จีนตั้งเป้าปี ค.ศ.2020 บุกสำรวจดาวอังคาร เล็งตั้งฐานวิจัยบนดวงจันทร์

ยาน เหยิงหั่ว-1 ของจีน (ภาพ-CNSA)

สำนักงานบริหารกิจการอวกาศแห่งชาติจีน (ซีเอ็นเอสเอ) กำหนดช่วงเวลาอย่างเป็นทางการออกมาแล้วว่าจะใช้เวลาอีกเพียง 4 ปี ในการเตรียมการเพื่อส่งยานสำรวจอวกาศไร้มนุษย์เดินทางไปสำรวจดาวอังคารให้ได้ภายในปี ค.ศ.2020 จากการแถลงของนายสื่อ ต๋าเจ๋อ ผู้อำนวยการซีเอ็นเอสเอที่กรุงปักกิ่ง เมื่อเร็วๆ นี้

ผู้อำนวยการซีเอ็นเอสเอยอมรับว่า ภารกิจสำรวจอวกาศครั้งนี้ยากกว่าปกติ เนื่องจากทางการจีนต้องการใช้การเดินทางเพียงครั้งเดียวดังกล่าวนี้เพื่อบรรลุเป้าหมาย 3 อย่างพร้อมๆ กัน คือ การมียานอวกาศโคจรอยู่ในวงโคจรโดยรอบดาวอังคาร ในเวลาเดียวกันกับที่มียานอีกลำเดินทางไปลงจอดบนพื้นผิว และสุดท้ายก็คือ การมียานสำรวจพื้นผิวหรือโรเวอร์ ปฏิบัติการสำรวจพื้นที่เป็นบริเวณกว้างบนพื้นของดาวอังคารอีกด้วย ทั้งหมดก็เพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับทั้งบรรยากาศ, พื้นผิว และการวิเคราะห์องค์ประกอบของดินบนพื้นผิว ในเวลาเดียวกับที่มองหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตไปพร้อมๆ กัน ซึ่งทางจีนคาดหวังว่าจะได้พบร่องรอยของสิ่งมีชีวิตจากการสำรวจครั้งนี้

นายสื่อให้เหตุผลของการเดินทางครั้งนี้ไว้ว่า การศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวดังกล่าวเหล่านั้นเท่ากับเป็นการศึกษาวิจัยถึงต้นกำเนิดของมนุษยชาติเอง นอกจากนั้นทางการจีนยังยึดถือด้วยว่าถ้าหากยังไม่สามารถปฏิบัติภารกิจสำรวจดาวอังคารให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ได้ ก็ไม่สามารถก้าวต่อไปด้วยการตั้งเป้าสำรวจอวกาศห้วงลึกได้โดยแท้จริง

ดาวอังคารกลายเป็นเป้าหมายในการสำรวจอวกาศของหลายๆ ประเทศมาเป็นเวลานานแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ มีเพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในการลงจอดบนดาวอังคารจริงๆ ดังนั้น หากจีนทำได้จริงอย่างที่คาดหวังก็จะเป็นเพียงประเทศที่ 2 เท่านั้นที่ส่งยานไปลงยังพื้นผิวและออกสำรวจพื้นที่เป็นบริเวณกว้างได้

Advertisement

ก่อนหน้านี้ความพยายามในการสำรวจดาวอังคารของจีนภายใต้ความร่วมมือกับองค์การอวกาศแห่งรัสเซียเมื่อปี 2011 ล้มเหลวลงโดยสิ้นเชิง เมื่อยานสำรวจอวกาศ “โฟบอส-กรันท์” ของรัสเซียที่มียานโคจร “เหยิงหั่ว-1” ของซีเอ็นเอสเอ อยู่ภายใน ไม่สามารถหลุดออกจากวงโคจรรอบโลกได้ ทำให้ต้องทำลายทั้ง โฟบอส-กรันท์ และ เหยิงหั่ว-1 ทิ้งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายขึ้นขณะที่ยานตกกลับสู่พื้นโลก

สำนักงานโครงการอวกาศแห่งอินเดีย เป็นชาติล่าสุดที่ประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศไปอยู่ในวงโคจรรอบดาวอังคารได้ด้วยยาน “มังคลายาน” หรือ มาร์ส ออร์บิเตอร์ มิสชั่น (เอ็มโอเอ็ม) ที่ออกเดินทางในปี 2014 ทำให้อินเดียเป็นชาติเอเชียชาติแรกที่สามารถเดินทางถึงวงโคจรดาวอังคารได้ และนับเป็นชาติแรกที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินความพยายามครั้งแรกอีกด้วย

“แม้เราจะไม่ใช่เอเชียชาติแรกที่ส่งยานไปสำรวจดาวอังคารได้ แต่เราก็ต้องการเริ่มต้นจากระดับสูง” เย่อ เผ่ยเจี้ยน นักวิชาการจากสำนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์จีนระบุ พร้อมกับเสริมด้วยว่า ตอนนี้มีเวลาไม่ถึง 5 ปีแล้วแต่ทางจีนมั่นใจ เนื่องจากทีมที่พัฒนาโครงการนี้เป็นทีมที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา ฉางเอ๋อ-3 ที่จีนส่งไปสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์สำเร็จมาแล้ว

Advertisement

นอกเหนือจากโครงการสำรวจดาวอังคารแล้ว จีนเตรียมส่ง “ฉางเอ๋อ-4” ไปลงยังดวงจันทร์ในปี 2018 นี้ ซึ่งจะสร้างสถิติเป็นยานสำรวจลำแรกที่เดินทางไปสำรวจด้านมืดของดวงจันทร์ที่ยังไม่เคยมียานลำใดไปลงจอดมาก่อน ในขณะที่ นายอู๋ เหว่ยเหริน หัวหน้าทีมวิศวกรในภารกิจดวงจันทร์-ดาวอังคารของจีน ยืนยันว่า เป้าหมายระยะยาวของจีนยังคงอยู่ที่ดวงจันทร์

คือการไปลงจอดและพำนักอยู่ที่นั่นในระยะยาวเพื่อสร้างฐานสำหรับงานวิจัยขึ้นบนดวงจันทร์นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image