เชฟรอนไทย เตรียมปลดพนักงาน 800 คน เซ่นพิษน้ำมันโลกดิ่ง มีผล1ส.ค.นี้

แฟ้มภาพ

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยภายหลังเข้าพบนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงานว่า บริษัทได้รายงานแผนการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อลดต้นทุนตามนโยบายบริษัทแม่ที่ให้ดำเนินการทั่วโลก ภายหลังภาวะราคาน้ำมันตลาดโลกตกต่ำ โดยในปี 2559 เชฟรอนประเทศไทยมีเป้าหมายจะลดต้นทุน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 17,500 ล้านบาท ส่วนหนึ่งของแผนลดต้นทุน คือ ลดบุคลากรของบริษัทลง 20% หรือคิดเป็นประมาณ 800 คนจากพนักงานเชฟรอน และพนักงานบริษัทผู้รับเหมาส่วนของคนไทย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป

“เป้าหมายลดคนไทย 800 คน จะคัดจากเชฟรอนไทยที่มี 2,200 คน และพนักงานจากบริษัทผู้รับเหมาคนไทยประมาณ 1,700 คน การปรับลดพนักงานจะให้ผลตอบแทนที่เป็นไปตามกฎหมาย โดยก่อนหน้านี้บริษัทได้ปรับลดพนักงานชาวต่างชาติไปก่อนแล้วกว่า 50% หรือราว 100 กว่าคน และผู้รับเหมาที่เป็นต่างชาติเกือบทั้งหมด”นายไพโรจน์กล่าว

นายไพโจน์กล่าวว่า การปรับโครงสร้างองค์กรของเชฟรอนนับเป็นครั้งแรก หลังจากก่อนหน้านี้ได้ปรับโครงสร้างจากบริษัท ยูโนแคล ไทยแลนด์ จำกัด มาเป็นเชฟรอนในปี 2548 โดยแผนการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งนี้ยังไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบแหล่งสัมปทานเอราวัณของเชฟรอนในอ่าวไทยที่จะสิ้นสุดระยะเวลาสัมปทานปี 2565 โดยบริษัทได้เสนอความเห็นทั้งหมดไปยังกระทรวงพลังงานแล้ว รอเพียงรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งทุกอย่างควรจะเจรจาให้ได้ข้อยุติภายในต้นปี 2560 เพื่อบริษัทจะได้วางแผนการลงทุนรักษากำลังผลิตได้ต่อเนื่อง

นางบุญบันดาล ยุวนะศิริ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ขณะนี้กรมได้ให้บริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทยประมาณ 10 รายจัดทำแผนบริหารงาน 5 ปีมาเสนอ เพื่อจะได้รับทราบการดำเนินงานรวมถึงแผนปรับโครงสร้างธุรกิจช่วงน้ำมันขาลง โดยต้องการให้บริษัทรักษาพนักงานไว้โดยเฉพาะคนไทย เพราะหากระดับราคาน้ำมันขึ้นมาจะสามารถผลิตได้ต่อเนื่องทันที ขณะนี้แนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเริ่มขยับเพิ่มขึ้นเป็นสัญญาณที่ดี แต่เข้าใจว่าบริษัทต่างชาติต้องดำเนินงานตามนโยบายบริษัทแม่

Advertisement

นางบุญบันดาลกล่าวว่า วันที่ 18 พฤษภาคม จะมีประชุมคณะกรรมการปิโตรเลียม มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน พิจารณาเรื่องการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทานทั้งแหล่งเชฟรอนและบงกชในปี 2565 และ 2566 โดยจะมีการเสนอความเห็นให้ดำเนินงานทั้งรูปแบบการเจรจา/จ้างผลิตและเปิดประมูล หลังจากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบ และเริ่มดำเนินการภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เพื่อให้สามารถวางแผนผลิตในการรักษากำลังผลิตทั้งสองแหล่งต่อ ไม่กระทบต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ

13863022781386302317l

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image