จับแก๊งค์ขโมยนกเงือกอุทยานบูโด ตำรวจบาเจาะเร่งขยายผลถึงขบวนการ

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม นายสมชาย ศิริอุมากุล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีที่มีขบวนการค้าสัตว์ป่าเข้าไปขโมยลูกนกเงือกหัวแรดในโพรง หรือรังที่ 29 ซึ่งนักวิจัยโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เฝ้าติดตามอยู่อย่างต่อเนื่องไปเมื่อช่วงวันที่ 14-15 พฤษภาคม โดยเหตุเกิดในพื้นที่อุทยานฯ ในเขต อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ว่า ในวันเดียวกันนี้เจ้าหน้าที่ชุดป้องกันและปราบปรามของอุทยานฯ เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอ (สภ.) บาเจาะ กรณีมีขบวนการลักลอบจับลูกนกเงือกในอุทยานฯ ซึ่งตำรวจสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 3 ราย พร้อมของกลางเป็นลูกนกเงือกหัวแรด และทั้งหมดให้การรับสารภาพ โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าเป็นลูกนกตัวเดียวกับที่ตกเป็นข่าวหรือไม่
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า จากการจับกุมชาวบ้านที่เข้าไปขโมยลูกนกครั้งนี้ พบว่าลูกนกตัวที่ตำรวจบุกยึดได้นั้นเป็นนกกก ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับนกเงือกมิใช่นกเงือกหัวแรดที่ถูกขโมยไปในโพรงที่ 29 โดยลูกนกตัวนี้ถูกจับมาประมาณ 1 เดือน และคาดว่าขณะนี้มีอายุไม่เกิน 2 เดือน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเร่งขยายผลเพื่อจับกุมขบวนการค้านกเงือกและค้าสัตว์ป่า

ด้าน ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การลักลอบค้าสัตว์ป่าในประเทศไทยมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการซื้อ-ขายบนเฟสบุุคและเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดผู้ค้าสัตว์ป่าหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสามารถโพสต์ซื้อ-ขายสัตว์ป่าหรือสัตว์หายากได้ง่าย โดยไม่ต้องเสี่ยงที่จะถูกจับดำเนินคดีเหมือนกับการไปหาซื้อตามตลาดสัตว์เลี้ยง

“สมัยก่อนคนขายสัตว์ป่าต้องมีเครือข่าย มีความรู้เรื่องสัตว์พันธุ์ต่างๆ มีช่องทาง แต่ตอนนี้คนทั่วไปก็ขายสัตว์ได้ เพราะถ้าไปเดินดูตลาดนัดจตุจักรตอนนี้ก็ไม่เจอสัตว์ป่าแล้ว แต่ไปแรงมากบนเฟสบุคที่มีเพจพวกนี้อยู่เยอะและติดตามได้ง่าย แค่ใครสักคนสามารถจับนกป่าหรือเจอสัตว์แปลกๆ และไม่รู้ว่าเป็นพันธุ์อะไร ก็เอามาโพสต์ถามก็จะมีคนเข้ามาตอบ คนซื้อกับคนขายก็มาเจอกัน การซื้อขายสัตว์ป่าจึงง่ายกว่าแต่ก่อน ดังนั้นก็น่าจะทำให้สัตว์ป่าถูกจับไปขายมากขึ้นตามความต้องการของตลาด” ดร.นณณ์ กล่าว

ขณะที่นายสัตวแพทย์ (นสพ.) บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์วิจัยและการศึกษา องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า องค์การสวนสัตว์ฯ มีหน้าที่ดูแลสวนสัตว์ของรัฐที่มีอยู่ 8 แห่ง ซึ่งสัตว์ที่เข้ามาในสวนสัตว์เหล่านี้ จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบบัญชีสัตว์และฐานข้อมูล ดังนั้นนกเงือกหรือสัตว์ทุกตัวจึงเป็นการได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่สัตว์ที่ลักลอบจับออกจากป่าแน่นอน

Advertisement

นสพ.บริพัตร กล่าวอีกว่า สำหรับสวนสัตว์เอกชนนั้น องค์การสวนสัตว์ฯ ไม่มีหน้าที่ตรวจสอบ เนื่องจากเป็นอำนาจของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นอกจากนี้่ ยังมีสวนสัตว์เอกชนอีกหลายแห่งที่ไม่ได้จดทะเบียน จะเป็นหน้าที่ของกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เข้าไปตรวจสอบหรือดำเนินคดีกับสวนสัตว์ที่กระทำผิด หรือมีสัตว์ป่าในครอบครอง

“กระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ สามารถตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอและอัตลักษณ์สัตว์ป่าได้ชัดเจน ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็มีหน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว มีห้องแล็ปและเครื่องมือพร้อม ถ้าทีมวิจัยนกเงือกสามารถให้ตัวอย่างดีเอ็นเอเพื่อใช้เป็นข้อมูลต้นทางในการตรวจสอบ ก็จะสามารถยืนยันนกเงือกเป็นรายตัวพ่อแม่และลูกนกได้ชัดเจน” นสพ.บริพัตร กล่าว

พ.ต.อ.ปัตตะ มะดาวา ผู้กำกับ สภ.บาเจาะ กล่าวว่า สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 1 รายซึ่งเป็นชาวบ้านพร้อมกับของกลาวที่เป็นนกกก แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นตัวเดียวกันกับที่หายไปหรือไม่ ทั้งนี้ผู้ต้องหาให้การสารภาพว่าได้นำลูกนกออกมาจากพื้นที่ที่ได้รับแจ้งว่าลูกนกหายไปและนำไปขายให้กับชาวบ้านอีกรายหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงตามไปจนพบลูกนกของกลาง ทั้งนี้กำลังอยู่ในระหว่างการขยายผลถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามล่าสุดชุดสืบสวนสอบสวนยังได้บุกค้นร้านค้าสัตว์ป่าแห่งหนึ่งใน อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส และพบของกลางที่เป็นสัตว์ป่าหลายรายการ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image