โรงกำจัดขยะไฟฟ้า มิตรสิ่งแวดล้อมแห่งแรกในกรุง

ปัจจุบัน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีขยะมูลฝอยจากบ้านเรือนประชาชนและสถานประกอบการต่างๆ รวมกว่า 9,900 ตันต่อวัน ซึ่งการกำจัดขยะส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่วนใหญ่ใช้วิธีการฝังกลบ เพราะไม่สามารถกำจัดโดยวิธีอื่นได้ทั้งหมด แต่กระนั้น ยังพบว่ามีขยะอีกปริมาณมากที่ตกค้างอยู่ที่จุดพักขยะในมุมต่างๆ ของกรุงเทพฯ

ด้วยเหตุนี้เอง กทม.จึงได้มีแนวคิดตั้ง โรงกำจัดขยะไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยสร้างแห่งแรกที่ย่านหนองแขม เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการจัดการขยะในระยะยาวของ กทม.

โรงกำจัดขยะไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมหนองแขม เปิดเดินเครื่องไปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บอกว่า โรงกำจัดขยะแห่งนี้ ถือเป็นโครงการนำร่องของ กทม.โดยจะสามารถกำจัดขยะได้วันละประมาณ 300-500 ตัน และยังผลิตไฟฟ้าจากขยะที่กำจัดได้ด้วย โดยการกำจัดขยะจะได้ไฟฟ้าอย่างน้อย 5 เมกะวัตต์ โดยโรงงานใช้ไฟฟ้าประมาณ 1 ใน 5 ที่เหลือส่งขายไฟให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซึ่งสามารถนำไปบริการประชาชนได้กว่า 60,000 หลังคาเรือน

Advertisement

“ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมรอบๆ โรงกำจัดขยะนั้น ที่ผ่านมา บริษัทผู้ลงทุนก็ได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงมาโดยตลอด นอกจากนี้ กทม.ยังได้ให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นตัวกลางเข้าไปตรวจสอบปริมาณฝุ่นละอองและมลพิษรอบโรงกำจัดขยะที่อาจจะเกิดจากการดำเนินการ ทั้งนี้ ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐสามารถติดตามข้อมูลการดำเนินการของโรงกำจัดขยะได้ตลอดเวลา” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าว

โรงกำจัดขยะไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมหนองแขม เป็นโรงกำจัดขยะไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งแรกของ กทม.และเป็นต้นแบบโครงการกำจัดขยะมูลฝอยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้การควบคุมด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมทั้งทางอากาศ น้ำเสีย และขี้เถ้า ตามมาตรฐานทั้งในประเทศและระดับสากล โดยจะมีการรายงานผลการตรวจวัดมลพิษทางอากาศด้านหน้าโรงงาน และส่งข้อมูลไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมแบบเรียลไทม์ ซึ่งสามารถกรองมลพิษก่อนออกสู่บรรยากาศได้ถึงร้อยละ 99.99 ส่วนขยะหลังเผาจะเหลือขี้เถ้าเพียงร้อยละ 10 ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นอิฐหรือวัสดุปูถนนได้ต่อไป

kon01150559p2

Advertisement

ทั้งนี้ กทม.ได้ลงนามสัญญาให้บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเทคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ลงทุนก่อสร้าง โดยแบ่งเป็น อาคารรับขยะ อาคารเผาขยะ ระบบควบคุมมลพิษ ระบบควบคุมก๊าซพิษ ระบบบำบัดน้ำเสียไม่ก่อมลพิษ และอาคารนิทรรศการ และบริหารจัดการ เดินระบบเตาเผาขยะมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้า ในพื้นที่ 30 ไร่ และติดตั้งเครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ โดยนำเทคโนโลยี Hitachi Zosen Von Roll Stoker-Type ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นเทคโนโลยีที่นิยมใช้ในกว่า 2,000 แห่ง ใน 50 ประเทศทั่วโลก มีระยะเวลาดำเนินการ 20 ปี ภายใต้วงเงิน 2,124.3 ล้านบาท จากนั้นจะโอนให้ กทม.ดำเนินการบริหารจัดการต่อไป

kon01150559p3
เจ้าหน้าที่ตรวจดูด้วยกล้องวงจรปิด

สำหรับกระบวนการทำงานนั้น เมื่อรถเก็บขยะมูลฝอยมาถึงโรงงานผ่านการชั่งน้ำหนักแล้ว ก็จะขึ้นไปเทขยะในบ่อรับขยะแบบปิด จากนั้นเครนจะตักขยะเข้าสู่เตาเผาแบบตะกรับ (Stoker Type) ที่มีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 850 องศาเซลเซียส โดยภายในเตาเผาจะมีแผ่นตะกรับสำหรับพลิกขยะมูลฝอย ซึ่งจะทำให้ถูกเผาไหม้อย่างมีประสิทธิภาพ กลิ่นเน่าเหม็นสลายไปด้วยความร้อน ทั้งนี้จากการเผาขยะมูลฝอย จะได้ไอเสียที่มีความร้อนสูงจากการเผาไหม้ โดยมีระบบหมุนเวียนไอน้ำของหม้อไอน้ำดูดความร้อน กลายเป็นไอน้ำที่มีอุณหภูมิและความดันสูง ป้อนสู่ชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม โรงกำจัดขยะนี้ไม่สามารถกำจัดขยะใน กทม.ได้ทั้งหมด ส่วนที่นอกเหนือจากขีดจำกัดของโรงกำจัดขยะก็ยังต้องใช้การฝังกลบต่อไป แต่ก็ถือเป็นความคืบหน้าหนึ่งในการจัดการขยะสำหรับชาวกรุงเทพฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image