรการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 20 แต่จะเป็นต้องสร้างนักเรียนที่มีความรู้ และทักษะในศตวรรษที่ 21 สร้างความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องที่เป็นประโยชน์ มีความคิดสร้างสรรค์ โดยไม่ขัดแย้งกับคนอื่น ไม่ทำผิดกฎหมาย ผิดวินัย รู้จักปรับตัว มีเหตุผล รู้จักคิดวิเคราะห์ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ครูต้องปรับตัว เปิดโลกทัศน์ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ไทยลงทุนด้านการศึกษาค่อนข้างสูง คิดเป็นร้อยละ 20 ของงบประมาณทั้งหมดของแผ่นดิน ตกปีละ 5 แสนกว่าล้านบาท สูงกว่าประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจัดการศึกษาได้ดีกว่าเรา ดังนั้น เราต้องทบทวนว่าสิ่งที่ได้มาเพียงพอหรือยัง ต้องกลับมาดูว่าเพราะอะไร รวมถึง ต้องให้คนไทยรู้ประวัติศาสตร์ไทย ไทยเป็นประเทศที่สงบสุข มีความอบอุ่นร่มเย็น ไม่มีความขัดแย้ง

Advertisement

“ขอถามว่าก่อนปี 2557 ก่อนผมเข้ามา เรามีรอยยิ้มมากน้อยแค่ไหน หันหน้าไปทางไหนก็มีแต่หน้าเป็นมีด เพราะทะเลาะกัน วันนี้ก็ยังไม่หยุด โดยคนกลุ่มเดิมๆ ถามว่าผมไม่ให้ความสำคัญตรงไหน ถ้าจะแก้ไขก็ต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ถ้าไม่มาก็อยู่อย่างนี้ ฝากครูไว้ด้วย ทุกอย่างต้องเริ่มที่กฎหมาย จะยกเว้นอะไรไม่ได้ เราต้องสอนเรื่องกฎหมาย ผู้นำประเทศมหาอำนาจระดับโลก พูดเองว่าในโลกใบนี้ไม่มีอะไรเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง มีอย่างเดียวที่จะทำให้เท่าเทียมกันได้คืออยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ผมใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่ได้ใช้เพื่อลงโทษใคร การลงโทษต้องอยู่ที่ศาลไปสอบสวนเอง ส่วนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. … จะผ่านก็ผ่าน ไม่ผ่านก็ไม่ผ่าน ไปตัดสินใจกันเอาเอง อย่ามาบิดเบือน เป็นหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ครูต้องช่วยการลบคำปรามาสที่ว่าการศึกษาของเราเลวร้าย ซึ่งความจริงไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น แต่ต้องนำผลการประเมินมาแก้ไข ช่วยกันทำวิกฤตให้เป็นโอกาส ผมยืนยันไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนอย่างไร รัฐบาลนี้จะสนับสนุนการศึกษา 15 ปี ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ถึงมัธยมปลาย รวมทั้ง ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลัง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวจบ ที่ประชุมไม่ได้กล่าวคำว่า “นายกฯ สู้ๆ” จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ดาว์พงษ์ พล.อ.สุรเชษฐ์ นพ.ธีระเกียรติ และผู้บริหาร ศธ.ได้ร่วมกันร้องเพลง “เพราะเธอคือประเทศไทย” เรียกเสียงฮือฮาจากข้าราชครูอีกครั้ง โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้ทำสัญลักษณ์มือให้ครูช่วยกันร้องตาม พร้อมกับบอกในช่วงท้ายว่าให้ครูปรบมือให้ตัวเอง ไว้โอกาสหน้าค่อยเซลฟี ถ้าใครอยากถ่ายรูปกับนายกฯ ขอให้ถ่ายกับป้ายสแตนรูปนายกฯ ไปก่อน จากนั้นได้เดินลงจากเวที และเดินทางกลับ

พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า จากที่นายกฯ ได้มอบนโยบายให้นั้น จะเห็นได้ว่า ศธ.และครูทุกคนทำแล้ว 80% เหลืออีก 20% กำลังจะดำเนินการ ซึ่งหลายเรื่องที่ ศธ.ขับเคลื่อน สุดท้ายจะไปอยู่ที่ครู อย่างไรก็ตาม ตนเสียใจทุกครั้งที่ใครมาว่า ศธ. ว่าครู ปรามาสว่าการศึกษาเราเลวร้าย ตนเห็นด้วยกับนายกฯ ว่าการศึกษาเราไม่เลวร้ายอย่างที่ใครเขาว่า แต่ต้องนำจุดที่เขาปรามาสมาเป็นข้อมูลในการพัฒนาคุณภาพ ทั้งนี้ ได้รับคำถามของครูที่ถูกรวบรวมส่งมายัง ศธ.แล้ว มีทั้งที่ทำให้รู้สึกดีใจ และเสียใจ ที่บอกว่าเสียใจเพราะหลายคำถามที่ครูทั่วประเทศส่งมานั้น เป็นคำถามเพื่อตัวเอง ไม่ใช่เพื่อเด็ก เช่น การโอนย้าย แต่เรื่องที่ดีใจคือ จากวันแรกที่มาทำงานเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.จนถึงวันนี้ พบว่าคำถามที่ถามเพื่อตนเองลดลงมาก

“ผมขอชี้แจงคำถามที่ครูสอบถามมา เช่น การเปลี่ยนสถานภาพครูเป็นพนักงานราชการนั้นไม่จริง ไม่มีนโยบายตราบใดที่ผมยังเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ส่วนการกำหนดวันสอบบรรจุครูผู้ช่วยรอบใหม่ ยังไม่ได้กำหนด เพราะต้องรอให้การโยกย้ายทุกจังหวัดเสร็จสิ้นเสียก่อน ซึ่งเวลานี้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้ขยับเวลาการย้ายครูจากเดิมภายในเดือนเมษายน 2559 เป็นมิถุนายน 2559 และให้รวมบัญชีผู้สอบแข่งขันได้เป็นบัญชีของเขตพื้นที่การศึกษา เป็นบัญชีของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) นอจกากนี้ ศธ.กำลังเร่งพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการโรงเรียนใหม่ เพื่อให้ได้คนที่มีทั้งวัยวุฒิ และคุณวุฒิ” พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image